‘การคุ้มครองแรงงาน’ นับเป็นเรื่องที่ ‘คนทำงาน’ อย่างเราๆ ย่อมคิดถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะนอกจากที่ ‘คนวัยทำงาน’ จะต้องเลี้ยงดูตัวเองให้ได้แล้ว ‘พวกเขา’ ยังต้องมีหน้าที่ดูแลบุตรหลานและผู้สูงอายุในครอบครัว ดังนั้น ‘กฎหมายคุ้มครองแรงงาน’ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในกลุ่มคนทำงาน
เรื่องนี้เอง ทำให้ ‘พรรคก้าวไกล’ เล็งเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังบังคับใช้ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะสภาพการณ์ที่ขณะนี้มีผู้ใช้แรงงานมากกว่า 30 ล้านคนในตลาดแรงงานไทย ต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
‘พรรคก้าวไกล’ จึงเสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ โดยวางเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรอง และเพิ่มเวลาเรียนรู้สำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาตนเอง สอดรับกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้หลักการสำคัญดังต่อไปนี้

1. เปลี่ยนนิยาม ‘ลูกจ้าง’
เพิ่มขยายขอบเขตของบทนิยามให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ที่ให้หมายความถึงผู้รับจ้างซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาใดๆ ทั้งปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งอาชีพ ‘ไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ หรือแรงงานอิสระ’
2.เพิ่มนิยามคำว่า ‘การจ้างงานรายเดือน’
ซึ่งเป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน รวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด โดย 1 เดือน หมายถึงเดือนจำนวนวันตามปฏิทิน
3.ห้ามเลือกปฏิบัติ
แก้ไขเพิ่มเติมให้การจ้างงานเท่าเทียมทุกด้าน โดยนายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แสดงออกถึงการกีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิในเรื่องความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง
4.ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์
เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมกันแล้วในหนึ่งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง) เว้นแต่งานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง รวมแล้วหนึ่งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง (จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 42 ชั่วโมง)
ซึ่งในกรณีที่ได้ตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ในชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน
5.มีวันหยุดประจำสัปดาห์
นายจ้างต้องให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ โดย 1 สัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน (จากเดิมกำหนดไม่น้อยกว่า 1 วัน) นอกจากนี้วันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน (จากเดิมกำหนดไว้ 6 วัน)
6.เปลี่ยนรายวันเป็น ‘รายเดือน’
เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานประกอบการที่จ้างงานรายวันและรายเดือน โดยนายจ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด ไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะการจ้างงานที่มีความเฉพาะ ไม่ต่อเนื่อง งานก่อสร้าง หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลา โดยจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับลูกจ้างรายเดือน
7.ลาหยุด 10 วันต่อปี ‘สะสมได้’
ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน (จากเดิมกำหนดไว้ 1 ปี) มีสิทธิ์ลาหยุดพักพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 10 วันต่อปี (จากเดิมกำหนดไว้ 6 วัน) ส่วนลูกจ้างที่ยังทำงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามสัดส่วนได้
8.ลาดูแล ‘ผู้ป่วย’
เพิ่มบทบัญญัติกำหนดให้ ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิด ซึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลทางร่างกายและจิตใจ ปีละไม่เกิน 15 วัน
ทั้งนี้ การลาไปดูแล ‘ผู้ป่วย’ ดังกล่าว ตั้งแต่ 5 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือใบรับรองของสถานพยาบาลของทางราชการ หรือใบมรณบัตรของบุคคลที่ลูกจ้างลาไปดูแลได้
9.มีพื้นที่ปั๊มนมในออฟฟิศ
เพิ่มบทบัญญัติให้นายจ้างต้องจัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้ลูกจ้างสามารถ ‘ให้นมบุตรหรือปั๊มนมในที่ทำงาน’ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงของการทำงาน ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีหลังคลอด
10.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอัตโนมัติ
แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมต่อค่าครองชีพและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องกำหนดอัตราค่าจ้าง โดยอัตราการเพิ่มประจำปีไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ ‘อัตราเงินเฟ้อ’ ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นอยู่กับว่าอัตราใดมากกว่า
ประโยชน์ที่จะได้รับ?
เป้าหมายของพรรคก้าวไกลนอกจากจะต้องการให้คนทำงานได้ทำงานในแบบฉบับ ‘Work Life Balance’ แล้วนั้น พวกเขายังได้วิเคราะห์ผลกระทบโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายในหลายด้าน โดยด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาเรียนรู้สำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาตนเอง ส่วนด้านสังคม ถือเป็นการส่งเสริมให้การจ้างงานมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เนื่องจากการขยายกรอบให้การจ้างงานและการปฎิบัติต่อลูกจ้างต้องไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลของความแตกต่าง โดยที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดการทุจริต แต่อาจต้องไปปรับแก้บทบัญญัติในกฎหมายอื่นที่ว่าว่าด้วยการคุ้มครองสวัสดิการลูกจ้างและประโยชน์ทดแทนควบคู่ไปอย่างเป็นระบบอย่าง พระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2533