เมื่อสิ้นสุด เสียงพลุวันเคาท์ดาวน์ฉลองปีใหม่ เป็นอันรู้กันว่า การประชุมชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 กำลังจะเริ่มขึ้น หลัง ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ออกตัวเจิมตั้งแต่ไก่โห่ ทำให้ที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 3 มกราคม 2567 ถูกเพ่งมองจากประชาชน ไม่ว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องตอบรายละเอียดงบประมาณต่างๆ อย่างชัดเจน และฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ผ่านการซักถามข้อสงสัยต่างๆ ที่จับสังเกต ต่อการทำงบประมาณ เพื่อเป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องประชาชน
สำหรับ ‘ก้าวไกล’ ในฐานะพรรคหัวหอก ที่ใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานมาตั้งแต่ยุคสมัย ‘พรรคอนาคตใหม่’ เคยชำแหล่ะประเด็นแบบสับละเอียดมาแล้ว ในช่วงการชี้แจงงบประมาณฯ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ จนได้รับฉายาว่า ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ ขณะที่รอบนี้ ต้องตรวจเช็กความเป็นไป ‘รัฐบาลผสม’ ของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’
หลังนายกฯ ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเอกสารการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2567 เสร็จสิ้น ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้กระซวกภาพรวมของงบประมาณฯ ปี 67 ว่า‘ไม่ตรงปก จับต้องไม่ได้’
ด้าน ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่โรยราการตรวจสอบภาครัฐบาลมาร่วม 10 ปี กลับคืนสู่บังลังก์อีกครั้ง ในจังหวะที่ใครหลายจับตา ว่า ‘จะคืนฟอร์ม’ ฝ่ายค้านมือฉมังค์หรือไม่ ?
หลายฝ่ายมองว่า ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ’ อดีตหัวหน้าและลูกหม้อเก่าแก่พรรคสีฟ้าน้ำทะเล ยังคงไว้ลาย ‘ความเก๋าเกมอยู่’ อย่าง การอภิปรายถึงงบประมาณในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ที่ระบุว่า
“ผมมีคำถามว่ารัฐบาลในฐานะผู้ใช้งบประมาณ ได้บริหารโครงการตามวัตถุประสงค์ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง 2.8 แสนคนหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในสังคม ว่าทำไมรัฐบาลนี้จึงปล่อยให้นักโทษบางคนเข้าคุกทิพย์มาแล้วกว่า 120 วัน แต่ยังไม่เคยติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว”
เพียงเท่านั้น ‘ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม’ สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ถึงกับลุกขึ้นประท้วงจุรินทร์ทันที โดยฟ้องต่อประธานฯ ว่า เป็นการอภิปรายนอกประเด็น
“ผมไม่คิดว่านายจุรินทร์ อดีตรัฐมนตรี จะลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณ เพราะท่านล้มเหลวมาตลอด อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายก็ได้คะแนนน้อยกว่าคนอื่นเขา นี่ก็ลากออกไปนอกประเด็นใช้สไตล์เก่าๆ ผมไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องข้างนอกเข้ามาสู่สภาฯ ผมรู้ว่าคนที่นายจุรินทร์ กำลังพูดถึงคือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกกลั่นแกล้งไปอยู่เมืองนอก 17 ปี แต่ต้องเข้าใจว่า ทุกครั้งที่ขออนุญาต มีใบรับรองจากอธิบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
กลายเป็นว่า ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วินิจฉัยว่า ผู้อภิปราย (จุรินทร์) ยังคงอภิปรายอยู่ในประเด็น หลายคนจึงมองว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ เสียเหลี่ยมของอดีต ‘รมต.อูตด้า’ ไปเสียดื้อๆ
