‘ชาย’ ผู้กว้างขวาง กับประชาธิปัตย์ในวันผลัดใบ

24 ส.ค. 2566 - 09:46

  • อ่านปรากฏการณ์ ศึกภายใน ‘ประชาธิปัตย์’ จากเลือกหัวหน้าพรรคสู่การโหวตนายกฯ ‘เดชอิศม์’ นำขุนพล 16 สส. ดัน ‘เสี่ยนิด’ กับวันที่ค่ายสีฟ้าน้ำทะเลถึงวันผลัดใบ

Dejit-the-New-Democratic-Party-SPACEBAR-Thumbnail
การประชุมร่วมรัฐสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่าน ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ผ่านด่านอรหันต์ไปได้อย่าฉลุย ด้วยเสียงเห็นชอบ 482 เสียง จากทั้งรัฐสภา 705 เสียง มีแต้มเกินกึ่งหนึ่ง ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ไทยคู่ฟ้าไปได้อย่างผ่าเผย 

แต่หากจับสัญญาณจากโหวตรอบนี้ ‘ประชาธิปัตย์’ ถูกจับตาไม่น้อยหน้าใครเพื่อน โดยเฉพาะ ‘กลุ่มเพื่อนต่อ’ 16 สส.ภาคใต้ เทเสียงโหวตให้การสนับสนุน ‘เสี่ยนิด’ ในห้วงนาทีสุดท้าย ก่อนมติรัฐสภาจะถูกแถลงอย่างเป็นเอกฉันท์ 

16 เสียง ณ ที่นี้ รู้ทั้งรู้ว่าเป็นขุมกำลังของ ‘เสี่ยต่อ’ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการแม่บ้านพรรคปชป. และ ‘นายกฯ ชาย’ เดชอิศม์ ขาวทอง ทั้งคู่เป็นผู้มากบารมีทั้งพวกพอง ทั้งในพรรคปชป.เเละต่างพรรคต่างขั้วการเมือง  

ด้านเฉลิมชัย อาจไม่ต้องหยิบยกประวัติมาสาธยายให้มากความ เพราะเป็นบุคคลเก่าแก่ของค่ายสีฟ้า และมักตกอยู่ในวงดราม่าของพรรคปชป.มาตลอดตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง แต่สำหรับเดชอิศม์ สมญา ‘นายกฯ ชาย’ หากเปิดแฟ้มปะวัติทางการเมือง เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาจังหวัดสงขลา เขตอำเภอรัตภูมิ และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อีกทั้งเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อการเลือกตั้งปี 2548 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และเบนเข็มเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเป็น สส. สมัยแรกเมื่อการเลือกตั้ง 2562  

นักข่าวหลายคนจึงเชื่อว่า เดชอิศม์ มีสัมพันธ์เก่าแก่กับพรรคสีแดงมานับสิบปีแล้ว ก่อนจะเข้าก๊วนพระแม่ธรณีเสียอีก ยิ่งการเปิดเผยของเจ้าตัวที่ออกมาระบุถึง มิตรภาพของพ้องเพื่อนต่างค่าย ประกอบไปด้วย ‘ธรรมนัศ พรหมเผ่า’ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และตัวเขาเอง ที่ยาวนานเสมือน ‘สามเกลอทางการเมือง’ 

เดชอิศม์ให้สัมภาษณ์ผ่านการพูดคุยกับ ‘หมาแก่’ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ แบบเปิดอก เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ถึงประเด็นพี่น้องร่วมสาบานทางการเมือง ว่าไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราสนิทสนมกัน ส่วนตัวถือเป็นน้องคนสุดท้องทางการเมือง เคารพ 'พี่ชาดา' คบกันมาเกือบ 20 ปี ส่วน ‘ผู้กองธรรมนัส’ ก็รู้จักกันมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ยังสังกัดอยู่กับีพรรคสีแดง ทั้งคู่เป็นคนน่าคบหา ผูกพันกันมานานพอสมควรแล้ว

หมาแก่ถามต่อว่า ผูกพันถึงขนาดสามารถร่วมงานทางการเมืองได้หรือไม่ เดชอิศม์เปรียบเปรยว่า ทั้ง 3 คนเปรียบเสมือนนักฟุตบอลมืออาชีพ แม้จะอยู่คนละทีม แต่เวลาลงสนามต่างคนต่างสู้จริงจัง เมื่อถึงคราวเป่านกหวีดหมดเวลาทุกคนก็คือเพื่อนกัน (พวกกัน)

“ยังไม่รู้เลยว่าผมจะสอบได้หรือสอบตก ในสมัยหน้า ฉะนั้นจะคิดไปไกลกว่านั้นไม่ได้ แต่เรามีเป้าหมาย คือ ถ้ามีโอกาสทำงานร่วมกัน ต้องสร้างผลงานที่เด่นให้กับประเทศให้ได้” เดชอิศม์ตอบดนัย เมื่อถูกถามถึงกรณีการแท็กทีมร่วม 3 พี่น้อง ตั้งรัฐบาล (ตลอดไป)

นี่จึงเป็นอีกมิติทางการเมือง ที่แสดงเห็นถึงความเกี่ยวดองกับแบบ ‘โลกวรยุทธ์’ ของสามขุนพลพรรคใหญ่

นอกจากนี้ นายกฯ ชาย ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนของกลุ่มขุนพลภาคใต้ ปชป. เข้าพบ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ ‘ฮ่องกง’ ผ่านการเชิญชวนของผู้หลักผู้ใหญ่พรรคเพื่อไทย รายงานแบบซุบซิบตามแบบฉบับของผู้สื่อข่าวการเมือง ระบุว่า บิ๊กเนมผู้ทอดสะพานให้กับเดชอิศม์และทักษิณ มีตัวอักษรย่อ ‘ส.’ นำหน้าชื่อ

เดชอิศม์ยอมรับว่า เขาเดินทางไปฮ่องกงจริง  ในวันเกิดคล้ายวันเกิดทักษิณ เพราะส่วนตัวมีความสนิทสนม และเคยลงสมัคร สส.ในนามพรรคไทยรักไทย วันนั้นทักษิณเรียกเขาว่า ‘ศิษย์เก่า’ แต่เมื่อถามถึงจุดยืนของประชาธิปัตย์ เดชอิศม์ตอบทักษิณว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมติพรรค 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ ในวันโหวตเลือกนายกฯ เดชอิศม์จะกล้าแหกคอก นำ สส.ภาคใต้โหวตให้ ‘เสี่ยนิด’ ช่วงจังหวะสุดท้ายก่อนจะเขาด้ายเข้าเข็ม 

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ (24 สิงหาคม 2566) เดชอิศม์ ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรค พร้อม สส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 20 คน ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา ชี้แจงกรณีโหวตเห็นชอบให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับมติพรรคที่ให้งดออกเสียง 

เขาอธิบายว่า การลงมติที่ดูเหมือนไม่เป็นเอกภาพในครั้งนี้ ความจริงพรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้งสองรอบ และมีเจตนาที่จะทำให้องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง ส่วนการผ่านประชุมสส.พรรค ก่อนโหวตเลือกนายกฯ พรรคมีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 เรื่องคือ 1) ‘ไม่เห็นชอบ’ สาเหตุมาจากความขัดแย้งในอดีตกับพรรคเพื่อไทย 

ส่วนที่ 2. มีความเห็นว่า ‘เห็นชอบ’ เนื่องจากไม่สามารถรอให้ประเทศและภาคการเมืองเกิดสูญญากาศได้ และสุดท้ายในที่ประชุมส่วนมากบอกว่าควรงอดออกเสียง เฉกเช่นเดียวกับกรณีการโหวต ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’  

“เราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ไม่เคยใส่เสื้อเหลืองเสื้อแดง เราไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่า ๆ  ทุกคนเห็นว่า เราควรสนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯ ตัวพวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน แต่เราเปิดโอกาสให้มาทำหน้าที่ นั่นคือเหตุผลที่โหวตเศรษฐา”

ทั้งนี้ เดชอิศม์ ยกกรณีการโหวตของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์’ งดออกเสียง และการโหวตไม่เห็นชอบของ ‘บัญญัติ บรรทัดฐาน’ และ ‘ชวน หลีกภัย’ เข้ามายกอ้างถึงความไม่เป็นเอกภาพของพรรคด้วย 

อย่างไรเสีย เดชอิศม์ ยืนยันว่า ณ วันนี้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ทั้งตัว ส.ส. และศักดิ์ศรีความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรือ อยากไปเป็นรัฐบาล 

ส่วนจะมีการตั้งกรรมการสอบ จนถึงขั้นขับออกจากพรรคหรือไม่ นายกฯ ชาย กล่าวยืนยันว่า สส.รุ่นใหม่ แยกระหว่างหน้าที่กับความรักความผูกพัน และความโกรธแค้นชิงชังในอดีตเด็ดขาด ฉะนั้นพวกเรา (กลุ่ม 20 สส.) สนิทกับทุกพรรค ถ้าการไปพบทุกพรรคมีความผิด ก็น่าจะโดนประหารชีวิตไปตั้งนานแล้ว เพราะเป็นความผิดมาก เนื่องจากตนมีความสนิทกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค แต่พอเข้าในสภาก็อีกหน้าที่หนึ่ง ส่วนตัวก็อีกหน้าที่หนึ่ง ความเป็นคนไทยและเป็นสส.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง  

เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล เป็นบาดแผลทอดยาวตั้งแต่การสรรหาหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มาจนถึงการโหวตเลือกนายกฯ แสดงให้เห็นถึงภาวะ ‘ค่ายแตก’ อย่างชัดเจนจากศึกภายในระหว่าง 2 ก๊ก ขั้วอำนาจเก่า - ใหม่  

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบ ‘รัฐบาลพิเศษ’ ก็มีให้เห็นแล้ว จับตาดูให้ดีเถิด ว่าสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์จะถึงคราวสุกงอม จนถึงขั้น ‘ผลัดใบ’ เมื่อไหร่… 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์