นับถอยหลัง ‘พรรคก้าวไกล’ คดียุบพรรค เซ่นพิษหาเสียงแก้ ม.112 ล้มล้างการปกครองหรือไม่ หลังศาล รธน. นัดพิจารณานัดแรก 12 มิ.ย.นี้ พร้อมเตือน ‘พรรคก้าวไกล’ งดแสดงความเห็นชี้นำศาล
ซึ่งในอดีตศาล รธน. เคยติง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ก่อนพิจารณาคดี ‘ถือหุ้นสื่อ’ เมื่อ ม.ค.67 ถึงการไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีผ่านสื่อต่างๆ ถือเป็นการไม่เหมาะสมและไม่สมควร เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบก่อนศาลพิจารณาคดี อาจเป็นการชี้นำและกดดันศาล
ซึ่งสุดท้าย ‘พรรคก้าวไกล’ ยังคงยืนกรานจัด ‘แถลงต่อสู้คดี’ นำโดย ‘ชัยธวัช ตุลาธน’หัวหน้าพรรคฯ และ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ 9มิ.ย.นี้ โดยมีข้อโต้แย้งประมาณ 8 ประเด็น ในเอกสารกว่า 100 หน้า ที่ชี้แจงศาล รธน. โดยหลังจากที่พรรคยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อไปจะเป็นการขอยื่น ‘การไต่สวน-บัญชีพยาน’ โดย ‘ชัยธวัช’ เผยว่า บุคคลที่ไปเป็นพยานมีหลากหลาย มีรายชื่อใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นที่ต่อสู้โดยเฉพาะ ซึ่งที่ 12 มิ.ย.นี้ จะทราบว่าศาล รธน. จะดำเนินการต่ออย่างไร จะเปิดไต่สวนหรือไม่ หรือเรียกพยานเพิ่มเติมกี่คน
แต่ที่ชัดเจนคือ ‘ก้าวไกล’ ต้องมี ‘แผนสำรอง’ ในการรับมือหากสุดท้าย ‘ก้าวไกล’ ไม่ได้ก้าวต่อ ซึ่ง ‘ชัยธวัช’ ย้ำหนักแน่นไม่ ‘พลิกขั้ว’ ไปจับมือ ‘เพื่อไทย’ แน่นอน แต่สิ่งเหล่านี้อาจต้องดู ‘พฤตินัย’ เป็นสำคัญกว่า ‘นิตินัย’ หากดูช่วง 7 เดือน ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของ ‘ก้าวไกล’ ในการสู้ ‘ระบอบทักษิณ’ หากเทียบกับการกรำศึก ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่ถูกวิจารณ์เชื่อมโยงกับ ‘ดีลลับฮ่องกง’ ภายหลัง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เคยบินไปพบ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ฮ่องกง พร้อมเคยให้สัมภาษณ์มอง ‘เพื่อไทย’ เป็นมิตรกัน
สำหรับ ‘แผนเผชิญเหตุสุดท้าย’ นั่นคือการเตรียม ‘พรรคสำรอง’ เพื่อปูทางให้ ‘ลูกพรรค’ ได้อพยพไป แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังคงอยู่ใน ‘ระดับหัว’ เท่านั้น ยังไม่มีการ ‘ส่งสัญญาณ’ ถึง สส. ที่ในขณะนี้มีเพียงให้ สส. เตรียมอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ และศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 68 ของรัฐบาล ที่จะมีการเปิดประชุมสภาฯ ช่วง 18-21มิ.ย.นี้
ทว่าสิ่งที่เริ่มหนาหู คือ ‘ว่าที่หัวหน้าพรรค’ คนใหม่ เมื่อได้ ‘พรรคสำรอง’ แล้ว คือ ‘ดร.ต้น-วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร’ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็น ‘คีย์แมนเศรษฐกิจ’ มาตั้งแต่ยุค ‘พรรคอนาคตใหม่’ อยู่เบื้องหลังงานด้าน ‘นโยบายพรรค’
