สรรหา ‘จุฬาราชมนตรี’ คนที่ 19 (EP.4) ‘อรุณ บุญชม’ เส้นทางชัยชนะและภารกิจหนักหน่วง สรรหา-เลือกตั้งกรรมการอิสลามทั่วประเทศ

23 พ.ย. 2566 - 10:30

  • อรุณ บุญชม ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 19

  • 57.95% คือสัดส่วนเสียงที่สนับสนุน อรุณ บุญชม

  • 26 พ.ย.นี้ เลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ 40 คน

  • จุฬาราชมนตรี-คณะกรรมการชุดต่อไป จะกำหนดการเมือง-ความมั่นคงของพี่น้องมุสลิมและภาคใต้ในอนาคต

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Hero_e096f74f90.jpg

ผลการสรรหาจุฬาราชมนตรีจากที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวานนี้ (22 พฤศจิกายน) เป็นไปตามคาดหมาย

เมื่อ อรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 เป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 471 เสียง

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo01_348392bfbc.jpg
อรุณ บุญชม

ขณะที่อันดับ 2 ประสาน ศรีเจริญ ได้รับคะแนนจากที่ประชุม 129 คะแนน

อันดับ 3 ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ 115 คะแนน

บัตรเสีย 7 ใบ

บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 ใบ

รวมผู้ร่วมประชุมและร่วมลงคะแนนสรรหาจุฬาราชมนตรี 723 คน จากจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 40 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีสิทธิลงคะแนน 772 คน

ผลการลงคะแนนซึ่งนายอรุณได้รับเสียงสนับสนุนถึง 419 เสียง หรือคิดเป็น ร้อยละ 57.95 จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด

หรือคิดเป็นร้อยละ 54.27 จากจำนวนกรรมการอิสลามทั่วประเทศ

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo02_b74a4fd7f4.jpg

นับเป็นมติเอกฉันท์ และไม่เกินความคาดหมาย เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้นำศาสนาในหลายพื้นที่ และผู้ที่มีบทบาทต่อกลุ่มคนไทยมุสลิมเชื้อสายสำคัญ ทั้งเปอร์เซีย มลายู และปาทาน ต่างก็เห็นตรงที่จะสนับสนุนนายอรุณให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้

419 เสียงของนายอรุณ แน่นอนว่าสามารถดึงผู้สนับสนุนทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุม และเป็นคะแนนผกผันที่ทำให้ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ คนหนุ่มที่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ในภาคใต้ได้รับเสียงสนับสนุนตกไปเป็นอันดับ 3 โดยได้เพียง 115 คะแนน ต่ำกว่านายประสาน ศรีเจริญ อันดับ 2 ที่ได้รับเสียงสนับสนุน 129 เสียงถึง 15 คะแนน 

นอกจากผลการลงคะแนนสรรหาจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 ที่ปรากฏชัดถึงบทบาทของกลุ่มผู้สนับสนุนอรุณ บุญชม ที่ครอบคลุมมุสลิมเชื้อสายหลักทั้ง 3 เชื้อสาย และครอบคลุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศ

ภาพการประชุมที่ปรากฏ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มาทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม

ภาพของ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ร่วมปรากฏบนเวที ที่ประคบเคียงข้าง อรุณ บุญชม ว่าที่จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 ยังเป็นภาพที่ส่งนัยยะสำคัญเช่นกัน

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo03_812c4fe954.jpg
(จากซ้ายไปขวา) พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่, อรุณ บุญชม, ชาดา ไทยเศรษฐ์

นัยยะหนึ่ง ทั้งสองคนต่างก็เป็น มุสลิมเชื้อสายปาทาน ทั้งคู่

อีกนัยยะหนึ่ง ทั้งคู่ต่างก็เป็นนักการเมือง คนหนึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกคนหนึ่งก็ดำรงตำแหน่ง สส.