ขณะที่ ‘ชวน หลีกภัย’ สส.แบบบัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตประธานรัฐสภา ก็ได้ใช้จังหวะนี้ในการตั้งคำถาม ผ่านผู้ช่วยดำเนินงาน สส. ถึงเหตุการณ์ครบรอบ 20 ปี ‘ความรุนแรงตากใบ’ ไปถึง ‘นายกฯ เศรษฐา’ ที่เข้าสู่ตำแหน่งมาไม่ถึง 5 เดือน โดยมีข้อซักถาม 5 ประการ
- ขอทราบว่าจนถึงปัจจุบัน ทางราชการสามารถติดตามอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปได้คืนมากี่กระบอก ขอทราบรายละเอียดว่าอาวุธที่ได้คืนมานั้นจากเหตุการณ์เมื่อใด
- ขอทราบว่า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่คนร้ายใช้อาวุธที่ปล้นไปจำนวนเท่าไร ขอทราบรายละเอียดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และทางราชการได้ดูและบำบัดทุกข์ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างไร
- อาวุธที่ยังไม่ได้คืนมา มีข้อมูลหรือไม่ว่าอยู่ ณ ที่ใด มีการติดตามเอาคืนมาหรือไม่ ด้วยวิธีใด
- ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการปล้นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการปล้นนอกภาวะสงคราม เพื่อป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ขอทราบว่าได้มีการศึกษาสาเหตุในครั้งนี้หรือไม่ ขอทราบรายละเอียดของการศึกษาดังกล่าว
- จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกด้วยนโยบายและมาตรการใด
การแสดงแอคชันของ อดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 2 ในห้วงการอภิปราย พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 กลายเป็นเงาภาพที่คุ้นชินตา ในศึกห่ำหั่น ระหว่าง พรรคประชาาธิปัตย์ และ ‘พรรคตระกูลชินวัตร’ บ้างถึงขั้นหวนนึกถึงการเมืองในยุค 20 ปี ก่อนหน้านี้
ดังนั้น การทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน รอบนี้ จึงมีทั้งเสียงวิพากษ์ - วิจารณ์ โดยเฉพาะจากอดีต ‘ลูกหม้อ’ ยุครุ่งเรือง อย่าง ‘เทพไท เสนพงศ์’ สส.นครศรีธรรมราช หลายสมัย ได้ให้ความเห็นกับ SPACEBAR ว่า ส่วนตัวตั้งความคาดหวังว่า ปชป. น่าจะอภิปรายงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘คนชั้น 14’ มากกว่านี้ โดยเฉพาะสมาชิกหลายท่าน ที่เคยจองกฐินไว้ แต่พอเอาเข้าจริง ก็มีแต่จุรินทน์เท่านั้น ที่กล้าพูด ในลักษณะการ ‘แตะ’ เพื่อให้สมาชิกคนอื่นๆ ของพรรคได้แสดงทัศนะต่อ
แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครเสนอความเห็นเพิ่มเลย โดยเฉพาะกลุ่ม สส. ส่วนมาก อย่าง ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีธรรมราช ที่ควรพูดถึงเรื่องนี้มากที่สุด เพราะเป็นถึงประธานกรรมาธิการตำรวจ จึงสามารถที่จะทวงถาม งบประมาณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือโรงพยาบาลตำรวจ ในส่วนงบกระทรวงสาธารสุข ที่เข้ามีส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’
“แต่คุณชัยชนะ กลับไม่พูดเรื่องนี้ และไปให้ความเห็นเรื่องอื่นแทน คนอื่นก็ไม่พูดต่อ เลยรู้สึกว่าตกหล่นประเด็นสำคัญ อีกทั้งพรรคเองก็เป็นคู่ปรับกับคุณทักษิณมาโดยตลอด ผมจึงแปลกใจว่าทำไมถึงปล่อยกรณีดังกล่าวไปได้ จนเกิดคำถามว่าภายในถูกแบกออกไปเป็น 2 ขั้วหรือเปล่า ผมผิดหวังตรงจุดนี้จริงๆ”
เมื่อถามว่า การทำหน้าที่ใน 2 วันแรกของพรรคประชาธิปัตย์ หากคิดเป็นตัวเลข จะได้กี่คะแนน เทพไท กล่าวว่าภาพรวมทั้งพรรคให้แค่ 6 คะแนน แต่หากลงรายละเอียดไปที่ผู้อภิปรายอย่างจุรินทร์ ก็จะให้คะแนนส่วนตัวที่ 8 เต็ม 10 คะแนน
เทพไท กล่าวต่อว่า ส่วนตัวจะติดตามการอภิปรายงบประมาณฯ ต่อจนถึงวันสุดท้าย หากเรื่องนี้ยังไม่ถูกพูดโดย สส. ปชป. เขาจะใช้สิทธิ์ ในฐานะนักวิพากษ์การเมืองอภิปราย อยู่นอกรัฐสภาเอาเอง
