เปิด 4 ปม ‘พ.ร.ป.เลือก สว.’ เมื่อศาล รธน.รับวินิจฉัย

6 มิ.ย. 2567 - 06:27

  • ส่อง 4 มาตราใน ‘พ.ร.ป.เลือก สว.’ เมื่อศาล รธน.สั่งรับวินิจฉัย กรณีขัด รธน. มาตรา 107 หรือไม่ ซึ่งทั้ง 4 มาตรา ล้วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือก สว.ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ

new-senator-6jun2024-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจาก ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มีมติเสียงข้างมากรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของ ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 หรือ ‘พ.ร.ป.เลือก สว.’ มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ 

ทีมข่าว SPACEBAR จึงพามาส่องดูทั้ง 4 มาตราที่ศาลรับไว้พิจารณาว่า จะเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง? โดยพบว่า ทั้งมาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 มีตั้งแต่การแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. การเลือก สว.ระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ ดังนี้

มาตรา 36

กำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

มาตรา 40

วิธีการเลือก สว.ระดับอำเภอ จะมีการเลือก 2 รอบ ได้แก่

รอบที่ 1 : ผู้สมัคร ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มเดียวกัน สามารถเลือกตัวเองได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ โดยรอบนี้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ลำดับแรก จะเข้าสู่รอบที่ 2

รอบที่ 2 : จัดแบ่งสาย ในแต่ละสาย ต้องมีกลุ่มไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม จากนั้น ให้ผู้สมัคร ‘เลือกไขว้’ ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะได้เข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด

มาตรา 41

วิธีการเลือก สว.ระดับจังหวัด มีการเลือก 2 รอบเช่นเดียวกัน ได้แก่

รอบที่ 1 : ผู้สมัคร ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มเดียวกัน สามารถเลือกตัวเองได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ ในรอบนี้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ลำดับแรก จะเข้าสู่รอบที่ 2

รอบที่ 2 : จัดแบ่งสาย ในแต่ละสาย ต้องมีกลุ่มไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม จากนั้น ให้ผู้สมัคร ‘เลือกไขว้’ ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะได้เข้าสู่การเลือกระดับประเทศ

มาตรา 42

วิธีการเลือก สว.ระดับประเทศ มีการเลือก 2 รอบ ได้แก่

รอบที่ 1 : ผู้สมัคร ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน สามารถเลือกตัวเองได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ ในรอบนี้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรก จะเข้าสู่รอบที่ 2

รอบที่ 2 : จัดแบ่งสาย ในแต่ละสาย ต้องมีกลุ่มไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม จากนั้น ให้ผู้สมัคร ‘เลือกไขว้’ ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละไม่เกิน 5 คน จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตัวเองไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะได้เป็น ‘สว.’

info_new-senator-6jun2024.jpg

ทั้ง 4 มาตรานี้ มีคำร้องว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ เมื่อย้อนกลับไปดู ในมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 พบว่า เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กำหนดไว้ประมาณว่า

“วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจาก ‘การเลือกกันเองของบุคคล’ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ การแบ่งกลุ่ม จำนวนกลุ่ม และคุณสมบัติของบุคคลในแต่ละกลุ่ม การสมัครและรับสมัคร หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกันเอง การได้รับเลือก จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีจากแต่ละกลุ่ม การขึ้นบัญชีสำรอง การเลื่อนบุคคลจากบัญชีสำรองขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จะกำหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือจะกำหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกด้วยวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้”

“การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตั้งแต่ ‘ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ’ เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยในระดับประเทศ”

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ระหว่างนี้ กกต.ก็ยังคง ‘เดินหน้า’ จัดการเลือก สว.ตามไทม์ไลน์เดิม ที่จะมีการเลือกระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ต่อด้วยระดับจังหวัด 16 มิถุนายน และระดับประเทศ 26 มิถุนายน ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้ลุ้นโฉมหน้า สว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คนแล้ว หลังจากนี้ คงต้องลุ้นการตีความของศาลรัฐธรรมนูญว่า ‘ขั้นตอนการเลือก สว.’ ตาม 4 มาตราใน พ.ร.ป.เลือก สว.จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ข้างต้นด้วยหรือไม่เช่นเดียวกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์