สำหรับ ‘ดร.ต้น’ อยู่ในกลุ่ม ‘3ต.’ ที่มีอิทธิพล บุกเบิกตั้ง ‘พรรคอนาคตใหม่’ ขึ้นมา ร่วมกับ ‘ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ‘ติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก’ ซึ่งทั้งหมดเป็น ‘เพื่อนธนาธร’ ที่มาผนึกกำลังกับ ‘อ.ป๊อก-ปิยบุตร แสงกนกกุล’
ย้อนไปสมัย ‘ผู้นำทางความคิด’ เหล่านี้ อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ‘ต๋อม ชัยธวัช - ติ่ง ศรายุทธ’ เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์กัน โดย ‘ต๋อม ชัยธวัช’ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อปี 2541 ส่วน ‘เอก-ธนาธร’ เป็น อุปนายกองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2542 และเป็น รองเลขาธิการ สนนท. ปี 2543 และ ‘ติ่ง ศรายุทธ’ เป็น เลขาธิการ สนนท. ปี 2543
สำหรับ ‘ดร.ต้น-วีระยุทธ’ เป็นนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ จาก National Graduate Institute for Policy Studies ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เคยทำงานวิจัยร่วมกับ Overseas Development Institute (London) และ UNCTAD ด้านนโยบายการพัฒนาในเอเชียและแอฟริกา
โดย ‘ดร.ต้น-วีระยุทธ’ ได้รับการชักชวนจาก ‘ธนาธร’ ให้มาร่วมงานกับ ‘พรรคอนาคตใหม่’ จึงเป็นที่มาของนโยบาย ‘ไทย 2 เท่า’ ในขณะนั้น และเมื่อเจาะฐานความคิดของ ‘วีระยุทธ’ จะพบว่า เขาวางหมุดหมาย ‘อดีตพรรคอนาคตใหม่’ คือ ‘พรรคซ้ายกลาง’ ที่จะเข้ามาเติมเต็มการเมืองไทย
ดังนั้นหากดู ‘ภูมิหลัง’ ของบรรดาคีย์แมนเหล่านี้ จะพบว่าเป็น ‘นักทฤษฎี-อุดมการณ์’ ทำให้การสร้าง ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ พุ่งไปที่การต่อสู้โครงสร้างอำนาจการเมือง-เศรษฐกิจ มากกว่าการปูด้วย ‘นโยบายประชานิยม’ เท่ากับว่า ‘ขั้วอนาคตใหม่-ก้าวไกล’ มีตลาดการเมืองชัดเจนในการ ‘ขายชุดความคิด-ชูอุดมการณ์’ มากกว่า ‘นโยบายเศรษฐกิจ’ ที่จับมือกับ ‘บ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง’ เฉกเช่นพรรคการเมืองอื่นๆ
ดังนั้น ‘พรรคก้าวไกล’ จึงไม่หวาดหวั่นกับ ‘สส.แปรพักตร์’ หนีไปซบ ‘พรรคอื่น’ เพราะเคยมีบทเรียน ‘สส.งูเห่าสีส้ม’ ที่แพ้เลือกตั้งทั้งหมด ส่วน ‘สส.นกแล’ ที่มาลง ‘พรรคก้าวไกล’ ได้เป็น สส.สมัยแรก จำนวนมาก สะท้อนว่า ‘แบรนด์ก้าวไกล’ แข็งแรง ซึ่งตรงกับ ‘ผลโพล’ ที่ออกมาถึงกระแสนิยม
จึงทำให้ ‘พรรคก้าวไกล’ ไม่กังวลต่อกระแส ‘ดูด สส.’ เท่าใดนัก ตามที่มีกระแสข่าว เช่นมี สส.ก้าวไกล ไปซบขั้ว ‘บ้านป่ารอยต่อ’ เพราะมีสภาพคล่องมากกว่าอยู่ ‘ก้าวไกล’ หรือบางส่วนจะไปอยู่ ‘ขั้วบ้านจันทร์ส่องหล้า’ เพื่อปู ‘ฐานการเมือง’ ให้กับตัวเองในอนาคต โดยใช้ ‘ก้าวไกล’ เป็น ‘ทางผ่าน’ หลังเกาะกระแสได้เป็น สส.สมัยแรก แต่บทเรียนก็มีให้เห็นมาแล้ว ‘สส.งูเห่าสีส้ม’ แพ้ราบคาบ
สุดท้ายไม่ว่า ‘ก้าวไกล’ จะเหลือ สส. กี่คน ที่ไปพรรคใหม่ แต่ ‘กระแสนิยม’ ก็ยังคงอยู่ ซึ่งเป็น ‘ต้นทุนสำคัญ’ สำหรับการทำ ‘การเมืองระยะยาว’ เฉกเช่นที่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ เคยเผชิญ จนมาถึงการเติบโตของ ‘พรรคก้าวไกล’ แม้จะชะงักไปชั่วครู่ก็ตาม