จำได้ไหม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ นโยบายที่ ‘พท.’ เคย Say Yes!

19 มี.ค. 2568 - 12:13

  • จำได้ไหม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ นโยบายที่ ‘พท.’ เคย Say Yes! เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หวั่นบุหรี่ไฟฟ้าถูกดองเป็นของผิดกฎหมายต่อ หลังรัฐบาลส่อกลับลำนโยบายเดิมที่เคยหาเสียงไว้

maris-ecst-19-mar-2025-SPACEBAR-Hero.jpg

คำกล่าวที่ว่า เจอแล้วผู้หญิงที่ทำให้เลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้สักที! กลายเป็นมุกตลกร้ายของชาวสายควัน ที่ออกมาระบายความรู้สึกผ่านโซเชียลด้วยอารมณ์ขันขื่นๆ เพื่อกลบความรู้สึกจำยอมต่อมามาตรการของภาครัฐ ที่ขณะนี้กำลังเร่งกวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้าอย่างหนักหน่วง จนทำให้การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าใต้ดินทำได้ยากขึ้น พร้อมกับคำถามที่ลอยมาตามลมว่า ทำไมรัฐบาลถึงเพิ่งมาเอาจริงในตอนนี้?

เมื่อย้อนดูข่าวในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ภาครัฐมีการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมมา หลังมีรายงานข่าวพบเยาวชนได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะเคสเด็กหญิงชั้น ป.6 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ ที่ปอดเสียหายเกือบทั้งหมด หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศชัดเจนว่าจะปราบบุหรี่ไฟฟ้าให้สิ้นซาก รวมถึงดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้นำเข้าและผู้ขายทั้งรายเล็กและรายใหญ่อย่างจริงจัง 

โดยเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) นายกรัฐมนตรี ถึงกับลงพื้นที่ไปติดตามและแถลงผลการจับกุมตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่ ที่โกดังเก็บสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ด้วยตัวเอง พร้อมระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือการนำสารเสพติดไปผสมกับบุหรี่ไฟฟ้า

ing-shinawatra-18-mar-2025-SPACEBAR-Hero.jpg
Photo: แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการจับกุมตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่ ที่โกดังเก็บสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี (18 มี.ค. 68)

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ นโยบายที่ ‘เพื่อไทย’ เคย Say Yes! 

ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งปี 66 มีสื่อรายการหนึ่ง ได้ถามความเห็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง ในหัวข้อว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า พรรคไหน Yes or No’ ปรากฎว่า แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ได้ตอบว่า ‘Yes.’ เช่นเดียวกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ที่ตอบว่า ‘Yes.’ เช่นกัน ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ได้ตอบ ‘No.’

“ถ้าเรามองในแง่ของรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ก่อนที่จะให้อะไรถูกกฎหมายมันก็จะมีการปราบปรามอย่างรุนแแรง เพื่อให้หลาบ แล้วก็เอาขึ้นมาถูกกฎหมาย เพื่อควบคุม มันก็มีมุมนี้อยู่เหมือนกัน”

มาริษ กรัณยวัฒน์ กล่าว

เป็นมุมมองของ ‘ต่อมาริษ กรัณยวัฒน์’ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และแอดมินเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มีต่อข่าวการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าของภาครัฐในตอนนี้ พร้อมยอมรับรู้สึกแปลกใจต่อท่าทีของรัฐบาลว่าเหตุใดถึงเพิ่งมาเอาจริงในตอนนี้ เพราะในการประชุมกรรมาธิการฯ ที่สภา ก็พบว่ามี สส. ตำรวจ และทหาร สูบบุหรี่ไฟฟ้ากันหลายคน

มาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า.jpg
Photo: ‘ต่อ - มาริษ กรัณยวัฒน์’ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และแอดมินเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

มาริษ ยังเล่าว่า 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ๆ ทางเครือข่ายเคยเรียกร้องให้รัฐบาลนำบุหรี่ไฟฟ้ามาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการผลิต การนำเข้า และการจำหน่าย เพื่อลดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงกับผู้ที่ไม่สูบ แต่การเรียกร้องของเครือข่ายในขณะนั้น กลับถูกโจมตีว่าเราต้องการความเป็นเสรีและไม่ยอมถูกควบคุม 

