77 ปี ประชาธิปัตย์ (EP.4) ชะตากรรมบนทางที่เลือก ไปต่อได้แค่ชื่อ แต่จิตวิญญาณไม่มีวันเหมือนเดิม

14 ธ.ค. 2566 - 06:54

  • เฉลิมชัย ศรีอ่อน นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หลังได้คะแนนเห็นชอบร้อยละ 80 ของสมาชิก

  • อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ลาออก และการสกัดกั้นคนรุ่นใหม่อย่างมาดามเดียร์ เกิดจากอะไร

  • ประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าคนใหม่ พรรคยังอยู่ แต่ดูเหมือนจิตวิญญาณจะไม่เหมือนเดิม

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Hero_a5e7579370.jpg

ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ซึ่งจบลงที่ “เลขาฯ ต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้คะแนนเห็นชอบร้อยละ 80 ของสมาชิกที่มีสิทธิลงเสียงเลือกตั้ง ในที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

เปลี่ยนสถานะจาก “เลขาฯ ต่อ” เป็น “หัวหน้าต่อ” โดยไม่มีคู่แข่งนั้น ดูเหมือนจะไม่จบลงแค่ผลการลงคะแนนเท่านั้น แต่ยังมีผลสะเทือนมากยิ่งกว่า

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo02_c88018b2b2.jpg
เฉลิมชัย ศรีอ่อน

สะเทือนตั้งแต่ก่อนการลงคะแนนที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการเสนอชื่อจาก ชวน หลีกภัย ประกาศถอนตัว พร้อมลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

สะเทือนด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวของนายอภิสิทธิ์ ที่ก่อนถอนตัวได้ขอคุยกับนายเฉลิมชัยแบบตัวต่อตัว จนต้องพักการประชุม เพื่อเปิดโอกาสให้อภิสิทธิ์และเฉลิมชัยปิดห้องเคลียร์ใจกันถึง 15 นาที

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo11_6029364d07.jpg
contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo03_0c623fdbd4.jpg

ท่าทีอภิสิทธิ์ที่เอ่ยปากท้าให้เฉลิมชัยมาคุยด้วย เป็นอากัปกริยาที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนัก ภาษากาย แววตา และคำพูด สะท้อน สะเทือนถึงอารมณ์ ซ่อนอยู่ภายในอย่างชัดเจน

แม้หลังพูดคุยจะมีภาพการจับมือ กอดกัน และยิ้มแย้ม

แต่ที่สุดก็จบที่อภิสิทธิ์ประกาศถอนตัวพร้อมการลาออกจากพรรค ยุติการเป็นสมาชิกพรรคที่ยาวนานมากว่า 30 ปี

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo04_38f11208d5.jpg

สัญญาณการถอนตัวและลาออกจากสมาชิกพรรคของอภิสิทธิ์ ยังส่งผลสะเทือนต่อเนื่องมาอีก เมื่อเริ่มมีการเสนอชื่อ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค และขอมติที่ประชุมยกเว้นข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 31 (6) กรณีคุณสมบัติของมาดามเดียร์ ที่แม้นายชวนจะลุกขึ้นขอให้ที่ประชุมให้โอกาสมาดามเดียร์ได้มีสิทธิ์ลงสมัคร

แต่ท้ายที่สุด ที่ประชุมก็มีติเห็นชอบให้ยกเว้นข้อบังคับเพียง 139 คน จากองค์ประชุมใหญ่ทั้งหมด 261 คน ซึ่งเท่ากับสัดส่วน 2.13 ขององค์ประชุมเท่านั้น ไม่ถึง 3 ใน 4 คืออย่างน้อยต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 196 คน ตามที่ข้อบังคับพรรคระบุไว้

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo05_843413eb31.jpg

มติที่ประชุมเพียง 139 เสียง จากที่ต้องการ 196 เสียง ขาดเสียงสนับสนุนไปเพียง 57 เสียง เห็นชัดว่า หากไม่มีความเคลื่อนไหวสกัดกั้นมาดามเดียร์ก่อนหน้านี้ โอกาสที่มาดามเดียร์จะได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 196 เสียง หรือถึง 3 ใน 4 ก็ไม่น่าจะไกลเกินจริง

