77 ปี ประชาธิปัตย์ (EP.3) เจาะฐานโหวตเตอร์ นราพัฒน์ VS มาดามเดียร์ ประมาทอาจพลาดให้ตาอยู่

5 ธ.ค. 2566 - 03:09

  • นิด้าโพล ระบุ “มาดามเดียร์” เต็งหนึ่งเหมาะจะนั่งเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. คนต่อไป ด้วยคะแนนนิยม 27.10%

  • นราพัฒน์ คู่แข่งได้คะแนนนิยมเพียง 7.94% ถูกทิ้งห้างไม่เห็นฝุ่น

  • หัวใจสำคัญไม่ใช่กระแส แต่คือข้อบังคับภายในพรรคประชาธิปัตย์ และ สส. ที่เป็นผู้กำหนดชะตาว่า ใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป

  • กลุ่มผู้อาวุโสในพรรคอาจลงแข่ง และเป็นตาอยู่คว้าชัยชนะ

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_3_SPACEBAR_Hero_00a214e1a4.jpg

ปรากฏการณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่กระหึ่มโซเชียลในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ก่อนถึงวันประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งกระแสข่าวบนพื้นที่โซเชียลทุกแพลตฟอร์ม ทั้งผลการสำรวจของนิด้าโพลต่อความนิยมของคนไทยที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งผลการค้นหาเมื่อลองกดเข้าไปในน Google Trends

แม้จะมีกระแสความนิยมมากกว่าว่าที่คู่แข่ง “พี่ตุ้ม” นราพัฒน์ แก้วทอง แบบทิ้งห่าง

นิด้าโพล ระบุถึงผลสำรวจบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไปพบว่า “มาดามเดียร์” ได้รับคะแนนนิยมถึงร้อยละ 27.10  ทิ้งห่างนราพัฒน์ที่ได้รับคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 7.94 เท่านั้น

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_3_SPACEBAR_Photo01_8d2cf7888e.jpg

แม้ผลการสำรวจร้อยละ 28.32 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ และไม่สนใจ

แต่ร้อยละ 27.10 ที่ระบุว่าเป็นมาดามเดียร์ก็นับว่าสูงมาก หากเป็นการสำรวจด้วยหลักวิชาการอย่างแท้จริง (อย่างแท้จริงนะครับ)

คนที่ได้รับความนิยมรองลงมาเป็น “เลขาฯ ต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ไม่ได้เปิดตัวว่าจะลงสมัครในครั้งนี้ มีคะแนนนิยมถึงร้อยละ 20.46

ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดูจะเป็นสินค้าที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ไปแล้วจริงๆ เมื่อได้คะแนนนิยมมาเพียงร้อยละ 9.39 เท่านั้น

ไม่พักต้องเอ่ยถึงคะแนนของ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อีกหนึ่งดาวรุ่งของประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 0.76

ใน Google Trends เมื่อกดเข้าไปตรวจสอบการคำค้นที่เกี่ยวกับมาดามเดียร์ เปรียบเทียบกับคำค้นข้อมูลของนราพัฒน์ แก้วทอง, อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และเฉลิมชัย ศรีอ่อน โดยค้นหาย้อนหลัง 7 วัน ยอดการค้นหามาดามเดียร์ใน Google Trends ก็ยังมีคำค้นสูงสุดเช่นกัน

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_3_SPACEBAR_Photo02_df249e4596.jpg

ส่วนบนพื้นที่สื่อหลัก รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มาดามเดียร์ก็ยังยึดครองพื้นที่สื่อหลักมากกว่า และหลากหลายกว่านราพัฒน์ที่ยึดครองพื้นที่สื่อได้ไม่กี่สำนัก จากการเลือกให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อบางสำนักเท่านั้น

หากพิเคราะห์เพียงข้อมูลแค่นี้ แน่นอนว่า มาดามเดียร์ควรจะครองความนิยมเหนือนราพัฒน์หลายช่วงตัว

หากเป็นการแข่งขันในสนามการเลือกตั้งทั่วไป ค่าความนิยมในตัวมาดามเดียร์คงเป็นลมส่งท้ายให้มาดามเดียร์เข้าเส้นชัยแบบทิ้งขาด

แต่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อาศัยอ้างอิงข้อมูลความนิยมบนโซเชียลมีเดีย หรือบนพื้นที่สื่อคงไม่พอที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_3_SPACEBAR_Photo03_ab1f27a41e.jpg
ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ (Jack Taylor / AFP)

เพราะกติกาการโหวตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่างจากพรรคอื่นๆ เนื่องจากในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 81 ระบุว่า

ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคจะต้องมาจากตัวแทนของสมาชิกพรรค 19 กลุ่ม ที่ล่าสุดมีจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งสิ้น 351 คน

