ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงนประมาณ พ.ศ.2568 เกี่ยวกับ ‘งบฯ ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล’ โดยชี้ให้เห็นว่า งบฯ ส่วนนี้ถูก ‘ละเลย’ (ignore) มานานแล้ว
พร้อมเปิดภาพกราฟิก ซึ่งเป็นแผ่นป้ายโฆษณาที่อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนระบุว่า เท่าที่รวมได้จากทุกกระทรวง ทุกกรม รวมกัน 2,945 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนที่มีงบประมาณส่วนนี้ 3,200 ล้านบาท
โดยแยกเป็น 2 รูปแบบ แบบแรก เป็นงบประชาสัมพันธ์ทางตรง ระบุชัดในชื่อโครงการเลยว่า นำไปใช้ในภารกิจประชาสัมพันธ์
แบบที่ 2 เป็นงบประมาณที่ไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ซ่อนมาในคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น รณรงค์ เสริมสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก ปลูกฝัง หรือบางโครงการ ชื่อก็เดาไม่ออกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์
งบประมาณโฆษณาซ้ำซ้อนกัน เป็นเงินอย่างน้อยคือ 662 ล้านบาท ยกตัวอย่าง โครงการสื่อสารเพื่อรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด หน่วยงานที่ทำโครงการนี้ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ทำ ใช้งบฯ 38 ล้าน ‘กระทรวงศึกษาฯ’ ทำ ใช้งบฯ 23 ล้านบาท ‘กระทรวงยุติธรรม’ ใช้งบประมาณ 5 ล้าน และ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ ก็ใช้งบ 100 ล้าน ซึ่งชื่อโครงการต่างกัน แต่วัตถุประสงค์เหมือนกัน
ถ้ามีการคุยกันสักนิด ว่าภารกิจไหนใครทำ อย่างน้อยเราไม่ต้องจ่ายงบประมาณจำนวน 662 กว่าล้าน กับงานที่เหมือน ๆ กันแบบนี้ หากจำได้เมื่อต้นปีเคยมีคลิป จากอินฟลูฯ ท่านหนึ่งนำเสนอเรื่องราวของทหารชายแดน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่านี่ เป็นการโฆษณาจากกลาโหมหรือไม่ ซึ่งเงินก้อนนี้แหละค่ะ ที่เขียนไว้หลวม ๆ แบบนี้ จับตากันนะคะ ผลผลิตของมันเราจะได้เห็นการโฆษณาลักษณะนั้นอีกหรือไม่
ทั้งนี้ ขอตั้งคำถามว่าโครงการประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้ เป็นโครงการที่มีประโยชน์กับประชาชนโดยตรงจริง ๆ ใช่หรือไม่? หรือเป็นประโยชน์กับใคร?
พร้อมกล่าวถึงศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ (ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม) ว่า ในงบประมาณ 67 ได้รับไป 69 ล้านบาท ปีนี้ได้รับงบประมาณมาจำนวน 68 ล้านบาท จากผลงานที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับรัฐบาล ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ก็บอกว่า ตรวจสอบแล้วเป็นข่าวจริงแต่ไม่เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล
มีปรากฏการณ์ใหม่ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แก้ต่างให้พรรคการเมืองที่ถูกโจมตี ข่าวนั้นคือ พรรคเพื่อไทยนำ ปตท. เข้าแปรรูป ขายหุ้นหมดภายใน 3 นาที ซึ่งทางศูนย์ฯ ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ หลักการสำคัญข้อหนึ่ง ที่ศูนย์เคยประกาศไว้เองคือ ความเป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นอิสระ มุ่งเน้นประโยชน์ ต่อประชาชน ขนาดรัฐบาลที่แล้ว ยังไม่เคยใช้ AFNC แก้ต่างให้พรรคของรัฐมนตรี DES เลย แม้แต่ครั้งเดียวเลยค่ะ
อีกหน่วยงานสำคัญคือ กรมประชาสัมพันธ์ ที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีการของบประมาณทั้งหมด 2,496 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 82 ล้านบาท เป็นงบบุคลากรไปแล้ว 38 % และยังมีงบลงทุน 540 ล้านบาท ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์น่าจะเป็นเป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบงบประมาณแต่ละปีกับผลงาน ชัดเจนว่าสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์เล็ก ๆ กลับทำได้ดีกว่า
นอกจากนี้ งบฯ ที่สำคัญของกรมประชาสัมพันธ์ ในการ PR ภาครัฐ แต่พูดตามตรง ต่อให้กรมประชาสัมพันธ์ได้งบประมาณก้อนนี้มากกว่าเดิม 10 เท่า หรือ 100 เท่า ก็ไม่สามารถสร้างภาพลักษณ์เชิงกรุกในเวทีต่างชาติ ให้เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นได้
ภคมน ตั้งคำถามว่า การบุกเปิดยอดบัญชี-ยอดเพจ จำนวนเยอะ ๆ ทำไปเพื่ออะไร? ยุทธศาสตร์การเปิดเป็นร้อย ๆ เพจนี้ จะทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นจริงหรือไม่? หรือเราควรมียุทธศาสตร์อื่นที่ดีกว่านี้ การเปิดเพจจำนวนมาก ๆ นั้น ไม่ได้ทำให้คนสนใจมากขึ้น มีแต่จะใช้งบประมาณมากขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล
ดิฉันไม่ได้นั่งเทียนวิจารณ์ด้วย ถ้าไม่เชื่อก็ลองเปิดดูเรตติ้งทีวีดิจิทัลที่เขาวัดจากทั้งคนที่ดูผ่านทีวีและอินเตอร์เน็ต ช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ในอันดับ 19 รองบ๊วยจากทั้งหมด 20 ช่อง ก็คงจะเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นว่ายังทำงานไม่เข้าเป้า
ภคมน ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีเพจ NBT connext มีการลงข่าว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นเกี่ยวข้องกับภารกิจรัฐตรงไหน? ทั้งนี้ หากมีการวิจารณ์ NBT connext ลงข่าวให้พรรคก้าวไกล ก็จะถามคำถามเดิมว่า เป็นภารกิจของรัฐตรงไหน
มีโครงการหนึ่ง จ้างเหมาบริการผลิตข้อมูลข่าวสาร 39 ล้านบาท โดยใช้บุคลากร พิธีกรผู้ดำเนินรายการจำนวนหนึ่งจากบริษัทที่ปิดตัวลง ย้ายมาทำให้ NBT จนประชาชนตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสม แต่ตอนนี้ ที่กรมประชาสัมพันธ์ประสบปัญหาก็คือ พยามจะใช้บทบาทตัวเองเพื่อเป็นปากเป็นเสียงทางการเมืองให้รัฐบาล มากกว่าการมุ่งเน้นงานสื่อสารเพื่อประชาชน และช่องทางแต่ละช่องทางที่ท่านหมายมั่นปั้นมือ ล้วนไม่มีคนดู เรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สู้สื่ออื่นไม่ได้เลย
ภคมน คาดหวังว่า รัฐบาลและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ จะแก้ไข ปรับปรุง ให้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐโปร่งใส
เลิกซุก เลิกซ่อน เลิกซ้อนเสียที และด้วยความปรารถนาดี การสื่อสารคือปลายทาง แต่ต้นทางที่จะทำให้การสื่อสารของรัฐบาลได้ผลคือ ฝีมือการบริหาราชการแผ่นดิน ความสง่างามทางการเมือง