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ อดีต สส.พัทลุง หลายสมัย ที่ให้มุมมองกับ SPACEBAR ว่า หลังจากนี้หากไม่มีการพูดถึงประเด็นของทักษิณ ตนเองจะทำการทดลองในการพิสูจน์ทราบว่า สส. ในพรรคมีความคิดที่จะตรวจสอบคนชั้น 14 หรือไม่ ผ่านการเสนอให้ สส.เขต ล่ารายชื่อประชาชนที่อยากให้ตรวจสอบ จำนวน 2 หมื่นคน แล้วยื่นให้กระบวนการยุติธรรมเอาผิด กับองคาพยพที่อุ้มชูอดีตนายกฯ นามสกุลชินวัตรอยู่
“เกมนี้ต้องตีที่สุนัข อย่าตีที่เจ้าของ เพราะเขามีผนังทองแดงกำแพงเหล็กปกป้องอยู่ โดยผมจะลองใจ สส. ประชาธิปัตย์ให้รวบรวมรายชื่อ ยื่นฟ้องคนที่อำนวยความสะดวกแก่คุณทักษิณ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากสส. เขต 20 กว่าคน ไม่ทำเรื่องนี้เท่ากับคุณหลอกชาวบ้าน ว่าคุณเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่คุณไม่ตรวจสอบอะไรเลย คิดแต่จะร่วมรัฐบาลอย่างเดียว”
ในส่วนความเห็นเรื่องการกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน นิพิฏฐ์ระบุทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวไม่ได้ติดตามการอภิปราบงบประมาณรายจ่ายในครั้งนี้ แต่หากพรรคมีการนำเสนอเรื่องงบฯ ที่สอดคล้องกับการประโยชน์ที่ อดีตนายกฯ ทักษิณจะได้รับ ก็ถือเป็นสิ่งที่สมควร แต่ทุกคนในพรรคต้องช่วยกัน โดยเฉพาะกลุ่ม สส. ส่วนใหญ่ ที่เป็นตำบลกระสุนตก เรื่องการย้ายไปร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
แม้ปัจจุบันจะเป็นไปได้ยาก เพราะติดปัญหาว่า รัฐบาลมีพรรคร่วมหลายพรรค เก้าอี้รัฐมนตรีอาจไม่เพียงพอ หรือต้องไปสอดแทรกโควต้าของพรรคการเมืองอื่น ที่ตัดสินใจตั้งเเต่ช่วงการฟอร์มทีมบริหาร แต่หากประชาธิปัตย์ยังไม่ชัดเจนและไม่พูดถึง มาตรฐานของนักโทษ ที่ไม่เคยถูกจำคุกเลยมาตลอด 120 วันผ่่านห้องประชุมรัฐสภา ประชาชนก็ไม่อาจละทิ้งปุจฉาข้อกังขานี้ได้
อย่างไรก็ดี ‘ราเมศ รัตนเชวง’ ในฐานะโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้คำยืนยันกับทีมข่าว ว่าพรรคยังยึดมั่นในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านมาโดยตลอด แม้หลายฝ่ายจะพยายามโจมตี ว่าประชาธิปัตย์ยุคนนี้ พยายามทำตัวเป็น ‘พรรคอะไหล่’ แต่ สส. ทุกคนก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการตรวจสอบรัฐบาล โดยใช้กลไกของระบอบรัฐสภา อย่างกรณีที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ก็มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ เพียงพรรคเดียวที่ตรวจสอบและอภิปรายอย่างจริงจังด้วย
“เรามีศักดิ์ศรีพอ ไม่เคยคิดเป็นพรรคอะไหล่ให้กับรัฐบาล แต่เราใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานแบบเข้มข้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกปฏิบัติด้านกระบวนการยุติธรรม เราถือเป็นพรรคการเมืองเดียว ที่ตรวจสอบต่อเนื่องมาตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่วนกระแสที่ว่าจะคืนฟอร์มในฐานะฝ่ายค้านหรือไม่ ประชาธิปัตย์ยังเป็นเหมือนเดิม คือจริงจังกับการเป็นหูเป็นตาให้กับพี่น้องประชาชน แต่ก็ยอมรับว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่ก็ไม่ควรด้อยค่าความตั้งใจ เรื่องนี้พี่น้องประชาชนเองก็รู้ดี”
คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดการกลับมาเป็นฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ จะสร้างสีสันให้กับการประชุมรัฐสภา หรือจะสร้างคุณค่าในการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลได้มากแค่ไหน ...
หรืออีกนัยไม่มีใครจะไปรู้ ว่าจะเทครัวไปอยู่กับ 'ศัตรูในอดีต' ปิดฉากสรงครามเมือง ในรอบ 20 ปี หรือไม่
ใครรู้ช่วยตอบที