หลังเจอวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงขยี้ซ้ำ ๆ ถึงความน่าสงสัยหลายประการ ที่เกิดขึ้นกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฯ ที่เสนอโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 36,723 คน แต่ผลปรากฏว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สูงถึง 64.66% และเห็นด้วยเพียง 35.34%
ในที่สุด ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ก็ได้ออกมาชี้แจงแถลงไขถึงการตรวจสอบ ‘ความผิดปกติ’ ตามที่เคยแจ้งไว้ โดยได้แบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 เรื่อง
เรื่องแรก เป็นการร้องเรียนของประชาชนที่ว่า เมื่อใช้บริการเว็บไซต์แล้วเกิดการ Error เช่น การคัดลอก URL แล้วสามารถลงชื่อซ้ำได้ ซึ่งได้ทำการแก้ไขแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนว่า ผู้ที่ลงชื่อมีตัวตนจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการยืนยันตัวตน ซึ่งหากมีการให้ยืนยันตัวตนมากเกินไป ก็จะทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน ขณะที่เว็บไซต์ที่เปิดให้แค่แสดงความเห็นนั้น ก็ต้องสมดุลกันระหว่างความเห็นเสรีกับความปลอดภัย ซึ่งจะต้องมีการคุยกันในระดับนโยบายอีกครั้ง ว่าจะชั่งตวงวัดกันอย่างไร
เรื่องที่สองคือ เรื่อง IP Address เมื่อเช็กแล้วพบว่าในวันที่ 11-12 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น มีการใช้ IP Address ซ้ำกันในการเข้ามาให้ความเห็น ซึ่งมีปริมาณสูงมาก และสูงกว่าร่างกฎหมายอื่นหลายเท่า
สามารถแปลความได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่เราต้องเข้าไปศึกษาในรายละเอียดว่า IP Address มาจากไหน? อย่างไร? เป็นในรูปแบบของการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyeber Attack) หรืออาจจะเกิดขึ้นโดยปกติ ซึ่งเรายังไม่ได้สรุปในส่วนนี้
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเกณฑ์ ‘ไอโอ’ (IO) มาลงชื่อนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ แต่เรายังสรุปไม่ได้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ที่มาที่ไปที่ชัดเจน
ย้ำว่ามีความพีคขึ้นมาในช่วงวันที่ 11-12 มิ.ย. ที่มี IP Address ซ้ำ ๆ เข้ามาลงชื่อ
สำหรับข้อสังเกตที่ว่า หลังปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว แต่ยอดที่ไม่เห็นด้วยกลับลดลงนั้น ในส่วนนี้ต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเรายังไม่ได้ข้อสรุปเป็นช่วงเวลาเช่นนั้น แต่เนื่องจากเว็บไซต์เราไม่ได้นำผลไปใช้ทางกฎหมาย
เป็นแค่เว็บไซต์ที่หยั่งเสียงเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบรายงานเท่านั้น การที่จะทำให้เว็บไซต์เจาะไม่ได้เลย ก็ต้องแลกมาด้วยการที่ประชาชนต้องลงทะเบียนอีกเยอะ ในส่วนนี้ ต้องขอไปปรับปรุงในเชิงโครงสร้างอีกครั้ง ซึ่งหากมีการร้องเรียนเพิ่มเติม ก็จะต้องนำไปปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อทำให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ ปดิพัทธ์ ยอมรับว่า ต้องมีการปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีความรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
อันดับแรก ต้องน้อมรับว่ามีความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ปรามาสว่า เสียงไหนมาจากไอโอ เสียงไหนที่ไม่ใช่ไอโอ แค่เราเจอเรื่องที่เป็นข้อสังเกตที่เราต้องตรวจสอบ ส่วนข้อผิดพลาดต่าง ๆ ก็จะต้องนำไปปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดีที่สุด แต่ที่เราต้องทำให้เกิดความสมดุลย์คือ เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น และความมั่นคงของข้อมูลผู้ที่มาลงชื่อแสดงความเห็น ส่วนจะแข็งไปหรืออ่อนไป ต้องดูความสำคัญของแต่ละเว็บไซต์
ส่วนกรณีที่มีการเปิดลงชื่อเพื่อถอดถอน ปดิพัทธ์ ออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เจ้าตัวบอกเพียงว่า เห็นโพสต์ผ่าน ๆ ก็ไม่มีอะไร
เวลาคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีข้อที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ แล้วอยากขอให้มีการพิจารณาด้านจริยธรรม ก็สามารถเรียกร้องให้เกิดขึ้นได้ ผมไม่ได้ติดขัดอะไร