‘ครูกายแก้ว’ ลัทธิบูชา VS ทุนนิยมสายมู

19 ส.ค. 2566 - 02:58

  • ‘ครูกายแก้ว’ ภาพสะท้อนทุนนิยมสายมู? เมื่อ ‘พรข้อนี้’ ฉันรอไม่ได้จะขอ ‘พระ’ ก็กลัวเห็นผลช้า แล้วหากมีทางลัดอื่นที่ช่วยได้ต้องแลกมาด้วยอะไร? ชวนวิพากษ์เรื่องนี้ไปพร้อมกันกับ ‘อ.ราม วัชรประดิษฐ์’ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องปี 2001

kru-kai-kaew-buddhist-commercial-capitalism-mutelu-SPACEBAR-Thumbnail
ถ้าพูดถึง ‘ครูกายแก้ว’ แล้ว เชื่อว่านาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อนี้ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางทั้งในแง่มุมของความเชื่อ และข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ รวมถึงแง่มุมเชิงธุรกิจที่หากินกับความเชื่อของคน โดยเฉพาะ ‘จตุรงค์ จงอาษา’ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย โดยมองว่า ‘ครูกายแก้ว’ คือ ‘ลัทธิใหม่’ และเป็น ‘ธุรกิจเพียวๆ’ ส่วนลัทธินี้จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป  

ส่วนคำตอบของคำถามปลายเปิดนี้จะมีผลลัพธ์อย่างไร แน่นอนคงต้องรอให้ ‘เวลา’ เป็นผู้เฉลย แต่ในมุมองของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการพระเครื่องอย่าง ‘อ.ราม วัชรประดิษฐ์’ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องปี 2001 ที่ร่วมพูดคุยกับผู้เขียนในเรื่องนี้ มองว่าความยั่งยืนทางความเชื่อของ ‘ครูกายแก้ว’ ในสังคมไทย หากจะให้ยืนยาวเหมือนเกจิอาจารย์ดังหลายๆ ท่าน คงเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยรูปลักษณ์ที่ดูน่ากลัว ขัดต่อบริบทของสังคมไทยที่มองว่า ‘สิ่งที่เคารพ’ ต้องมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม และมีที่มาที่ไปชัดเจน แม้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกกังขาในตัวของ ‘ครูกายแก้ว’ แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเชื่อและศรัทธาด้วยใจไม่ใช่มองแค่รูปลักษณ์ และต่อให้ ‘ครูกายแก้ว’ หายไปจากกระแสสังคมแล้ว เชื่อว่าจะมี ‘รูปบูชา’ ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา  

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ ‘ความยั่งยืนทางความเชื่อ’ ดำรงอยู่ท่ามกลางกาลเวลาที่ผันเปลี่ยนไปได้ยาวๆ ‘อ.ราม’ มองว่ามี 3 ปัจจัย คือ ความผูกพันระหว่างคนไทยกับศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาประจำชาติ, การสร้างเรื่องราวให้กับ ‘รูปบูชา’ นั้นๆ เป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง และการใช้กลไกตลาดให้เป็น ยกตัวอย่างเช่น ‘จตุคามรามเทพ’ เครื่องรางของขลังที่เคยเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมของคนไทย ที่มูลค่าตลาดกว่า 10,000 ล้านบาท อยู่ๆ ถึงหายไป นั้นเป็นเพราะตอนแรกมีจำนวนน้อย แต่ความต้องการของคนสูง ต่อมาพอมีของเยอะขึ้น แต่ความต้องการหยุดลงจึงทำให้ราคาตก และไปต่อไม่ได้  

เเต่ ‘รูปบูชา’ บางอย่างยังคงอยู่ เช่น ‘หลวงปู่ทวด’ เหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะนอกจากสตอรี่ที่เล่าขานถึงบารมีกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีประวัติที่มาชัดเจนแล้ว ยังมีการผลิตแต่ละรุ่นในจำนวนที่จำกัด ทำให้ยิ่งเวลาผ่านไปความต้องยิ่งเพิ่มขึ้น  

‘อ.ราม’ ยังมองว่าปรากฎการณ์เรื่อง ‘ครูกายแก้ว’ ยังสะท้อนถึงความเชื่อและความศรัทธาของสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะแม้จะเป็นสังคมพุทธ แต่ในทางความเชื่อ ‘พระ’ เป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งกิเลสแล้ว การขอพรต่างๆ จึงอาจเห็นผลช้ากว่า ถ้าทำไม่ดี ขอไม่ดี คงไม่ได้เช่นกัน จึงทำให้คนบางกลุ่มกันไป ‘ศรัทธา’ เรื่องอมนุษย์ ที่เป็น ‘บุคลาธิษฐาน’ (personification) หรือรูปลักษณ์ที่เกิดจากจิตนึกคิด หรือมีที่มาจากประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วรรณคดี หรือตามคำบอกเล่า ที่อาจช่วยให้พรสำเร็จเร็วขึ้น แต่คนบางกลุ่มก็เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากความเชื่อ ด้วยการสร้างสตอรี่ให้กับ ‘บุคลาธิษฐาน’ นั้นๆ ขึ้นมาแล้ว แล้วกล่าวอ้างว่าขอแล้วได้ผล สร้างสถานที่ให้คนมากราบไหว้จนเกิดเป็นอาชีพและธุรกิจที่หาประโยชน์จากความเชื่อ 

“เมื่อก่อนสร้างด้วยแรงจิตที่ศรัทธาอย่างมุ่งมั่น และหวังผลทางธรรมที่เกิดขึ้นในโลกหน้าเป็นหลัก แต่ปัจจุบันไม่ได้สนใจโลกหน้าแล้ว เพราะโลกหน้าไม่รู้จะถึงตอนไหน แต่ตอนนี้ชีวิตลำบากเหลือเกินขอให้พ้นทุกข์ พ้นภัย พ้นโศก ร่ำรวยเงินทอง มีสุขก่อน”

ขณะที่ข้อมูลจาก บริษัท Lucky Heng Heng ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสายมู ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของคนไทยเมื่อช่วงปี 65 พบว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคน หรือ คิดเป็น 75 % ของประชากรทั้งหมด มีความเชื่อในเรื่องดวง สิ่งลี้ลับที่มีพลังเหนือธรรมชาติ และเครื่องรางของขลังต่างๆ ประกอบกับข้อมูลจาก ข่าวสด ที่รายงานว่า เงินหมุนเวียนในตลาดพระเครื่องเฉพาะในประเทศไทย มีมูลค่านับพันล้านบาท ยังไม่รวมตลาดพระเครื่องออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าอาจมีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้านบาท ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีกลุ่มคนหวังเข้าสวมบทเป็นนักแสวงโชคในตลาดนี้   

แต่ความเชื่อและความศรัทธาที่เป็นรูปแบบ ‘พุทธพาณิชย์’ แบบนี้จะเป็นคำตอบของการแสวงหาการดับทุกข์จริงๆ หรือไม่นั้น คงเป็นคำถามปลายเปิดที่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์