แก้ปัญหาคนไทยแก่แต่จน? ชง ‘ร่างกฎหมาย กอช.’ เปิดทาง ‘หวยเกษียณ’

2 เม.ย. 2568 - 06:46

  • ‘สภาฯ’ ถก ‘ร่างกฎหมาย กอช.’ เปิดทาง ‘หวยเกษียณ’

  • ‘เผ่าภูมิ’ แจงเหตุผลเพราะ ‘คนไทยแก่แต่จน’ จึงต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ

  • บอกใช้เงินรัฐบาล 700 บาทต่อดี แต่ดึงคนไทยมาออม 1.3 หมื่นล้านบาท

HoR-meeting-on-National-Savings-Fund-Act-for-retirement-lottery-SPACEBAR-Hero.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (หรือ พ.ร.บ. กอช.) ซึ่งแก้ไข พ.ร.บ. กอช. ปี 2554 เพื่อเปิดทางให้ กอช. ออกและจำหน่าย ‘สลาก กอช.’ หรือ ‘หวยเกษียณ’ โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง นำเสนอสาระสำคัญของร่างกฎหมายตอนหนึ่งว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กอช. เพื่อให้กองทุน กอช. สามารถออกและจำหน่ายสลาก กอช. ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนวัยทำงานมีเงินออมเพื่อการเกษียณ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในอัตราเร่งที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง และปัจจัยที่แย่กว่านั้นคือ เป็นสังคมสูงวัยที่ประชาชนไม่มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือเรียกว่า “แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ” หรือ “แก่แต่จน” ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญและต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออมเงิน

เผ่าภูมิ ระบุว่า ประเทศไทยมีการสนับสนุนการออม 2 รูปแบบ ได้แก่ การออมภาคบังคับ และการออมภาคสมัครใจ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสีย การออมภาคบังคับมีข้อดีคือ ทุกคนต้องออม แต่บางช่วงของชีวิตอาจไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพ แม้จะมีประโยชน์ในแง่การสะสมเงินออม แต่ก็ไม่สอดคล้องกับภาวะของประชาชน

ส่วนการออมภาคสมัครใจ มีข้อดีคือ ออมแต่ละเดือนเมื่อพร้อม แต่ข้อเสียคือประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการออม ส่งผลให้ระดับการออมของประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญในการใช้ระบบการออมที่มีแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออม

คำถามคือ จะใช้แรงจูงใจที่ประชาชนเกิดการออม ทำให้ค้นพบว่า คนไทยชอบเรื่องเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ซื้อหวย ซื้อสลาก เป็นส่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ประชาชนบางส่วนซื้อหวยใต้ดิน ถูกหวยกิน เงินหาย แทนจะสนับสนุนเงินออมเงินหายและสร้างหนี้ รัฐบาลจึงใช้แรงจูงใจที่ประชาชนชอบซื้อหวย มาเป็นแรงจูงใจการออม จึงออกมาเป็น ‘สลาก กอช.’ หรือนโยบาย ‘หวยเกษียณ’ เป็นการออมภาคแรงจูงใจ ขั้นตอนซื้อสลาก ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. ใบละ 50 บาท รัฐบาลโดยการประสานงานกับสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล จะจับรางวัลทุกสัปดาห์ ทุกคนจะได้ลุ้น หากถูกรางวัลเงินรางวัลจะได้รับทันที โดยโอนเข้าบัญชีอัตโนมัติ แต่หากไม่ถูก จะถูกสะสมเป็นเงินออม และเมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินต้นคืน พร้อมผลตอบแทนที่ กอช.นำไปลงทุน ทุกบาททุกสตางค์

เผ่าภูมิ โรจนสกุล

รมช.คลัง กล่าวต่อไปว่า การซื้อหวยเกษียณ ทำให้เงินไม่หายและกลายเป็นเงินออม ขณะที่เงินรางวัลมาจากงบประมาณของรัฐบาล ปีละ 700 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถจูงใจให้ประชาชนออมเงินได้ 1.3 หมื่นล้านบาท ภายใน 10 ปี จะเท่ากับ 1.3 แสนล้านบาท

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์