ดังนั้น การที่ภาครัฐมาไล่จับบุหรี่ไฟฟ้าในตอนนี้จึงป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมองว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดบุหรี่ไฟฟ้าให้หมดไป เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน หากไม่รีบนำเรื่องนี้ขึ้นมาอยู่บนดินและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ปัญหานี้ก็จะยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“ถ้าเราตัดเรื่องเด็กออกไปก่อน ในกลุ่มผู้ใหญ่ ในกลุ่มผู้บรรลุนิติภาวะแล้วที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แล้วก็โดนจับมากๆ หาซื้อของใช้กันไม่ได้ หรืออะไรก็แล้วแต่หันกลับไปสูบบุหรี่มวน ซึ่งรายงานทั่วโลกก็บอกอยู่ว่าบุหรี่มวนอันตรายกว่าบุหรี่ไฟฟ้า แต่โอเค สุดท้ายแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ซื้อบุหรี่มวนที่ถูกกฎหมายก็หันไปหาบุหรี่เถื่อนเช่นกัน”

มาริษ กรัณยวัฒน์ กล่าว

จ่อเสนอแนวทางควบคุม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เข้าสภาพรุ่งนี้ (20 มี.ค.)

ส่วนความคืบหน้าการผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย มาริษ เปิดเผยตอนนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ บุหรี่ไฟฟ้า ศึกษาข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) จะมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมได้รับทราบ และส่งเรื่องต่อไปให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ ได้เสนอแนวทางการควบคุมไว้ 3 แนวทาง 

  1. กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทผิดกฎหมาย ผ่านการแก้ไขกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือการตรากฎหมายใหม่ เพื่อห้ามการผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง และใช้บุหรี่ไฟฟ้า
  2. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products) โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจำกัดการนำเข้าและการใช้งานอย่างเข้มงวด
  3. ควบคุมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนภายใต้กฎหมายเฉพาะ เพื่ออนุญาตให้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย พร้อมควบคุมผ่านมาตรการภาษีและกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

มาริษ ยังมองว่า การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทำได้ง่ายกว่ากัญชา เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมถูกนำมาปรับใช้อยู่แล้ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มาริษ ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อ ส่วนรัฐบาลจะยื้อเวลานานแค่ไหน หรือจะทำอย่างไรต่อไป คงต้องรอดูอีกสักระยะ จากนั้นทางเครือข่ายจะกำหนดท่าทีอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป

480170088_1216676403161340_8946027361282900098_n (1).jpg
Photo: แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งช่วงปี 66

‘รัฐบาลผสม’ อุปสรรคพรรคเพื่อไทย?

ส่วนข้อสังเกตว่าแม้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แพทองธาร ชินวัตร จะเคย Say Yes. เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า แต่เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม และมีพรรคภูมิใจไทยที่เห็นต่างในเรื่องนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ การผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายจะทำให้ยากขึ้นหรือไม่ 

มาริษ ยอมรับว่า ถ้ามองในแง่การเมือง เรื่องนี้พูดยาก แต่เรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามีความต่างจากกัญชา เพราะการผลักดันกัญชาในตอนนั้น เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติรองรับ มันจึงเป็นสุญญากาศมาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัตติยาสูบอยู่แล้ว เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบอยู่แล้ว และสามารถออกประกาศกระทรวงขึ้นมาควบคุมเพิ่มเติมได้อยู่แล้วจึงมีความพร้อมมากกว่า 

สุดท้ายนี้ มาริษ ย้ำว่า เขาให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน แต่เรื่องนี้ควรเริ่มต้นจากการทำให้ถูกกฎหมายก่อน เพื่อที่จะนำไปสู่การวางมาตรการควบคุมในด้านอื่นๆ ต่อ แต่หากรัฐบาลยังดึงดันทำให้เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายต่อไป โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมแพล็กซ์ (Entertainment Complex) คงต้องเลิกคิดไปเลย เพราะนักท่องเที่ยวหลายคนก็สูบบูหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว ดั้งนั้นหากบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ความหวังที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวคงไม่ได้ผล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์