‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็นนโยบายที่ไม่เคยเลือนหายไปนับตั้งแต่ยุครัฐบาลของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่วางเป้าหมายให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพโดยจ่ายเพียง 30 บาทเพื่อเข้ารับบริการรักษาโรค ซึ่งจะแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า ‘บัตรทอง’
นอกจากโครงการนี้จะอยู่คู่ประชาชนมานานนับ 20 ปีแล้ว ยังได้รับการพัฒนาจนนำไปสู่การรักษา ‘ฟรี’ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหลายรัฐบาลพยายามพัฒนา ‘สิทธิบัตรทอง’ ให้ครอบคลุมประชาชนและแก้ปัญหารวมทั้งอุปสรรคที่เกิดขึ้น จนกระทั่ง รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ได้ประกาศยกระดับสู่นโยบาย ‘30 บาทพลัส’
‘30 บาทพลัส’ มีดีอย่างไร
30 บาทพลัส จะมุ่งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยการขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มะเร็งครบวงจร สถานชีวาภิบาล การบริการเขตเมือง กทม. บริการสุขภาพจิตและยาเสพติด
ประเด็นหลักใหญ่อยู่ที่ ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ เพราะจากเดิมผู้ป่วยจะต้องรักษาตามโรงพยาบาลที่มีสิทธิ์เท่านั้น แต่ ‘30 บาทพลัส’ จะพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียวแต่รักษาได้ทุกที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้ง รพ.รัฐ ร้านขายยา เอกชน พร้อมพัฒนาระบบต่างๆในโรงพยาบาลเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำร่องใน 4 จังหวัดทั้งเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส

‘30 บาทพลัส’ ยังเน้นการรักษามะเร็งครบวงจร โดยมีแผน Kick off ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดส วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 รวมทั้ง Kick off คัดกรองพยาธิใบไม้ในตับฟรี 1 แสนคน ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน
ขณะที่ ผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ที่บ้านพัก ก็ได้รับการดูแล ตั้งแต่แรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine รวมทั้งจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน ขณะที่ใน กทม.ทั้ง 50 เขต จะเพิ่มการเข้าถึงบริการใน 50 โรงพยาบาล นำร่องที่โรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1 โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายและเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย
สำหรับการดูแล ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ จะเพิ่มเครือข่ายให้มากขึ้น พร้อมจัดตั้ง ‘มินิธัญญารักษ์’ ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดด้วย
‘30 บาทพลัส’ สู่ กองทุนสุขภาพ ‘เท่าเทียม’
หากพูดถึงกองทุนสุขภาพในประเทศไทยขณะนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’ ซึ่งปัญหาที่สั่งสมมายาวนานคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของผู้มีสิทธิในแต่ละกองทุน เพราะสิทธิประโยชน์แต่ละกองทุน มีเงื่อนไขการรักษาที่แตกต่างกัน บ้างก็มองว่า คุณภาพการรักษาและการบริการ ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่รัฐควรทำให้ประชาชนทุกสิทธิได้รับบริการทางด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ที่แน่นอนคือ ต้องเกิดคำถามว่า เมื่อ ‘30 บาทพลัส’ ช่วยให้ประชาชนที่มีสิทธิรักษาได้ทุกที่ แล้วเหตุใด ประชาชนที่จ่ายเงินเองในระบบประกันสังคม จึงต้องไปรักษาตามโรงพยาบาลที่มีสิทธิเท่านั้น เรื่องนี้ รัฐบาล ที่นำโดย ‘เศรษฐา’ ก็ยืนยันว่า จะเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมของกองทุนแบบเต็มสูบ เพราะแม้จะแยกออกเป็น 3 กองทุนสุขภาพ แต่ทุกกองทุนยังต้องรับเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยรัฐต้องเป็นผู้เติมเงินให้ทั้ง 3 กองทุน เป้าหมายของรัฐบาลนี้ คือ ทั้ง 3 กองทุนจะต้องเท่าเทียมกัน
หลังจากนี้ ต้องจับตา ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ที่มี เศรษฐา เป็นประธาน และ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติว่า จะสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกกองทุนสุขภาพได้อย่างไร และจะต่อยอดจากนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ของ ‘คุณพ่อ’ ได้แค่ไหน คงต้องลุ้นกัน