สนาม ‘เมืองคอน’ สู่อนาคต ‘ประชาธิปัตย์’

26 พ.ย. 2567 - 08:23

  • ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.แห่งเมือง ‘นครศรีธรรมราช’ ทำเอาสั่นสะเทือน ‘บ้านใหญ่’ เมื่อ ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ สามารถโค่นล้ม ‘บ้านสีฟ้า’ ไปได้ ด้วยคะแนนทิ้งห่างหลักหมื่น งานนี้ ทำให้ถูกมองว่า นี่คือ ผลสะท้อนจากการที่ ‘ประชาธิปัตย์’ จับมือกับ ‘ระบอบทักษิณ’ หรือไม่?

  • แม้จะเป็นสนาม ‘ท้องถิ่น’ แต่ ‘เมืองคอน’ ถือเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของ ‘ประชาธิปัตย์’ เช่นนี้แล้ว เลือกตั้งระดับชาติปี 2570 จะเป็นอย่างไร? ต้องปรับกลยุทธ์มากแค่ไหน?

democrat-party-south-thailand-24oct2024-SPACEBAR-Hero.jpg

จบไปแล้ว สำหรับสนามนายก อบจ.เมือง ‘นครศรีธรรมราช’ ที่ผลการเลือกตั้งออกมานับว่า ‘สั่นสะเทือน’ พรรคประชาธิปัตย์ไปไม่น้อย เมื่อ ‘วาริน ชิณวงศ์’ นักธุรกิจด้านการเกษตร สมาชิกพรรค ‘ภูมิใจไทย’ ซึ่งลงสมัครในนามกลุ่ม ‘นครเข้มแข็ง’ เอาชนะ ‘กนกพร เดชเดโช’ กลุ่มพลังเมืองนคร แม่ของ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปได้

ปรากฎการณ์โค่น ‘ประชาธิปัตย์’ ณ เมืองคอน ครั้งนี้ ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า เป็นการเมืองท้องถิ่นที่แบ่งขั้ว ระหว่าง ‘กลุ่มพลังเมืองนคร’ แข่งกับ ‘กลุ่มนครเข้มแข็ง’ สำหรับ แม่ของ ‘ชัยชนะ’ ก็ถือว่าความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วน ‘วาริน’ มีความใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นการสู้กันระหว่าง กลุ่มของ สส.ชัยชนะ กับกลุ่มที่ไม่เอา สส.ชัยชนะ ที่ผนึกรวมกันเป็นทีมนครเข้มแข็ง โดยมีอดีตผู้สมัครที่เคยแข่งกับ ‘กนกพร’ เมื่อครั้งที่แล้วรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 เงื่อนไขที่ ‘เทพไท’ วิเคราะห์ว่า ทำให้ฝั่งบ้านใหญ่ต้องพ่ายแพ้ ดังนี้

  1. ‘กนกพร’ ลาออกก่อนกำหนด ให้คำตอบกับคนนครฯ ไม่ได้ว่า ลาออกทำไม สิ้นเปลืองงบประมาณต้องเลือกตั้ง 2 ครั้ง 
     
  2. กระแสโซเชียล มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารยุคปัจจุบันที่เข้าถึงตั้งแต่เด็กผู้ใหญ่คนแก่ กระแสโซเชียลปั่น เรื่องบ้านใหญ่ เรื่องการทำงานของ อบจ. ชุดเก่า รวมถึงการปราศรัยต่างๆ
     
  3. ระบบหัวคะแนน ‘กนกพร’ เป็นผู้บริหารเก่า มีความสัมพันธ์กับผู้นำในท้องถิ่น ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. นายกเทศบาล เป็นคนกว้างขวาง ขณะที่ ‘วาริน’ ไม่มีหัวคะแนนที่จัดตั้ง ใช้หัวคะแนนชาวบ้าน เป็นหัวคะแนนธรรมชาติ ทำให้กระแสคน ‘รังเกียจ’ คนที่มีบารมี มีอิทธิพล 
     
  4. การพยายามปั่นเรื่องพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ ‘ระบอบทักษิณ’ โดยมี ‘ชัยชนะ’ เป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเข้าร่วมกับ ‘ระบอบทักษิณกับพรรคเพื่อไทย’ ขณะที่ ‘นครศรีธรรมราช’ มี FC และผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างกว้างขวาง แล้วยิ่งมีการแชร์ภาพที่ ‘ชัยชนะ’ ไปก้มกราบ ‘ทักษิณ’ ในงานแสดงวิสัยทัศน์ คนก็เลยขยายผลจนทำให้คนรู้สึกว่า “คุณไม่มีศักดิ์ศรี เอาพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมกับระบอบทักษิณ” โดยที่พื้นฐานคนภาคใต้ ไม่ชอบทักษิณอยู่แล้ว 
     
