office-of-the-attorney-general-clarifying-the-thaksin-case-section-112-SPACEBAR-Photo00.jpg

Photo Story: แจงปมอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112

6 ก.พ. 2567 - 06:32

  • ‘อสส.’ แจงยิบขั้นตอนอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112

  • เผย ‘ทักษิณ’ ปฏิเสธข้อกล่าวหายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

  • ชี้ขณะนี้สำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณา

  • ปัดตอบแจ้งข้อกล่าวหาที่ชั้น 14 หรือไม่

  • แย้ม ‘คดีบอส กระทิงเเดง’ มีความคืบหน้า

office-of-the-attorney-general-clarifying-the-thaksin-case-section-112-SPACEBAR-Photo00.jpg

ที่สำนักงานอัยการสูงสุดวันนี้ (6 ก.พ.)  ‘ประยุทธ เพชรคุณ’ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ นำทีมแถลงข่าวชี้แจงกความคืบหน้าคดีที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามมาตรา 112  

‘โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด’ อธิบายว่า จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.59 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย ‘พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม’ เป็นผู้กล่าวหาว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้กระทำความในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯและร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ

office-of-the-attorney-general-clarifying-the-thaksin-case-section-112-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1

โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 58 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง

แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ‘ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร’ อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 59 ว่า เห็นควรสั่งฟ้อง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ตามข้อกล่าวหา 

แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว 

ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 66 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

ต่อมาวันที่ 17 ม.ค. 67 ‘กุลธนิต มงคลสวัสดิ์’ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา ให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับทราบแล้ว ปรากฏว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน และนำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา 

โดยขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เพื่อทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดให้พิจารณามีความเห็นเพื่อมีคำสั่งทางคดีต่อไป

‘โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด’ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัว ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์แล้ว ส่วนผลความคืบหน้าทางคดีเป็นประการใด สำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงให้ทราบต่อไป

office-of-the-attorney-general-clarifying-the-thaksin-case-section-112-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ

เมื่อถามว่าในวันที่ 17 ม.ค.67 ที่อัยการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นการแจ้งที่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจใช่หรือไม่ ‘ประยุทธ’ ชี้แจงว่าไม่ทราบรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องของทีมสอบสวน แต่ยืนยันว่าไปแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ย้ำว่าไม่ต้องไปสนใจรายละเอียด

ส่วนแนวทางการอายัดตัว ‘ทักษิณ’ หลังถูกจับตาว่าจะได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ผ่านการใช้สิทธิผู้ต้องขังสูงอายุ และมีโรคประจำตัวรุมเร้า จะส่งผลต่อการอายัดตัวในคดีนี้อย่างไรบ้าง ‘ประยุทธ’ ชี้แจงว่า ก่อนที่ทักษิณจะได้รับการพักโทษ กรมราชทัณฑ์จะต้องแจ้งตำรวจเจ้าของคดี โดยตำรวจจะใช้ดุลพินิจว่า จะอายัดตัวทักษิณด้วยการนำไปฝากขัง หรือพิจารณาปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แต่ระหว่างที่มีการปล่อยตัวตามเงื่อนไข ทักษิณต้องไปรายงานตัวในคดีที่ได้รับการพักโทษ หากว่าไม่ไปรายงานตัว พนักงานสอบสวนสามารถออกหมายจับได้อีก

ส่วนกรอบเวลาการพิจารณาคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด ขณะนี้ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ส่วนข้อกังวลของ ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าหาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ยังคงเป็นรัฐบาลอยู่จะไม่มีใครทำอะไร ‘ทักษิณ’ ได้ เรื่องนี้ ‘โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด’ ขอให้มั่นใจว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะพิจารณาทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่มี และอยากขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของอัยการ

office-of-the-attorney-general-clarifying-the-thaksin-case-section-112-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ ‘ทักษิณ’ ยื่นขอความเป็นธรรมจะมีผลต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ ‘โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด’ อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับการพิจารณาคดี สามารถทำควบคู่กันได้ ซึ่งแนวทางการพิจารณาของอัยการสูงสุด มีอยู่ 3 แนวทางคือ 1.สั่งฟ้อง 2.สั่งไม่ฟ้อง และ 3.มีเรื่องที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมจึงยังไม่สั่งฟ้อง 

ส่วนข้อกังวลว่าคดีนี้จะคล้ายกับกรณีของ ‘บอส วรยุทธ’ ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมหลายครั้ง จนทำให้คดีนั้นเกิดความล่าช้าและถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลาหรือไม่ ‘โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด’ ชี้แจงว่า จากคดีดังกล่าวสำนักงานอัยการ ได้ถอดบทเรียน และปรับหลักเกณฑ์ใหม่แล้ว โดยต่อจากนี้การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ต้องให้เจ้าตัวเป็นคนยื่นด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถส่งตัวแทนหรือยื่นผ่านทนายความได้ และถ้าหากยื่นด้วยประเด็นเดิมซ้ำๆ อัยการจะใช้ดุลพินิจว่าจะรับคำร้องขอความเป็นธรรมนี้หรือไม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์