เอาเข้าจริงตัวผู้เขียนก็ไม่ได้ให้ความสลักสำคัญกับ ‘การแต่งกาย’ สักเท่าไหร่ เพราะปวารณาตนเป็นฮิปปี้ ลุ่มหลงบูชาตามหลักนิยามอินดี้ ‘ไม่เหมือนใคร’ จึงละความเอาใจใส่ภาพลักษณ์ภายนอก (มาก) พอสมควร
แต่การเป็นนักข่าวการเมืองมาระยะหนึ่ง ย่อมตกอยู่ท่ามกลางพิธีการสำคัญ จำต้องปรับเปลี่ยนเครื่องห่มกาย ให้เหมาะต่อสถานที่และบุคคลแวดล้อม
ใจหนึ่งก็นึกสับสนจนออกแนวว้าวุ่นใจทุกครั้ง เมื่อต้องใส่สูทผูกไทเยี่ยงชาวสากลพึงกระทำ แต่อีกด้านก็เข้าใจในแบบแผนความเหมาะสมและกาลเทศะของสังคม
ที่เกริ่นแบบนี้มิใช่อะไร แต่เพราะต้องเขียนวิเคราะห์เรื่อง ‘เครื่องแต่งกาย’ ของท่านนายกฯ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ถูกพูดถึงมาหลายกรณี โดยเฉพาะปมวิพากษ์วิจารณ์ ภายใต้ ‘ถุงเท้า’ และ ‘ชุดสูทสากล’ สีฉูดฉาด ในวงสนทนากับ ‘ปูติน’ จนเป็นเรื่องเป็นราว ต้องหยิบยกปรากฎการณ์ขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง
เมื่อกล่าวยาวเหยียดเยี่ยงนี้ คงไม่กล้าออกความเห็นว่า ‘อะไรเหมาะสม - ไม่เหมาะสม’ แต่จะขอให้นักสื่อสารการเมืองช่วยวิเคราะห์เพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน
ขณะเดียวกันอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้เขียนด้วย ในการเติมเต็มความรู้ และเพิ่มพูนทักษะการแต่งกายแบบเป็นทางการ (ที่ผมไม่ค่อยสันทัด) ซึ่งประเด็นนี้เขียนขึ้นจากความเคารพคุณเศรษฐาอย่างจริงใจ

“ทั้งชุดสูทและถุงเท้าที่นายกฯ ใส่ไปพูดคุยกับผู้นำรัสเซีย ถือว่าผิดกาลเทศะ ยิ่งเป็นงานพบปะผู้นำระหว่างประเทศ เป็นงานระดับทางการ สูทต้องสีเข้ม แต่ที่นายกฯใส่สดเกินไป ยิ่งถุงเท้าสีชมพูออกส้มแบบนี้ แล้วยิ่งไปกันใหญ่เลย”
เป็นความเห็นของ ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ที่วิจารณ์การแต่งกายของ ‘นายกฯ’ ขณะหารือกับ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ในภารกิจการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 16 - 21 ตุลาคมที่ผ่านมา
หากวิเคราะห์ ‘อวัจนภาษา’ หรือ ‘ภาษากาย’ นันทนามองว่า ขณะที่นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ จะมีท่าทีที่มั่นใจสูง แสดงออกจากการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ อย่าง การสวมถุงเท้าสีสดใสขณะทำงาน ถือเป็นรสนิยมการแต่งกายส่วนบุคคล ซึ่งไม่ผิดหากอยู่ในกิจกรรมหรือภารกิจที่เหมาะสม แต่เมื่อต้องไปทำหน้าที่ต่างประเทศ - พบปะผู้นำคนสำคัญระดับนานาชาติ นายกฯ ต้องตระหนัก ว่าไปในฐานะตัวแทนของบ้านเมือง การแต่งกายต้องเป็นไปอย่างสากล
นันทนาระบุว่า ชุดสูทออกงานแบบสากลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 โทน คือ โทนเข้มกับโทนอ่อน 'สูทสีเข้ม' ใช้กับงานที่เป็นทางการ ประกอบด้วย สีดำ สีเนวีบลู ขณะที่ 'สูทสีอ่อน' ประกอบด้วย สีฟ้า สีน้ำตาล และสีแทน ใช้ในงานลำลองทั่วไป
ดังนั้นการที่นายกฯ สวมชุดสูทสากลถือเป็นความเหมาะสม แต่สีเสื้อและกางเกงสีสดเกินไป ทำให้ดูไม่เหมาะสมกับงานที่เป็นทางการสูง ส่วนประเด็นถุงเท้าที่สีโดดเด่นไม่สอดคล้องกับสูท ก็ดูผิดกาลเทศะไปมาก จึงไม่แปลกที่จะถูกวิจารณ์โดยประชาชน เพราะในอดีต ก็เคยมีประเด็นที่เกิดขึ้นในลักษณะใกล้เคียงกันมาให้เห็นแล้ว
เมื่อสมัย ‘บารัค โอบามา’ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกตำหนิเรื่องการแต่งกาย เมื่อเขาสวมชุดสูทสีแทนร่วมงานรำลึกอับราฮัม ลินคอล์น (ประธานาธิบดีคนที่ 16 และรัฐบุรุษชาวอเมริกันชน) ซึ่งถือเป็นงานระดับประเทศที่ผู้นำควรสวมสูทสีเข้ม ดังนั้นนายกฯ เศรษฐา ซึ่งอยู่ระดับการบริหารเทียบเท่ากับโอบามา จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นภาพลักษณ์เช่นเดียวกัน

