แผงวงจรจ่ายไฟที่เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว และจำนวนวัตต์จ่ายไฟที่เหลือเพียง 0 แอมป์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล กฟภ. ได้สับสวิตซ์ตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่ 5 จุด บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังวานนี้ (4 ก.พ.) ที่ประชุม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติให้ กฟภ. ดำเนินการตัดไฟฟ้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีการใช้ไฟฟ้าในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและคนไทยอย่างรุนแรง

แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะพยายามปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติที่อยู่ริมรั้วบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่จัดการได้สำเร็จจนถึงขั้นที่เรียกว่า ขุดรากถอนโคน นั่นเป็นเพราะปัญหานี้มีความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งเรื่องผลประโยชน์ใต้ดินบนดิน และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ทำให้ปัญหานี้ยังคงยืดเยื้อและลากยาวมาเป็นสิบๆ ปี
ตัดไฟ ‘เมียนมา’ แรงกดดันใต้กรงเล็บ ‘พญามังกร’
แต่ความมืดมนในการแก้ปัญหา เริ่มมีแสงสว่างขึ้นมารำไร เมื่อ พญามังกรจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่งผู้นำระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคงมาติดตามสถานการณ์ที่ชายแดนไทย-เมียนมาด้วยตัวเอง หลังมีข่าวคนจีนตกเป็นเหยื่อจากแก๊งเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลที่ตามมาคือแรงกดดันมหาศาลที่ส่งสัญญาณตรงมายังรัฐบาลไทยให้จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“ผมเชื่อว่าเป็นแรงกดดัน ประกอบกับจังหวะเวลาของ นายกฯ ที่จะเดินทางไปจีน ซึ่งอาจมีการคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ แต่เชื่อว่าในหลักปฏิบัติคงมีการหยิบยกเรื่องนี้มาคุย เพราะจีนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนะ มีคนจีนหลายหมื่นคนเข้าไปทำงานในพื้นที่นี้ และอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ ทำให้จีนมีความกังวลค่อนข้างมาก”
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าว
เป็นความคิดเห็นของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ที่มีต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดย รศ.ดร.ปณิธาน เชื่อว่าคำสั่งตัดไฟของ สมช. เป็นผลมาจากแรงกดดันของจีน เพราะจีนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากคนจีนตกเป็นเหยื่อของแก๊งเหล่านี้มากกว่าคนไทย โดยเฉพาะในเมืองพญาตองซู และบ้านพระเจดีย์สามองค์ ที่กำลังมีโครงการเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าของโครงการเหล่านี้รู้ดีว่าท้ายที่สุดแล้วพวกเขาต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง จึงเริ่มหาเครื่องปั่นไฟและตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าเอง
“คนเหล่านี้มีเครือข่ายอยู่ในเมืองไทย แล้วก็ได้รับไฟฟ้าจากไทย เพราะฉะนั้นจีนเลยขยับเข้ามาเพื่อกดดันอย่างชัดเจน กดดันรัฐบาลท้องถิ่นเขานะครับ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นตรงนั้นไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาลทหารพม่าหรือรัฐบาลกลางด้วยซ้ำ แล้วก็ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอีกด้านหนึ่งด้วยซ้ำ ด้วยเงินส่วย หรือยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทำให้จีนไม่อยากให้เหตุการณ์มันบานปลายกว่านี้ มีคนจีนเข้าไปเกี่ยวข้องมากกว่านี้ แล้วก็ไปทำให้รัฐบาลทหารพม่าที่เป็นพันธมิตรเขาอ่อนแอลงไปอีก”
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าว
ประกอบกับทางจีนมองว่า ส่วนหนึ่งไฟฟ้ารั่วไหลมาจากฝั่งไทย จึงพยายามเข้ามาเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ แต่การตัดไฟครั้งนี้ รศ.ดร.ปณิธาน เชื่อว่าไม่ได้ทำให้สถานการณ์ระยะยาวดีขึ้น ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่ร่วมกันปราบปราม เพราะตอนนี้กลุ่มคนเหล่านั้นพยายามหาทางผลิตไฟฟ้าใช้เอง และเริ่มดำเนินการก่อนที่ไทยจะมีคำสั่งให้ตัดไฟเสียอีก
วัดฝีมือรัฐบาลแค่ ‘โชว์จีน’ หรือ ‘เอาจริง’ ความสัมพันธ์ที่อยู่บนทางแยก
พร้อมกับเชื่อว่าหาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ไม่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเอง และ นายกรัฐมนตรีไทย ไม่มีกำหนดการเยือนจีนในช่วงวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์นี้ ที่ประชุม สมช. อาจไม่มีมติตัดไฟในพื้นที่ดังกล่าว
แต่เนื่องจากถูกกดดันทั้งจากทางจีน นานาชาติ และจากอาเซียน จึงทำให้จำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เห็นได้จากการที่ สมช. มีการประชุมนอกรอบ ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ไม่ปกติ
รศ.ดร.ปณิธาน ยังชี้ให้เห็นว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ ของไทย ซึ่งมีอายุกว่า 116 ปี เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ มีความสามารถ และสามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกได้อย่างละเอียด รวมถึงมีการจัดทำแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างชัดเจน แต่เนื่องจากโครงสร้างหน่วยงานที่เป็นราชการมากๆ ทำให้ข้าราชการประจำมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการรับผิดชอบทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็โยนเรื่องกลับมาที่ข้าราชการประจำ ประกอบรัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อสั่งการจึงทำให้การแก้ปัญหาไร้ประสิทธิภาพ
“มันไม่ควรออกมาแบบนี้ พอออกมาแบบนี้ทุกคนรู้หมดว่ากลไกไม่ทำงาน ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการเมืองก็ลอยตัว ก็โทษข้าราชการประจำว่าไม่เสนอ ข้าราชการประจำก็บอกว่าก็ไม่สั่งมา แล้วทุกคนก็หมดความเชื่อมั่นในสถาบันที่มีมาร้อยกว่าปีเลย เสียหายมาก กลไกก็มี ประสบความสำเร็จก็เยอะ ประสบความสำเร็จในช่วงที่เลขาฯ เป็นทหารเยอะ แต่ก็ไม่จำเป็นเพราะพลเรือน 4-5 คนก็ทำได้”
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าว
รศ.ดร.ปณิธาน ย้ำว่า สมช. เคยทำงานและประสบความสำเร็จมาแล้วหลายเรื่อง เช่น การจับผู้ร้ายระดับโลก การจับขีปนาวุธเกาหลีเหนือ การจับวิกเตอร์ บูท (Viktor Bout) พ่อค้าอาวุธชาวรัสเซีย การจับฮัมบาลี (Hambali) ผู้ก่อการร้ายชาวอินโดนีเซีย การเฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ กว่า 20-30 กลุ่ม เราทำได้หมดแล้ว เรื่องแค่นี้ แค่การปราบแก๊งพวกนี้ถ้าทำไม่ได้ก็แปลกแล้ว
“มันแปลกมาก มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าว
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-จีน-เมียนมา ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น รศ.ดร.ปณิธาน มองว่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะจีนมีนโยบายเชิงรุกที่จัดระเบียบเรื่องความมั่นคงที่ล้างบางทุจริตอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันจีนก็พร้อมเล่นเกมกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อม
หมายความว่า หากไทยตั้งรับไม่ดีอาจเกิดความขัดแย้งกับจีนได้ แต่หากไทยร่วมมือเชิงรุกกับจีน เชื่อว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี พร้อมแนะนำว่าไทยควรร่วมมือเชิงรุกกับสหรัฐฯ ด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลกัน แต่สิ่งที่ไทยต้องปรับคือต้องมีความพร้อมมากกว่านี้

บทบาท ‘ทักษิณ’ ในสังเวียนอาเซียน ‘เมียนมา-โรฮีนจา’ ความท้าทายระดับหายนะ
ส่วนการที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน เดินทางไปพบ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ และมีประเด็นเรื่องเมียนมาร่วมอยู่ด้วยจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากแค่ไหน รศ.ดร.ปณิธาน มองว่าน่าจะดีในระดับหนึ่ง เพราะประธานอาเซียนคนใหม่สนใจประเด็นเรื่องเมียนมา โดยเฉพาะปัญหาโรฮีนจาที่เขาสนใจมากที่สุด เพราะมองว่าเป็นปัญหานี้ค่อนข้างอันตราย และที่ผ่านมา ประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว ก็ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
“มาเลเซียเห็นแล้วว่าหายนะมาถึง ก็ต้องเรียกคุณทักษิณมารับหายนะแทนซะบ้าง คุณทักษิณก็ชอบอยู่แล้ว แต่คนชนกลุ่มน้อยที่ไปคุยกับคุณทักษิณก็ส่ายหัวว่าเดี๋ยวนี้แกไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่สัญชาตญาณและวิธีคิดของแกก็พอได้ว่าต้องเจรจา ซึ่งสัญญาสงบศึกเรามีอยู่แล้ว เราร่างไว้แล้ว รัฐบาลที่ผ่านมาก็อยู่บนโต๊ะทั้งหมด ทุกอย่างอยู่บนโต๊ะทั้งหมดอยู่ที่ว่าจะเลือกตัดสินใจยังไง”