ประเด็นโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ยังคงถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน อย่างวันนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระกระทู้ถามสดเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์
ซึ่งไฮไลท์อยู่ในช่วงกระทู้ถามของ สส.พรรคก้าวไกล โดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ ได้ซักถามถึงรายละเอียดของผลการศึกษาบนข้อเท็จจริง เช่น สายการเดินเรือ การลดค่าใช้จ่ายในสายการเดินเรือที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนระหว่างแลนด์บริดจ์ เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา รวมถึงประมาณการเรือขนส่งที่จะใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ ตามผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผมฐานะฝ่ายค้าน ไม่ได้ค้านไปเรื่อย แต่จากการรับฟังข้อมูลไม่พบรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง แต่พบเป็นข้อมูลเพื่ออวยเท่านั้น และฝันใหญ่เท่านั้น จากผลการศึกษาพบว่ากการขนส่งจะเสียเวลา 7-10 วัน ที่จะขนย้ายสินค้าขึ้นลง และสายการเดินเรือต้องเพิ่มจำนวนเรือ 7-10 ลำ ถือว่ามีค่าใช้จ่ายและเสียเวลาที่มากกว่า ช่องแคบมะละกา และช่องทางเดินเรืออื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่จะบอกในความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ บอกว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า และเสนอให้ลดขนาดของโครงการและลงทุน รวมถึงผลระทบชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้รัฐบาลต้องการเพิ่มขนาด ข้อมูลทางธุรกิจไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขาย ซึ่งจะขายของหรือขายหน้าต้องรอดู
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
ส่วนฝ่ายรัฐบาลอย่าง มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ที่เป็นผู้ชี้แจงแทน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เนื่องจากติดภารกิจที่ต่างประเทศ ก็ตอบ สส.พรรคก้าวไกล ว่า จะผลักดันความฝันแลนด์บริดจ์ให้เป็นจริง และลงมือทำ พร้อมชี้ให้เห็นถึงการดำเนินโครงการช่องทางแลนด์บริดจ์ เพื่อลดการเสียเวลาและระยะทางขนส่ง จากที่ช่องแคบมะละกา มีความแออัด และมีปัญหาปล้นเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงการขนส่งสินค้าทางเรือจากประเทศจีน ไปออสเตรเลีย มีเพิ่มมากขึ้น แต่จีนตอนใต้ หลายพื้นที่ไม่ติดทะเล หากมีโครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้มีเรือตู้สินค้ามาที่แลนด์บริดจ์เพิ่มมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แม้ไม่ใช่ทุกเส้นทางการเดินเรือ แต่จากการศึกษา พบว่าเส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาว หากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น
อย่างสินค้าเทกอง ปูนซีเมนต์ หรือไม้ ที่ขนส่งโดยตู้สินค้า หากเข้ามาที่ท่าเรือระนองจะลดต้นทุนสินค้า และเมื่อมีเรือมากขึ้นจะทำให้เกิดการตอบโต ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่ นั้น ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุน ต้องเข้ามาศึกษาในการศึกษาของประเทศไทย ในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ ต้องกลับมาทบทวน
มนพร เจริญศรี

มนพร ยังตอบคำถามถึงการขนส่งสินค้าเทกอง และการขนส่งน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในผลการศึกษาหรือไม่ ว่า เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ไม่ได้บอกว่าจะนำสินค้าประเภทใดที่จะเข้าสู่เส้นทาง ซึ่งประเด็นการสร้างโรงกลั่นหรือท่อน้ำมัน ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยตอบคำถามในกรรมาธิการฯ แล้ว หากจะมี ต้องมีการศึกษา ทั้งนี้ ในรายละเอียดของสินค้านั้น ขอชี้แจงว่าเป็นเพียงผลการศึกษาที่ยังไม่เสร็จสิ้น หากศึกษาแล้วเสร็จ จะรายงานในทุกมิติ
สุรเชษฐ์ จึงถามย้อนว่า เมื่อผลศึกษายังไม่ชัดเจน ทำไมถึงไปเร่ขายต่างประเทศแล้ว ขณะที่การศึกษาอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจะยกที่ให้นายทุนกี่ไร่ และนานเท่าไร นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ ในแง่นโยบายทางการเมืองด้วย พร้อมชี้ให้เห็นว่า ควรคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่ มากกว่าการขายฝันโครงการใหญ่ ที่พบว่าหลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนเดือดร้อน โดยขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ มีความคุ้มค่าและโปร่งใส มากกว่าอยากทำ
ขณะที่ มนพร ยอมรับว่า ทุกโครงการมีผลกระทบ จึงใช้กลไกของสภาฯ ผ่านกรรมาธิการฯ ที่ประกอบด้วยทุกพรรคการเมือง เพื่อพิจารณาศึกษา ประชุมกว่า 10 ครั้ง และลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากนั้น เมื่อศึกษาแล้ว จะนำมาให้สภาฯ พิจารณา และ สส.สามารถให้ความเห็นได้ หากส่วนใหญ่เห็นชอบให้ รัฐบาลจะพิจารณาว่ามีสาระทำโครงการหรือไม่ หากตั้งโครงการและจะทำ ต้องมาขอความเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หากพบว่าของบฯ สูงเกินไป สามารถอภิปรายปรับลดได้
ก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดใน 10 ส่วน ยืนยันว่าไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ 84% สถานะประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อน และการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ ในข้อห่วงใยของฝ่ายค้าน จะนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย
มนพร เจริญศรี