โดยเป็นตัวแทนจากสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรชุดปัจจุบัน 25 คน และตัวแทนจากสมาชิกพรรคกลุ่มที่ประกอบด้วย

  • คณะกรรมการบริหารชุดรักษาการ
  • อดีตหัวหน้าพรรค
  • อดีตเลขาธิการพรรค
  • รัฐมนตรี
  • อดีตรัฐมนตรี
  • อดีต สส.
  • นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.)
  • สมาชิก อบจ. (ส.อบจ.)
  • สมาชิกพรรคจากต่างจังหวัดมีสาขาพรรค
  • ตัวแทนประจำจังหวัด และอื่นๆ

แต่ในจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 351 คน เสียงข้างมากที่มีผลต่อการชนะเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นเสียงข้างมากของ 351 คน แต่ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 87 ระบุว่า คะแนนเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคให้สมาชิกพรรคที่เป็น สส. มีน้ำหนักในการโหวตถึงร้อยละ 70 ส่วนสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มที่เหลืออีก 326 คน จะมีน้ำหนักเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

นั่นหมายถึง 1 เสียงของ สส.ประชาธิปัตย์แต่ละคน จะมีค่าเท่ากับคนละร้อยละ 2.8 ขณะที่สมาชิกพรรคอีก 326 คน จะมีค่าเท่ากับคนละร้อยละ 0.092 เท่านั้น

นั่นหมายถึงใครควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในจำนวน สส.ทั้ง 25 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็น่าจะมีโอกาสคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งได้ทันที

ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งล่าสุดว่า ในจำนวน 25 สส.ประชาธิปัตย์นั้น มีสส.ถึง 21 คนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุน หรือการผลักดันของเลขาฯต่อ ในนามกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย

ส่วนที่เหลือ 4 คน คือ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ และสรรเพชญ บุญญามณี สส. เขต 1 จังหวัดสงขลา บุตรชายของนายนิพนธ์ บุญญามณีเท่านั้นที่แยกออกมาอีกกลุ่ม

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_3_SPACEBAR_Photo04_a73dc9772c.jpg

ซึ่งหมายถึงในจำนวน สส. 25 คน ที่มีน้ำหนักคะแนนร้อยละ 70 ทีมเลขาฯ ต่อมีคะแนนในมือในสัดส่วนเท่ากับ 2.8 X 21 หรือเท่ากับร้อยละ 58.8 ของสัดส่วนการคำนวณคะแนนทั้งหมด 

ขณะที่กลุ่มของผู้อาวุโสกลุ่มคุณชวน มีน้ำหนักคะแนนที่ 2.8 X 4 หรือเท่ากับร้อยละ 11.2 เท่านั้น ทำให้แม้จะได้คะแนนร้อยละ 30 จากสมาชิกที่สิทธิ์ออกเสียงที่เหลือ ก็จะมีคะแนนรวมในสัดส่วนร้อยละ 41.2 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยได้

กระนั้นสูตรการวิเคราะห์ที่เอาคณะเพื่อนเฉลิมชัยจำนวน 21 เสียง และกลุ่มผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 4 เสียงเป็นตัวตั้ง เป็นสูตรกรณีที่มีการแข่งขันระหว่างตัวแทนกลุ่มเพื่อนต่อกับกลุ่มผู้อาวุโสพรรค 

ซี่งครั้งนั้นคือ การแข่งขันระหว่างนราพัฒน์ แก้วทอง และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนทำให้การประชุมใหญ่ประชาธิปัตย์ล่มมาแล้วถึง 2 ครั้ง เพราะคำนวณแล้วยังไงกลุ่มผู้อาวุโสพรรค ก็สู้กลุ่มเพื่อนต่อไม่ได้

แต่ครั้งนี้ เมื่อต้องต่อสู้กันเอง ระหว่าง นราพัฒน์ และ มาดามเดียร์ ซึ่งต่างใกล้ชิดกับเลขาฯ ต่อทั้งคู่ สูตรเดิมคงนำมาใช้วิเคราะห์ไม่ได้

เพราะวันนี้ หากแบ่งเป็นคู่ นราพัฒน์ แก้วทอง ลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และมีรายชื่อ เดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค และอีกคู่คือ วทันยา บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค และชัยชนะ เดชเดโช เป็นเลขาธิการพรรค

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_2_SPACEBAR_Photo02_926371c675.jpg
นราพัฒน์ แก้วทอง

โมเมนตัมของสัดส่วนจากคะแนน 25 เสียงในสัดส่วน สส.พรรคอาจเปลี่ยน

เปลี่ยนเพราะอย่าลืมว่าแม้ นราพัฒน์ และ เดชดิศม์ จะมีเพื่อน สส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่ มาดามเดียร์ และชัยชนะ จากนครศรีธรรมราชก็มีฐานคะแนนจากเพื่อน สส.ภายในพรรคเช่นกัน