หลังการลงมติ น้ำตามาดามเดียร์ และถ้อยแถลงที่บ่งบอกถึงความผิดหวัง ไลน์ของสมาชิกพรรคที่ขับเคลื่อนสกัดมาดามเดียร์ที่หลุดมายังสื่อ เป็นที่สะเทือนต่อเนื่องมาอีก

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo06_4ec87e5679.jpg

สะเทือนด้วยท่าทีของการปิดกั้นแม้กระทั่งการแข่งขัน 

สะเทือนเพราะหลังจากนั้นในกรณีเดียวกัน “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้รับมติเห็นชอบ 3 ใน 4 ในยกเว้นข้อบังคับข้อที่ 31 (6) ได้

สะเทือนเพราะทำไมเลือกปฏิบัติ...

หรือสะเทือนเพราะไม่พร้อมให้มีการแข่งขัน

เพราะก่อนการลงคะแนนเพียงไม่กี่วัน ก่อนนายเฉลิมชัยจะตัดสินใจรับข้อเสนอของ 21 สส.ประชาธิปัตย์ให้ลงสมัครหัวหน้าพรรค

คะแนนเสียงของมาดามเดียร์เริ่มโตวันโตคืน พร้อมๆ กับคะแนนเสียงของ นราพัฒน์ แก้วทอง ค่อยๆหดหาย

การประชุม 21 สส.ประชาธิปัตย์ในเย็นวันที่ 7 ธันวาคม ก่อนรวมตัวกันไปเชิญนายเฉลิมชัยให้ลงสมัคร เป็นการประชุมที่เห็นพ้องต้องกันว่า หากปล่อยให้มีการแข่งขันระหว่างมาดามเดียร์และนราพัฒน์ คะแนนเสียงจะแตก และจะเกิดความขัดแย้งกันเองภายในกลุ่ม 21 สส. 

ประการหนึ่ง สายนราพัฒน์ที่มีผู้อาวุโสในกลุ่มหลายรายหนุนหลัง รับได้จริงหรือ หากมาดามเดียร์เป็นหัวหน้าพรรค

ประการหนึ่ง สายของ ชัยชนะ เดชเดโช ที่ก็มีสส.ในมือจำนวนหนึ่ง รับได้จริงหรือ หากนราพัฒน์เป็นหัวหน้าพรรค

หนทางแห่งการยุติข้อขัดแย้งจึงทำได้เพียงประการเดียว คือ จำเป็นต้องเชิญนายเฉลิมชัยลงมายุติข้อขัดแย้งนี้ และการเชิญนายเฉลิมชัยต้องเป็นข้อเสนอและเงื่อนไขที่มีน้ำหนักพอให้นายเฉลิมชัยอธิบายสังคมได้ถึงเหตุผลต่อการกลับคำพูด ที่ประกาศไม่รับตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตไปแล้ว

นอกจาก 21 สส.ที่ไปเชิญนายเฉลิมชัยถึงบ้านแล้ว การตัดสินใจของนายเฉลิมชัยครั้งนี้ ยังเป็นการตัดสินใจเพราะมีสายโทรศัพท์สายหนึ่ง ขอให้ลงมาแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่ม

ว่ากันว่า โทรศัพท์สายนี้ เป็นผู้ใหญ่ในกิจการด้านศาสนาท่านหนึ่ง และเป็นผู้ใหญ่ที่นายเฉลิมชัยให้ความเคารพ แม้จะต่างศาสนา เป็นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา และเป็นสายโทรศัพท์ที่มีน้ำหนักยิ่งต่อการตัดสินใจของนายเฉลิมชัย

เพราะฉะนั้นสมการของการเลือกตั้ง เมื่อนายเฉลิมชัยตัดสินใจลงสมัคร ทุกเส้นทางต้องถูกเคลียร์ชัด ทุกคะแนนในกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยต้องไม่แตก แม้แต่คะแนนหนึ่ง

แม้กระทั่ง สส.หนุ่มคนหนึ่งในภาคใต้ ทายาทอดีตรัฐมนตรี ยังได้รับสายจากพ่อว่าให้รอก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจ จนกว่าเลขาต่อจะแสดงท่าทีชัด

