ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ระบุว่า เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 25 มี.ค. 2564 และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดการกระทำนั้น
ซึ่งในที่สุด ศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลตามคำร้องของ กกต.นั้นเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ
จึงมีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ยุบพรรคก้าวไกล
พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคชุดที่มีการกระทำผิด ที่ดำรงตำแหน่งช่วงเวลา 24 มี.ค. 2564 - 31 ม.ค. 2567 ภายในกำหนดเป็นเวลา 10 ปี
และสั่งห้ามให้ไม่สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา ได้แก่
- (1) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค
- (2) ชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรค
- (3) ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
- (4) ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
- (5) ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
- (6) สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้
- (7) อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง
- (8) อภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- (9) เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก
- (10) สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน
- (11) อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คำวินิจฉัย ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ อาจส่งผลต่อเนื่องถึงการดำเนินคดีด้านจริยธรรมกับ 44 สส. ที่เข้าชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไรก็ตาม 44 สส.ที่ยื่นเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ปัจจุบันเป็น สส. 30 คน
รายละเอียดผลการลงมติฉบับเต็ม: คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล