รักต้องเลือก? ‘รองประธานสภาฯ’ และ ‘ผู้นำฝ่ายค้านฯ’

30 ส.ค. 2566 - 06:21

  • ‘รักต้องเลือก’ ที่พรรคก้าวไกลเผชิญ เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องตัดสินใจ ระหว่างตำแหน่ง ‘รองประธานสภาฯ’ กับ ‘ผู้นำฝ่ายค้านฯ’ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนที่ทำให้ ‘ก้าวไกล’ ต้องติดล็อก ขณะที่ ‘พิธา’ เองก็ติดหล่มคดีหุ้นสื่อที่ยังไม่รู้ชะตากรรม เช่นนี้แล้ว ทางเลือกใดจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

Love-Choice-of-Moveforword-do-not-know-finally-answera-SPACEBAR-Thumbnail
“สองรักฉันรับไม่ไหว เธอมีหนึ่งใจให้ไปตั้ง สองรัก ทั้งเขาและฉัน ฝันไปหรือเธอ”  

บางช่วงบางตอนจากเพลง ‘สองรัก’ ของวง Zeal สะท้อนถึงความรักที่ ‘ต้องเลือก’ ระหว่างคนสองคน หากลองมองดูลึกๆ จะคล้ายกับสถานการณ์การเมืองบางอย่างในเวลานี้ ที่ยังดูงุนงงสับสนว่า ‘เขา’จะเลือกอะไร 

‘เขา’ ในที่นี้ หมายถึง ‘พรรคก้าวไกล’ ที่เวลานี้ ถูกผลักไปอยู่ฝั่งฝ่ายค้านแบบเต็มตัวแล้ว ซึ่งตามปกติแล้ว ด้วยเสียง สส.ที่มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะได้รับบทบาทสำคัญ คือ ‘ผู้นำฝ่ายค้านฯ’ ไปโดยปริยาย 

แต่การเมืองไทยขณะนี้ ไม่ได้ง่ายแบบนั้น เมื่อแรกเริ่มเดิมที ‘ก้าวไกล’ หมายมั่นปั้นมือจะเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล จึงส่ง ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ หรือ ‘หมออ๋อง’ นั่งตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง แต่สุดท้าย นอกจาก ‘ก้าวไกล’ จะไปไม่ถึงฝั่งแล้ว ยังถูกแรงผลักให้ออกมาอยู่อีกฟาก จนกลายเป็น ‘พรรคฝ่ายค้าน’ ที่มีเสียง สส.ในสภาเยอะที่สุด  

แต่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดอะไรที่ง่ายแบบนั้น ด้วยมาตรา 106 กำหนดไว้ว่า หลัง ครม.เข้าบริหารประเทศ จะต้องแต่งตั้ง สส. ผู้เป็น ‘หัวหน้าพรรค’ ที่มีสมาชิกมากที่สุดเป็น’ผู้นำฝ่ายค้าน’ แต่สำคัญมาก ที่พรรคนั้นต้องไม่มีสมาชิก เป็นรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ‘รองประธานสภาฯ’ 

แล้ว ‘ปดิพัทธ์’ จะต้องลาออกหรือไม่? 

เป็นคำถามที่ชวนสงสัยมานานเกือบเดือน แต่ ‘เจ้าตัว’ ก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไป ไม่ลาออกจากตำแหน่ง ‘รองประธานสภาฯ’ เช่นเดียวกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ย้ำชัดเจนว่า ไม่ต้องการตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ และจะต้องเตรียมตัวเพื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

ด้วยเหตุนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ถึงกับต้องเอ่ยปากว่า พรรคก้าวไกลต้องแจ้งรัฐสภาให้ชัด หากต้องการดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ เพื่อสละสิทธิ์ให้กับพรรคฝ่ายค้านที่ได้สส.ลำดับรองลงมา เป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ 