  5. เป็นเรื่อง ‘การเมืองบ้านใหญ่’ ที่คนส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกว่า ถ้าการเมืองบ้านใหญ่ผูกขาด  ต่อไปลูกชาวบ้านคนทั่วไปคนธรรมดาก็จะเกิดทางการเมืองยาก เพราะถูกผูกขาดด้วยระบบบ้านใหญ่ จึงรวมผนึกกำลังกับทุกฝ่าย รณรงค์หาเสียง ผลเลยจึงออกมาแบบที่เห็นอยู่

‘อดีต สส.เมืองคอน ประชาธิปัตย์’ วิเคราะห์อีกว่า เหตุผลที่สะเทือนต่อการเมืองภาคใต้มากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมระบอบทักษิณ มันเป็นอารมณ์ ความรู้สึกของคนภาคใต้ทุกจังหวัดจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่จังหวัดใดก็ตาม ผู้สมัครใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย หากใครหยิบจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลทักษิณมาเชื่อมโยงกับผู้สมัครที่มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า จะทำให้ประชาชนปฏิเสธและ ‘ไม่เลือก’

“เหมือนกับแสดงออก ให้บทเรียน สอนให้เห็นถึงผลจากการหักหลังประชาชน หักหลังคนภาคใต้ ที่คุณพาคนภาคใต้ไปสู้กับระบอบทักษิณแล้วสุดท้าย คุณตัดช่องน้อยแต่พอตัว ไปร่วมกับระบอบทักษิณ เพราะอยากเป็นรัฐบาล คนภาคใต้ก็จะให้บทเรียนผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผู้สมัครใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นสัญญาณเบื้องต้น แต่ว่าสัญญาณชัดๆ ผมว่า มันต้องไปเป็นการเลือกตั้งปี 70 การเลือกตั้งใหญ่อันนั้นมันโดยตรง มันเป็นเรื่องของประชาธิปัตย์โดยตรง”

เทพไท กล่าวย้ำ

ขณะที่ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ เองก็แปลกใจ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า ทุกพรรคก็จับมือกับเพื่อไทย?

“ถ้ามองอย่างนั้น ภูมิใจไทยก็จับ ทำไมคนไม่ว่า คือผมมองว่า มีไหม มีแน่ เรื่องนั้นอ่ะ แต่ถามว่า เราก็แปลกใจว่า ทุกพรรคก็จับมือกับเพื่อไทยอยู่ แต่ทำไมประชาธิปัตย์ คนถึงมีความรู้สึก อันนี้ก็ต้องทบทวนกัน”

ชัยชนะ กล่าว

แต่ ‘ชัยชนะ’ ยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะโหวตเตอร์ในขณะนี้ มักจะเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก จึงต้องปรับกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์และการชี้แจงเรื่องการทำงานของพรรคที่ต้องใช้โซเชียลมากขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีอิทธิพลและพลังพอสมควร ถ้ามีหัวคะแนนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ว่า จะมีจำนวนไม่มาก แต่เขาสามารถขยายผลได้ เช่น ถ้าเขาไปดูเวทีปราศรัยของเรา เขาสามารถแชร์โพสต์ ไลฟ์สดในมือถือได้ 

ส่วนการเตรียมรับมือต่อการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2570 นั้น ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพราะต้องยอมรับว่า วันนี้เป็นการเมืองของคนรุ่นใหม่ การเมืองทุกวันนี้เป็นการแข่งขันโดยการใช้ความคิดจริงๆ เพราะฉะนั้น ต้องนำเสนอชุดความคิดที่ทุกคนคาดหวังได้ แล้วก็ต้องมีผู้นำจิตวิญญาณที่ทุกคนคาดหวังได้จริงๆ

จังหวะสั่นคลอนแบบนี้ พรรคภูมิใจไทยจะเจาะตลาดภาคใต้ได้แค่ไหน?

กลับมาที่ผลการเลือกตั้ง ที่ทำให้ทุกคนค่อนข้างแปลกใจที่ ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ กลับสามารถชนะศึกครั้งนี้ไปได้ ซึ่ง ‘เทพไท’ มองว่า ภูมิใจไทยในภาคใต้ไม่ใช้กระแสพรรค แต่เจาะเป็นเขต ทั้งนี้ ‘ภูมิใจไทย’ ประสบความสำเร็จในการทำพื้นที่ภาคใต้ ขยายมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 62 แล้วก็ได้เพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่า การเลือกตั้งปี 2570 พรรคภูมิใจไทยก็จะได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าพูดถึงกระแสพรรคภูมิใจไทย คงไม่มีในภาคใต้ เพราะ **‘การเมืองภาคใต้’**เป็น ‘การเมืองเชิงอุดมการณ์’ คนเลือกเพราะจุดยืนทางการเมืองของพรรคการเมืองนั้นๆ ว่า มีความก้าวหน้า มีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด

“แต่อุดมการณ์ของพรรคภูมิใจไทย ไม่น่าจะสอดคล้องกับจุดยืนและอารมณ์ความรู้สึกของคนภาคใต้ เพราะฉะนั้นพรรคภูมิใจไทย ใช้วิธีการเจาะเฉพาะเขตที่มีความเป็นไปได้ ก็มีโอกาสที่จะทำได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยได้คุมกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้กลไกของ อสม.ทำคะแนน จนประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ แล้ววันนี้พรรคภูมิใจไทยได้กระทรวงมหาดไทย กลไกในการใช้อำนาจสูงกว่ากระทรวงสาธารณสุขหลายเท่า และก็มีผลต่อคะแนนเสียงของผลการเลือกตั้งปี 2570 มากกว่าปี 2566 แน่นอน โอกาสในภาคใต้พรรคภูมิใจไทยโตขึ้น แต่จะยึดครองได้ไหมนั้น อาจจะยึดครองยาก เพราะพรรคที่จะไปยึดครองภาคใต้ได้ ต้องมีสององค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ ตัวบุคคล และจุดยืนของพรรค แต่พรรคภูมิใจไทยเน้นตัวบุคคล ส่วนจุดยืนของพรรคยังขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ได้เพิ่มขึ้น แต่จะได้มากแค่ไหน ไม่ทราบ”

เทพไท มอง

เมื่อมองกลับมาที่ ‘ประชาธิปัตย์’ ในการเลือกตั้งปี 2570 ‘เทพไท’ ก็ยังมองไม่เห็น ‘จุดขาย’ เพราะในวันที่ ‘ประชาธิปัตย์’ เข้าร่วม ‘รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้กระทรวงหลักๆ ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ก็บอกว่า จะเอาผลงานเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่ผลเลือกตั้งก็เห็นอยู่ จาก 52 เสียงก็เหลือ 25 เสียง แล้ววันนี้มาร่วมกับ ‘ระบอบทักษิณ’ ได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข “ผมไม่แน่ใจว่าจะสร้างผลงานอะไรให้ฟื้นฟู เรียกศรัทธาคืนมาได้”

“ผมว่าในวันข้างหน้า จุดขายประชาธิปัตย์คงไม่มีหรอก เขาก็ใช้บ้านใหญ่นี่แหละ ใช้ระบบบ้านใหญ่ เจาะเฉพาะจังหวัดบ้านใหญ่ แล้วก็ทำพรรคขนาดกลาง เพื่อที่จะเป็นพรรคอะไหล่ร่วมรัฐบาล ซึ่งเขาก็ประกาศชัดว่า เขาไม่เป็นขั้วทางการเมืองอีกแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ทำการเมืองแบบ SME จุดขายประชาธิปัตย์ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองภาคใต้ไม่มีแล้ว ขายเฉพาะบ้านใหญ่ ไปเล็งจังหวัดที่บ้านใหญ่ เจาะบ้านใหญ่ กลุ่มหนึ่งสัก 5-6 คน แล้วก็มารวมกันเป็นก๊วนเป็นแก๊งอยู่ในประชาธิปัตย์”

เทพไท กล่าว

‘เทพไท’ ทิ้งท้ายว่า เขาก็ยังมีโอกาสจะตั้งหลักถอดบทเรียน ใช้วิธีการแบบบ้านใหญ่ รักษาฐานที่วันนี้เขามีอยู่ 5-6 เสียงในนครศรีธรรมราช เขาก็พยายามจะคงสภาพไว้ได้เท่าเดิม แต่ไม่แน่ ถ้าสถานการณ์มันพลิก มันก็อาจจะทำให้เขาสูญพันธุ์ไปก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเลือกตั้งปี 2570

ก่อนจะไปถึงสนามเลือกตั้งระดับชาติในปี 2570 ก็ยังมีอีกหนึ่งสนามที่น่าสนุกไม่แพ้กัน นั่นก็คือ สนามเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.สงขลา’ ถิ่นของ ‘นายกชาย’ เดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข อดีต นายก อบจ.สงขลา ซึ่งขณะนี้มีความคึกคักและน่าลุ้นเป็นอย่างมากว่า บรรดาคนหน้าใหม่ๆ จะสามารถ ‘โค่นล้ม’ เจ้าถิ่นเดิมได้อีกหรือไม่? งานนี้คงต้องวัดพลังกันหนักขึ้นแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์