แม้คนหนึ่งจะมาในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กฏหมายระบุว่าจะต้องเป็นประธานในประชุม 

ส่วนอีกคนหนึ่งมาในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

แต่ด้วยสถานะการเป็นนักการเมือง สถานะที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละพรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลต่อการถูกตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองจะเข้ามาแทรกในการบริหารกิจการอิสลามหรือไม่

โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยมีคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามหลายล้านคน และพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันทางการเมืองค่อนข้างหนักหน่วง

ก่อนหน้านี้ พิเชษฐ์ สถิรชวาล จากพรรคเพื่อไทย ครั้งที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ก็ถูกตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อหวังขยายฐานทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทยในภาคใต้

เด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีและ สส.จังหวัดปัตตานีหลายสมัย ที่เคยสังกัดทั้งพรรคความหวังใหม่ และพรรคไทยรักไทยในสมัยนั้น ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วเช่นกัน

บทบาทของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ และพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นับจากนี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือต้องจับตาว่าเมื่อ อรุณ บุญชม ได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 แล้ว จะสร้างสมดุลระหว่างการเมืองและกิจการศาสนาอย่างไร

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo04_1ea8a03dc0.jpg

โดยเฉพาะการจัดวางตำแหน่งให้สำนักจุฬาราชมนตรี ที่มีบทบาทต่อการบริหารกิจการอิสลามที่สำคัญทั้งหมด และการจัดวางตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในโควตาของจุฬาราชมนตรีที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยทั้งหมด

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่คัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรี ในช่วงจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล มีทั้งหมด 12 คน จากจำนวนคณะกรรมการ 50 คน โดยครั้งนั้นมีตัวแทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพียง 36 คน เพราะยังมีคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดเพียง 36 จังหวัด

ปัจจุบันมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 40 จังหวัด ก็จะมีตัวแทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพิ่มเป็น 40 คน สัดส่วนของกรรมการกลางที่มาจากการคัดเลือกจุฬาราชมนตรีก็จะเพิ่มเป็น 13 คน รวมเลขาธิการอีก 1 คนที่คัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรี ก็จะมีกรรมการในสัดส่วนจุฬาราชมนตรี 14 คน

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo05_da5ada4205.jpg

กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่คัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรียุค อาศิส พิทักษ์คุมพล คือ

  • อรุณ บุญชม
  • ประสาน ศรีเจริญ
  • รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
  • บาบอแม (แวดือราแม มะมิงจิ) ประธานคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดปัตตานี
  • อนุมัติ อาหมัด อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่ต่อมา ลาออกเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และเป็นแม่ทัพคุมการเลือกตั้งภาคใต้ให้กับพรรค
  • ซากีย์ พิทักษ์คุมพล บุตรชายของอาศิส พิทักษ์คุมพล
  • รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี
  • ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ
  • ประสิทธิ์ มะหะหมัด
  • เอกพจน์ วงศ์อารยะ บุตรชายของอารีย์ วงศ์อารยะ
  • มาโนช พันธ์ฉลาด
  • พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ได้รับการคัดเลือกจากจุฬาราชมนตรีให้รับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวม 13 คน

ในยุคของว่าที่จุฬาราชมนตรี อรุณ บุญชม จึงต้องติดตามใกล้ชิดว่า 14 กรรมการกลางในสัดส่วนของจุฬาราชมนตรีจะมีใครบ้าง และแต่ท่านจะมีบทบาทอย่างไร และใครจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลาง ยังจะเป็น พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ อีกหรือไม่

นอกจากประเด็นทางการเมือง และประเด็นการคัดเลือกกรรมการกลางอิสลามในสัดส่วนจุฬาราชมนตรีแล้ว ว่าที่จุฬาราชมนตรีคนใหม่ ยังต้องเตรียมรับมือกับการเลือกตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo06_b58f5eccd9.jpg

เนื่องเพราะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) ทั้ง 40 จังหวัดจะครบวาระในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ และแต่ละจังหวัดจะต้องจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่โดยเร็ว

เพราะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด จะต้องคัดเลือกตัวแทนจังหวัดละ 1 คน ให้สำนักจุฬาราชมนตรีเสนอพร้อมรายชื่อกรรมการกลางในสัดส่วนจุฬาราชมนตรี ทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทยชุดใหม่

contributor_bamboo_leaves_who_next_chularatchamontri_no19_EP_4_SPACEBAR_Photo07_e484ddc3be.jpg

การเลือกตั้ง กอจ.ทั้ง 40 จังหวัดรอบนี้ จึงน่าจะมีการแข่งขันกันหนักในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญต่อทั้งกิจการอิสลาม และบทบาททางการเมืองและด้านความมั่นคงในพื้นที่ ที่วันนี้ไฟใต้ยังคงคุโชน

ทั้งหมดคือ ภารกิจแสนหนักหน่วงของ ว่าที่จุฬาราชมนตรีคนที่ 19 บนเส้นทางชัยชนะในรอบนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์