เชื่อว่า หลายคนยังคงสะเทือนใจกับเหตุ ‘เยาวชน’ คนหนึ่งที่มีอายุเพียง 14 ปี ก่อเหตุยิงกลางห้างดังจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
เรื่องนี้ ‘รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี’ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เกิดประเด็นที่ค้างคาใจอย่างยิ่ง นั่นก็คือ ‘อาวุธปืน’
รศ.นพ.สุริยเดว หรือ ‘หมอเดว’ ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใด ‘อาวุธปืน’ จึงหาง่าย พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ครอบครองได้ หากเป็นของผู้ใหญ่ ก็ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยตอบข้อสงสัยนี้ ขณะที่กลไกภาครัฐ ควรเอาจริงกับการลงทะเบียนอนุญาต พร้อมควบคุมเคร่งครัด โดย ‘ไม่สนหัวโขนใดๆ’ เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งผู้ครอบครองรับผิดและรับชอบกับการมีไว้ตามกฎหมายและจะเก็บรักษาอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ รวมทั้งการหาซื้อในตลาดออนไลน์
‘หมอเดว’ ยังตั้งคำถามไปถึงมาตรการความปลอดภัยที่สร้างความประหลาดให้กับเขา นั่นก็คือ เหตุใด ห้างดังจึงหลุดการตรวจสอบอาวุธไปได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ทุกแห่งที่เป็นแหล่งชุมชนน่าจะต้องตรวจสอบให้ดี
อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมจับจ้องคือ ‘เกม’ เรื่องนี้ หมอเดว มองว่าเป็นประเด็นที่หนักใจ เนื่องจากทุกวันนี้ เกมผุดขึ้นมาจำนวนมาก ยืนยันว่า ไม่ได้กล่าวโทษว่า ‘เกม’ เป็นสาเหตุ แต่ ‘เกม’ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนที่ทำให้สารเคมีในร่างกายเสียสมดุลจากพฤติกรรมเสพติด เกมสร้างโลกเสมือนที่ดึงดูด ‘เด็ก’ เข้าหา โดยที่วัดดวงกับเด็กที่เปราะบางสภาวะจิตใจที่ยากแก่การควบคุมตนเอง จนอาจเป็น ‘จุดหัวเลี้ยว’ สู่ ‘โรคเสพติดเกม Game addiction’
3 สัญญาณของ ‘โรคติดเกม’
หมอเดว บอกว่า มี 3 สัญญาณง่ายๆ ที่ทำให้เล่น ‘เกม’ จนเสียวิถีชีวิต คือ การเล่นหนักแรงถี่ อินกับอารมณ์มาก และเมื่อถูกขัดใจ หรือไม่ได้เล่น เกิดอาการลงแดงเสียสติ ทำร้ายได้ แม้แต่ ‘พ่อแม่ตัวเอง’
ความใกล้ชิดของครอบครัว มีผลหรือไม่?
‘หมอเดว’ ยังเล่าถึงประเด็นกลุ้มใจคือ ‘ครอบครัวกับความใกล้ชิด’ ที่มองว่า น่าจะคอยประคับประคอง ด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม วิชาชีวิต ทักษะการบริหารอารมณ์ และกิจกรรมมากกว่าผลการเรียน แต่ลืมมุ่งเน้น ‘ธรรมชาติของเด็ก’ กับการอยู่ร่วมในสังคม Social Competency ขณะที่สื่อมวลชน ควรนำเสนอข่าวสารอย่างระมัดระวัง ทั้งความอ่อนไหวเปราะบางของทั้งฝ่ายที่เสียหายและฝ่ายที่กระทำ
หมอเดว ยังเสนอประเด็นแก้ไข 4 ระยะด้วยกัน ประกอบด้วย
‘ระยะฉุกเฉิน’ คือการดูแลสภาพจิตใจทุกฝ่าย รวมทั้งสังคมที่หวั่นไหวต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การหยุดการกระทำซ้ำผ่านทั้งตัวผู้กระทำ คนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง และในโลกเสมือน Social Media
‘ระยะสั้น’ คือสหวิชาชีพกับการดูแลรักษา เยียวยา ทั้งด้านการรักษา กายใจสังคม ทั้งรับและรุก
‘ระยะกลาง’ ครอบครัวพลังบวก ที่มีระบบพี่เลี้ยงในชุมชนตนเอง
‘ระยะยาว’ คือ ระบบการศึกษา ที่ช่วยคืนเด็กกลับสู่ความเป็นธรรมชาติ เรียนรู้วิชาชีวิต ทักษะชีวิตต่างๆ เลิกระบบ ‘แพ้คัดออก’ ให้ชีวิตเด็กเข้าอุตสาหกรรมสายพานการศึกษา สร้างความเครียด สร้างค่านิยมผิดๆ ให้เขามีโอกาสทำงานกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ รู้เท่าทันภยันตราย ขณะเดียวกัน พ่อแม่ต้องเข้าใจลูกและเป็นแบบอย่างที่ดี มีทักษะการบริหารจัดการอารมณ์ การให้บ้านอบอุ่นและปลอดภัย เลิกค่านิยม ‘มุ่งเน้นความเก่ง’และเลิกฝึกลูกกลายเป็น ‘หุ่นยนต์เดินได้’
นอกจากนี้ ชุมชนต้องมีการเฝ้าระวัง มีทักษะขอความช่วยเหลือทันที มีทักษะการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาทางจิตใจ ขณะที่รัฐบาลช่วยบริหารทะเบียนการควบคุม ‘อาวุธ’ ให้มีเฉพาะที่จำเป็นอย่างเข้มงวดจริงจังในกฎหมาย เอาผิดกับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย โดยใช้อาวุธไปทำร้ายผู้อื่นอย่าง ’เด็ดขาด’
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาที่เสนอโดย ‘รศ.นพ.สุริยเดว’ เท่านั้น เชื่อว่า ยังมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอีกหลายคน ที่พร้อมจะถอดบทเรียนจากเหตุสลดครั้งนี้ เพื่อป้องกันการ ‘ซ้ำรอย’ อย่างแน่นอน