เพราะอย่างน้อย 4 ใน 6 สส.ประชาธิปัตย์นครศรีธรรมราช คือ

  • ชัยชนะ เดชเดโช
  • พิทักษ์เดช เดชเดโช (น้องชาย)
  • ทรงศักดิ์ มุสิกอง
  • อวยพรศรี ชวลิต

ก็เป็นคะแนนของชัยชนะ เดชเดโช

ขณะที่ สส.สงขลา สรรเพชญ บุญญามณี บุตรชายของนิพนธ์ บุญญามณี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมาดามเดียร์ค่อนข้างมาก

ยังไม่นับ ร่มธรรม ขำนุรักษ์ บุตรชาย นริศ ขำนุรักษ์ อดีตรมช.มหาดไทย ที่วันนี้ชัดเจนว่า ขอรอฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคนก่อน

ไม่นับท่าทีของพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.เขต 8 จังหวัดสงขลา ที่ยังไม่แสดงออกชัด

ไม่นับ สส.คนรุ่นใหม่ คู่หูดูโอ้จากจังหวัดตรังทั้ง สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.เขต 3, กาญจน์ ตั้งใจปอง สส.เขต 4 ที่ยังไม่แสดงท่าทีเช่นกัน

ส่วนผู้อาวุโสในบัญชีรายชื่อทั้ง 3 คน ชวน, บัญญัติ, จุรินทร์ แน่นอนว่า ไม่หนุนสายเลขาฯ ต่อโดยตรงแน่ๆ

ซึ่งนั่นหมายถึง วันนี้หากเป็นการแข่งขันระหว่างนราพัฒน์และมาดามเดียร์ (ซึ่งทั้งคู่ดูคล้าย ทางสองแพร่งที่คนประชาธิปัตย์ต้องเลือก)

21 สส.กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย คะแนนแตกแน่นอน

และนั่นจะทำให้ 3 คะแนนของกลุ่มผู้อาวุโส หรือบวก 1 คือ สรรเพชญ เป็น 4 เหมือนเดิม จะมีฤทธิ์ขึ้นมาทันที และจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทั้งนราพัฒน์และมาดามเดียร์ จะต้องช่วงชิง 4 เสียงสายผู้อาวุโสมาเป็นเสียงสนับสนุนให้ได้ เพราะมีค่าถึงร้อยละ 11.2

นอกจากนั้นร้อยละ 11.2 ยังมีฤทธิ์พอที่จะสนับสนุนผู้สมัครจากซีกผู้อาวุโสลงสมัครแข่งกับมาดามเดียร์ และนราพัฒน์ได้ทันทีเช่นกัน 

ซึ่งปัจจัยนี้ แน่นอนว่า เลขาฯต่อย่อมมองออกเช่นกัน

มองออกถึงโอกาสพ่ายแพ้ หากฐานคะแนนเสียงแตก 

มีโอกาสพ่ายแพ้หากทีมผู้อาวุโสรวมคะแนนกลับมาได้

มีโอกาสพ่ายแพ้ หากสมาชิกอีกร้อยละ 30 ตัดสินใจกลับมาหนุนสายเก่า

และแน่นอนว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่คร่ำหวอดอยู่บนเส้นทางการเมืองมายาวนาน ย่อมไม่ปล่อยให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น

เวลาที่เหลือไม่กี่วัน ต้องรอดูว่า เลขาฯ ต่อจะตัดสินใจเช่นไร

ระหว่างการเคลียร์ให้เหลือผู้สมัครเพียงคนเดียว

หรือปล่อยฟรีโหวตให้มาดามเดียร์ และนราพัฒน์แข่งกันเอง

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_3_SPACEBAR_Photo06_4fe66fc400.jpg

9 ธันวาคม จากที่หงายไพ่เล่นว่า ยังไงหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็มาจากสายเลขาฯ ต่อ กลายเป็นวันที่เลขาฯ ต่อต้องตัดสินใจว่า บนทางสองแพร่งที่ต้องเลือก 

เลขาฯ ต่อจะเลือกทางไหน ระหว่าง...

ฉีกขนบสร้างมิติใหม่ให้ประชาธิปัตย์

หรือเดินหน้าสานต่ออำนาจ ยึดพรรคโดยไม่พักคำนึงถึงผลระยะยาว

แต่ก็อย่าลืมว่า นักการเมืองที่ได้ฉายาว่า “นักฆ่าจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา” หรือเจ้าของฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” นั้น ฉายาที่ได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่มาจากคมเขี้ยวทางการเมืองแทบทั้งสิ้น

อายุอาจจะเยอะ แต่เหลี่ยมคูการเมืองไม่ได้ลดลง เพราะอายุ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าประมาท เพราะแค่กระพริบตา ก็อาจพลาดให้ทีมผู้อาวุโสได้…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์