ปัญหาการสู้รบระหว่าง ‘อิสราเอล-ปาเลนไตน์’ ปะทุขึ้นอีกครั้ง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีคนไทยเสียชีวิต-ถูกควบคุมตัวเป็นตัวประกันลำดับต้นๆ อีกทั้งมีจำนวนคนไทยที่แสดงคามจำนงกลับไทยทะลุ 6,000 กว่าคน (ข้อมูล 13ต.ค.) ทำให้คนไทยต่างสนใจเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมาก ที่มีรากฐานมาจาก ‘ประวัติศาสตร์’ ยาวนานนับพันปี เหตุใดเหตุการณ์ถึงกลับมาปะทะรุนแรง และสถานการณ์เช่นนี้ไทยจะ ‘รับมือ’ และ ‘ช่วยคนไทย’ อย่างไร ?
ทีมข่าวสเปซบาร์ ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ ถึงเหตุปัจจัยสถานการณ์ครั้งนี้ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่
ชาติพันธุ์ ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มองว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ของปาเลสไตน์ จะถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ศาสนา ที่มีเรื่อง ‘ลัทธิสุดโต่ง’ เข้ามา ในการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ
การบริการจัดการพื้นที่ ที่เป็น ‘รัฐคู่ขนานกัน’ ระหว่าง ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะชะงักหรือล้มเหลว โดยเฉพาะ ‘รัฐปาเลสไตน์’ ที่ชะงักไป เพราะซีกของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปไม่ผลักดัน
สำหรับ ปัจจัยใหม่ มาจากการ ‘เปลี่ยนไป’ ของตะวันออกกลางและโลก คือ การเติบใหญ่ของอิหร่าน ที่มีกองทัพเรือใหญ่ขึ้น มีกองทัพไซเบอร์ อีกทั้งการเติบโตของกลุ่มฮามาส
การเติบโตของ ‘ฮามาส’ ที่มีกองกำลังสมัยใหม่ เทคนิคสมัยใหม่ เช่น ปฏิบัติบัติการพลร่ม การทำลายระบบตรวจจับกำแพง การบินโดรน และการขุดอุโมงค์รอด เป็นต้น
ความอ่อนแอ ของอิสราเอล จากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ การเปลี่ยรัฐบาลบ่อยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การกดดันฉนวนกาซา-เวสต์แบงก์ แบบสุดโต่ง จึงทำให้เหตุการณ์ปะทุ
ความอ่อนแอ ของซาอุดิอาระเบีย หลังมีการเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่
ความอ่อนแอ ของสหรัฐฯ ใน 3 ภูมิภาคของโลก เช่น อินโด-แปซิฟิก , ยุโรป , ตะวันออกกกลาง
ความอ่อนแอ ของอียิปต์ จากเหตุการณ์อาหรับสปริง
สถานการณ์ใน ‘ตะวันออกกลาง’ กลับมาปะทะครั้งนี้ ต้องจับตาท่าที ‘ประเทศใกล้เคียง’ และสหรัฐอเมริกา เพราะล่าสุดสหรัฐฯ ได้ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 กอง เพื่อคุ้มกันอากาศยานและคุ้มกันกำลังทางบกเข้าไปแล้ว
ในซีกของ ‘อิสราเอล’ ก็ต้องรีบแก้ปัญหาภายใน โดยเฉพาะเรื่อง ‘อำนาจการเมือง’ โดยจะมีการตั้ง ครม.ชุดใหม่ ขึ้นมา ที่เป็น ‘ครม.สงคราม’ โดยดึง ‘พรรคฝ่ายค้าน’ มาร่วมรัฐบาลด้วย หวังลดแรงเสียทานสถานการณ์ ควบคู่กับการประเมินพื้นที่ เพื่อป้องกันการโดนตลบหลังและการปิดช่องอุโมงค์