เมื่อพิจารณาดูพรรคลำดับรองลงมา ก็คงหนีไม่พ้น ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่มี สส.อยู่ 25 คน แต่ศึกภายในพรรคก็วุ่นวาย ทำให้การเลือก ‘หัวหน้าพรรค’ ยืดเยื้อมาจนถึงเวลานี้ ที่ยังไม่มีหัวหน้าตัวจริงเสียงจริงเสียที ก็อาจทำให้พลาดตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ไปได้ 

ขณะที่ ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ฝ่ายค้านที่มี สส.ลำดับถัดมา ก็เป็นไปได้ยากที่จะมีคนนั่งตำแหน่งผู้นำ เมื่อ ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ หัวหน้าพรรค ได้ลาออกจาก สส.ไปเสียแล้ว เท่ากับ คุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 

ส่วน ‘พรรคเป็นธรรม’ ที่มี สส.หนึ่งเดียว คือ กัณวีร์ สืบแสง ก็ไม่มีตำแหน่งหัวหน้าพรรคเช่นกัน 

เช่นนี้แล้ว ปลายทางของ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จะไปสุดที่ตรงไหน? 

หากย้อนเรื่องราวกลับไปที่ ‘พรรคก้าวไกล’ เรื่องอาจจะดูจบลงได้ง่าย แค่ ‘หมออ๋อง’ ลาออกจากตำแหน่ง ‘รองประธานสภาฯ’ แล้วให้ ‘พิธา’ ครอง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ แต่อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น แม้หมออ๋องจะลาออก แต่ ‘พิธา’ อาจจะพลาดอีกตำแหน่งก็เป็นได้ เนื่องจาก ‘พิธา’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ITV ซึ่งหากท้ายที่สุด ‘พิธา’ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.อย่างเป็นทางการจริงๆ ก็จะหมดสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้านทันที นี่ก็ทำให้เกิดอีกหนึ่งสมการขึ้นมา ก็คือ การเปลี่ยนตัว ‘หัวหน้าพรรค’ เพื่อดำรงตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ที่อาจจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้ แต่พรรคก้าวไกลจะทำหรือไม่? 

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ที่หลายฝ่ายยืนยันว่า ‘ต้องมี’  

แต่ ‘วิษณุ เครืองาม’ กูรูด้านกฎหมายของรัฐบาลบิ๊กตู่ ออกมาฉายภาพให้เห็นอีกหนึ่งทางเลือกว่า การเมืองไม่จำเป็นต้องมี ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หากจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านก็สามารถยื่นญัตติได้ เพียงแต่ตำแหน่งดังกล่าว มีความสำคัญในบางเรื่อง เช่น การได้พูดคนแรกในการเปิดอภิปรายบางอย่าง ที่สำคัญคือ ยังอยู่ในองค์ประกอบกรรมการสรรหาองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ต้องมีผู้นำฝ่ายค้านอยู่ด้วย หากไม่มีผู้นำฝ่ายค้านก็จะถือว่าขาดไป 1 ตำแหน่ง  

แต่ดูเหมือนว่า ‘ประธานรัฐสภา’ ก็ยืนยันว่า จะต้องมีตำแหน่งนี้ให้ได้ แล้วบทสรุปจะเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกล จะต้องเลือกใช่หรือไม่? 

ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากของพรรคก้าวไกลที่จะต้องเผชิญว่า รักครั้งนี้ ต้องเลือก ‘ใคร’ ระหว่าง ‘รองประธานสภาฯ’ หรือ ‘ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร’ เพราะหากจะ ‘เก็บเธอไว้ทั้งสองคน’ ก็คงไม่ได้ 

เช่นนั้น รักครั้งนี้ อาจลงเอยเหมือนบทเพลง ‘อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน’ ของศิลปินทาทา ยัง ที่บอกทิ้งท้ายไว้ว่า ‘ทำอย่างนี้ ที่สุดอาจไม่เหลือใคร’ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์