ในส่วนบุคลิกภาพการแสดงออก หากวิเคราะห์จากท่าทีของเศรษฐา ก็สามารถเห็นความไม่มั่นใจหลายอย่าง โดยเฉพาะกิริยาขณะพูดคุยกับปูติน ที่แม้จะดูสุภาพเรียบร้อยถูกต้องตามหลักสากล อย่างการนั่งเฉียงคู่สนทนา 45 องศา แต่ผู้คนก็สามารถตีความได้จากสายตาที่กวาดไปมาของนายกฯ รวมถึงจังหวะดึงถุงเท้า ระหว่างหารือกับผู้นำรัสเซีย
อากัปกิริยาข้างต้น จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า นายกฯ เศรษฐา ‘ไม่เป็นตัวของตัวเอง’ และ ‘ดูนอบน้อมเกินความเหมาะสม’ ในบางขณะคล้ายคลึงกับบุคลิกภาพของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ อดีตนายกฯ เมื่อตอนเยือนสหราชอาณาจักร จนเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนสังคมออนไลน์
“ท่านั่งของคุณเศรษฐา ดูคล้ายกับพลเอกประยุทธ์เมื่อตอนไปพบกับนายกฯ อังกฤษ แทบจะเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นอดีตนายกฯ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกัน และยิ่งตอนอยู่ในเมืองไทยคุณเศรษฐาดูมีความมั่นใจสูง แสดงความรู้สึกแบบตรงไปตรงมา แต่พอไปพบผู้นำต่างประเทศดูท่านนายกฯ จะมีความมั่นใจลดลงไปชัดเจน อย่างการดึงถุงเท้าบนเวทีผู้นำต่างชาติ มันสะท้อนความคับข้องใจอะไรบางอย่างออกมา”
ในแง่ ‘วัจนภาษา’ ด้านถ้อยคำที่สื่อสารออกไป นักสื่อสารการเมืองมองว่า เศรษฐาทำได้ดีในด้านการเจรจาเรื่องการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และถือเป็นมิติใหม่ของผู้นำเมืองไทย หลังการเข้ามาบริหารประเทศของนายกฯ ที่เป็นทหารตลอด 9 ปีไม่มีภาพเหล่านี้ปรากฎ
แต่กรณีการสื่อสารกับวลาดิเมียร์ ปูติน ที่พยายามแสดงสถานภาพให้ดูสนิทสนมเป็นกันเอง อาจทำให้ชาติตะวันตกมองประเทศไทยในอีกแง่มุม ด้วยขณะนี้ยังมีสงครามระหว่าง ‘รัสเซีย - ยูเครน’ เกิดขึ้นอยู่ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารของผู้นำประเทศ ในวันที่มีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน ในสงครามระหว่าง ‘อิสราเอล - กลุ่มฮามาส’ ซึ่งการสื่อสารของเศรษฐาอาจต้องปรับปรุง เพื่อไม่ให้ภายนอกมองว่า ‘เราเลือกข้างในสภาวะที่ขัดแย้ง’ จุดนี้คือข้อควรระวังที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

“การชวนให้ปูตินมาเที่ยวประเทศไทย อันนี้เป็นข้อหนึ่งที่โลกตะวันตกอาจมองเราแปลกๆ เพราะอย่าลืมว่ารัสเซียกับยูเครนยังมีข้อพิพาทกันอยู่ ถ้าเรามองว่าไทยต้องวางตัวเป็นกลาง เราก็ต้องมีระยะห่างในการสื่อสารพอสมควร เฉกเช่นเดียวกันกับสถานการณ์ที่อิสราเอล เราคงไม่อยากให้คนอื่นมองว่าเราเลือกข้าง เพราะจะส่งผลกระทบต่อคนไทยที่ยังอยู่ในตะวันออกกลาง และส่งผลต่อสถานภาพกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย”
เมื่อถามในเชิงการสื่อสารทางการเมือง ผู้นำประเทศควรมีบุคลิกภาพอย่างใด นันทนาอธิบายว่า สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรก คือความสง่างาม เพื่อแสดงให้นานาชาติได้เห็นว่า ประเทศของเรา (ไทย) เป็นประเทศที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับประเทศอื่น และไม่จำเป็นต้องแสดงความนอบน้อมจนเกินงามกับประเทศใดๆ บนโลก เพราะประเทศไทยก็มีสิทธิเสรีภาพที่มาพร้อมด้วยอำนาจอธิปไตยแบบครบถ้วน
แม้นอดีตจะไม่มีใครมานั่งจับสังเกต แต่เมื่อให้หลังการเข้ามาเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ประเทศไทยก็ถูกจับตามองเรื่องนี้เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้นำประเทศในยุคหลังนี้จึงต้องใส่ใจกับภาพลักษร์ภายนอกมากขึ้น ไม่ว่าจะงานในระดับประเทศ หรืองานในระดับนานาชาติก็ตามที…
ท้ายที่สุดคงสรุปได้ยาก ว่าอะไรคือรูปแบบการแต่งกายที่ควรเป็นไป แต่คงจะบอกได้อย่างหนึ่งว่า ‘ความเหมาะสม’ กับ ‘รสนิยมส่วนบุคคล’ ต้องถูกชั่งน้ำหนัก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับพลวัตทางสังคม ที่ยังดำเนินไปตามครรลองแบบสากล…
ว่าแล้ววงทานดินเนอร์ระหว่างครอบครัวในคืนสุดสัปดาห์นี้ ข้าพเจ้าคงต้องลับใบมีดที่ร้างจากการสัมผัสหนวดเครามานานหลายเดือน เพราะการร่วมโต๊ะกับพ่อแม่หญิงสาว ใบหน้าจะแปดเปื้อนและหยาบกระด้างด้วยขนอ่อนมิได้
เดี๋ยวพ่อตา - แม่ยาย จะตำหนิเอาว่า ‘ไม่รู้จักกาลเทศะ’