ซึ่งนั่นคือที่มาว่าทำไมมาดามเดียร์จำต้องถูกสกัดตั้งแต่ด่านแรกเรื่องคุณสมบัติ เพราะการปล่อยให้มาดามเดียร์หลุดเข้าไปแข่งขัน ท่ามกลางท่าทีของฝ่ายผู้อาวุโสในพรรคที่หันมาสนับสนุน

ท่ามกลางความสนิทสนมของมาดามเดียร์ของ สส.บางคนในพรรค

แน่นอนว่า แม้ผลการลงคะแนนยังไงก็ไม่เปลี่ยนแปลง ยังไงนายเฉลิมชัยก็ชนะ อย่างที่นายชวนว่า แต่ทุกคะแนนที่ลงให้มาดามเดียร์ ก็ย่อมส่งผลต่อศรัทธาที่มีต่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ทันที

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo07_0bc524b207.jpg
contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo08_121649f01c.jpg

ผลแพ้ชนะ แม้จะขาด แต่ทุกคะแนนที่มาดามเดียร์ได้ ก็เขย่าเก้าอี้ว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่เช่นกัน

แต่กระนั้น ทุกอย่างก็จบลงแล้ว การลงคะแนนก็จบไปแล้ว

แต่กระนั้น ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็จบไปแล้ว จบที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน จำต้องตระบัดสัตย์ กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง หลังประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต เพราะนำสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เข้าสภาได้เพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น จากที่ตั้งเป้าว่าจะต้องได้สส.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 52 ที่นั่ง

แต่หลังการเลือกตั้ง แม้ประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ แม้ประชาธิปัตย์จะได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ที่สุดประชาธิปัตย์กำลังจะไม่เหมือนเดิม

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo09_565c01e7fe.jpg

ประชาธิปัตย์บนทางสองแพร่งก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค วันนี้ชัดเจนแล้วว่าเดินไปทางแพร่งไหน

วันนี้ชัดเจนแล้วว่า เส้นทางที่เลือกกำลังส่งผลเช่นไรต่อพรรค

สมาชิกพรรคที่กำลังทยอยกันลาออก ภาพลักษณ์พรรคต่อสังคมที่กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก

เส้นทางเดินของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ ผ่านการบริหารของคณะกรรมการชุดใหม่ สุ่มเสี่ยงยิ่งที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียทั้งฐานเสียงเดิม

คือฐานเสียงในกทม. กลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มฐานเสียงหลักในภาคใต้ และยังไม่สามารถรุกไปเจาะฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย

กลุ่มที่มีอิทธิพลในพรรควันนี้ ทั้งกลุ่ม เฉลิมชัย ศรีอ่อน, เดชอิศม์ ขาวทอง, ชัยชนะ เดชเดโช แล้วเป็นกลุ่มที่มีฐานคะแนนจำกัดเพียงในจังหวัด และในเขตพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น ไม่มีใครมีภาพลักษณ์เพียงพอต่อการบริหารภาพรวมของพรรค

contributor_bamboo_leaves_77_democrat_party_EP_4_SPACEBAR_Photo01_0f1bddfeca.jpg

ภาพกรุงเทพมหานคร คะแนนเสียงของ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ก็สะท้อนชัด

ภาพนราพัฒน์ แก้วทอง ในภาคเหนือเทียบเคียงไม่ได้แม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ภาพตระกูลนามบุตร ในภาคอีสานก็พิสูจน์มาแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อน

ขณะที่ภาคตะวันออก การลาออกของสาธิต ปิตุเตชะ ก็ใช่จะไม่มีผล แม่ทัพภาคตะวันออกเป็นใครยังมองไม่เห็น

ใครเล่าจะเป็นแม่ทัพประชาธิปัตย์ที่ลุกขึ้นประกาศอุดมการณ์พรรค เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ภาพรวม เพื่อช่วงชิงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคอื่น

ประชาธิปัตย์วันนี้จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ไปต่อได้

พรรคยังอยู่...

แต่ดูเหมือนจิตวิญญาณความประชาธิปัตย์ตลอด 77 ปีที่ผ่านมา จะไม่เหมือนเดิม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์