ทั้งนี้มาตรการที่ดำเนินการขณะนี้ ได้มีการ ‘ตัดน้ำ-ตัดไฟ’ พื้นที่ฉนวนกาซ่า ย่อมส่งผลต่อเรื่อง ‘พลังงาน-น้ำมัน’ และอีกราว 3-5 วัน ก็จะทำให้เกิดการขาดแคลน เมื่อนั้น ‘อิสราเอล’ ก็จะบุกเข้าไป ‘ค้นหา – ทำลาย – จับกุม’ และการ ‘ตีกลับ’ ของกลุ่มฮามาส เหตุการณ์ปะทะครั้งใหม่ก็จะเกิดขึ้น
แม้จะมีความพยายามเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ผ่าน ‘นายทหาร’ ที่เคยเจรจากับ ‘ฮามาส’ มาก่อนก็ตาม ซึ่งก็มีการส่งสัญญาณจาก ‘ฮามาส’ มาว่า จะไม่ฆ่าผู้หญิง เด็ก และชาวต่างประเทศ ในสถานการณ์เช่นนี้ถูกมองว่าเป็น ‘สงครามพันทางแนวใหม่’ สถานการณ์ในพื้นที่เป็น ‘สงคราม’ ไปแล้ว ไม่ใช่เพียงการ ‘ก่อการร้าย’ อีกทั้งสถานการณ์ที่มีความผกผันอย่างมาก ซึ่งต้องดูท่าทีของ ‘อิหร่าน’ และ ‘ซาอุดิอาระเบีย’ จะมีการเคลื่อนกำลังด้วยหรือไม่
ท่าทีของไทย
ในเวลานี้ ‘ไทย’ ถูกดึงเข้าไปเป็น ‘คู่ขัดแย้ง’ เพราะมีคนไทยเสียชีวิตและถูกจับกุมลำดับต้นๆ ที่ผ่านมาไทยมี ‘สัมพันธ์ที่ดี’ กลับหลายกลุ่ม ไปจนถึงระดับ ‘กองกำลัง’ โดยเฉพาะ ‘ทหาร-ตำรวจ’ ที่จะคุ้นเคยกับสัมพันธ์ชุดนี้ แต่ในมุมกระทรวงการต่างประเทศอาจไม่คุ้นเคย ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ควรไปมีความสัมพันธ์อย่างทางการ จึงต้องอาศัยช่องทางทางการประสานงาน เช่น การติดต่อสำนักงานปาเลสไตน์ในประเทศมาเลเซีย การขอความช่วยเหลือผ่านสุลต่านของบรูไน เป็นต้น
ต้องมีการประสานทั้ง ‘ทางตรง-ทางลับ’ คู่ขนานกันไป อีกทั้งต้องดูท่าทีของไทยในเวที ‘คณะมนตรีความมั่นคง’ แห่งสหประชาชาติด้วย ที่จะมีการประชุมเรื่องสถานการณ์ดังกล่าว
การจัดการของไทย ‘ช้า’ ?
รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า การบริหารงานของรัฐบาลช้าไป เพราะ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ กระจายงานด้านความมั่นคงไปให้แต่ละบุคคลดูแล ไม่ได้รวมศูนย์ไว้ที่นายกฯ หรือ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ทำให้ไม่มี ‘ผู้มีอำนาจตัดสินใจ’ ได้เด็ดขาดในการสั่งการ และเป็นช่วงที่นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ 4 วัน อีกทั้ง ‘รัฐมนตรี’ หลายคน ไม่คุ้นเคยกับงานด้านความมั่นคง แม้แต่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทนคนที่เกษียณฯ ในแง่นี้เองก็ทำให้ ‘กองทัพ’ ไม่กล้าตัดสินใจหรือลงมือปฏิบัติ เพราะต้องการ ‘ผู้มีอำนาจเด็ดขาด’ เป็นผู้สั่งการลงมา
สถานการณ์ ‘อิสราเอล-ปาเลนไตน์’ จะเป็นอย่างไรต่อไป ?
รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า ปัญหายังคงยืดเยื้อ ด้วย ‘เงื่อนไข-ปัจจัย’ ตามที่กล่าวข้างต้น แต่ในรูปแบบสงครามจะไม่ยืดเยื้อ หากเทียบกับสถานการณ์ระหว่าง ‘ยูเครน-รัสเซีย’ เพราะกลุ่มฮามาสไม่ได้รับการสนับสนุนการรบแบบยูเครน อีกทั้งฮามาสเป็นเพียง ‘กองกำลัง’ เท่านั้น แต่จะเป็นการปะทะหรือการก่อเหตุรุนแรงเป็นระลอกแทน ส่วนแนวคิดการกระจาย ‘ชาวปาเลนไตน์’ ไปในพื้นที่ต่างๆ ก็จะทำให้ประชากรชาวปาเลสไตน์มากกว่าอิสราเอลด้วย