ครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 ‘สวนสนามถวายสัตย์ฯ ทหารรักษาพระองค์’ ในรอบ 16 ปี

19 พ.ย. 2567 - 11:06

  • ‘เหล่าทัพ’ เตรียมพร้อม ‘สวนสนามถวายสัตย์ฯ ทหารรักษาพระองค์’ ในรอบ16 ปี ผบ.ทหารสูงสุด ย้ำให้ทุ่มเทเต็มขีดความสามารถ พร้อมจัดพื้นที่รับประชาชน 4,000 คน เชิญชวนประชาชนรับชมทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ่ายทอดทั่วโลก

Parade-Take-an-oath-of-allegiance-SPACEBAR-Hero.jpg

พล.ต.วิทัย ลายถมยา โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่า พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้กองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ มุ่งมั่น ทุ่มเท ในการจัดพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ “ราชวัลลภ เทิดไท้ จอมราชันย์ 72 พรรษา มหามงคล” ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ พระลานพระราชวังดุสิต อย่างเต็มขีดความสามารถ เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคีเป็นปึกแผ่น ของทหารทุกเหล่าทัพ ตลอดจนเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด แด่องค์พระประมุขในฐานเองค์จอมทัพไทย

พล.ต.วิทัย กล่าวว่า ก่อนจะถึงพิธีดังกล่าว ทางกองบัญชาการกองทัพไทยได้จัดทำสารคดีสั้น 13 ตอน ผ่านสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ โดยทั้งหมดได้ผ่านพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว สำหรับทั้ง สารคดีทั้ง 13 ตอน ประกอบด้วย จุดเริ่มต้นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ,หน่วยทหารรักษาพระองค์ ,ธงชัยเฉลิมพลจิตวิญญาณแห่งชัย,  ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์, สถาบันพระมหากษัตริย์รวมใจแผ่นดิน, พระราชาผู้ปิดทองหลังพระ, กษัตริย์นักการทหาร ,คธาจอมทัพไทย ,ลานพระราชวังดุสิต ,หน่วยทหารม้ารักษาพระองค์, พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตน ,สมเด็จพระราชินีคู่บารมีจอมทัพไทย  ,สถาบันกษัตริย์หลักชัยของปวงชน

“เป็นการสวนสนามครั้งแรกในรัชกาลที่10 ซึ่งเป็นการสวนสนามของทั้ง ทหารราชวัลลภ และทหารรักษาพระองค์ด้วย ซึ่งสารคดีที่ได้ทำขึ้นจะเป็นการบอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้มีการสวนสนามมาแล้ว 16 ปี ครั้งสุดท้ายคือปี 2551” พล.ต.วิธัย กล่าว

Parade-Take-an-oath-of-allegiance-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ พ.ย.67 ที่ บก.กองทัพไทย

ทั้งนี้กองทัพไทยเชิญชวนประชาชนรับชมทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพราะพื้นที่จัดพิธีอยู่ในเขตพระราชฐาน มีพื้นที่จำกัด ถ้าประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมากคาดว่าพื้นที่ที่จัดรองรับไว้จะไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามก็ได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณถนนราชณดำเนินนอกและถนนศรีอยุธยา สามารถรองรับได้ประมาณ 4,000 คนไว้ด้วย

สำหรับหมายกำหนดการของพิธี จะเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. โดยเปิดลานพระราชวังดุสิตให้แขกผู้มีเกียรติ ทูตานุทูต เข้ามาประจำยังที่นั่ง จากนั้น 15.00 น. จะมีการแสดงก่อนเวลา 3 ชุด จาก 3 เหล่าทัพ โดยกองทัพบก จะจัดแสดงไหว้ครูมวยไทย กับแมกไม้มวยไทย กองทัพเรือจะแสดงอาวุธประกอบดนตรี หรือ Fancy Drill กองทัพอากาศจัดการแสดง ‘ดรัมซีท’ เป็นการต่อสู้ของนักรบไทยประกอบดนตรีโบราณ เช่น กลองสะบัดชัย ประกอบเครื่องดนตรีสมัยใหม่

จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมาประจำจุดกลางลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อทรงเป็น องค์ผู้บัญชาการกองผสม

จนกระทั่งเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินออกจากประตูพระที่นั่งอัมพรสถาน เข้าสู่พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

เมื่อจบพิธีเวลาประมาณ 18.00 น. ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับ จากนั้นทหารรักษาพระองค์จะเปล่งเสียงทรงพระเจริญพร้อมกับ การแสดงของโดรน 2,000 ตัว ทำการแปรอักษรและรูปภาพ จากบริเวณกองทัพภาค 1 โดยปรากฎเป็นภาพที่บริเวณวัดเบญจมบพิตรฯ ทั้งนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจจะมีการถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าวไปทั่วโลกให้เป็นที่ประจักษ์

Parade-Take-an-oath-of-allegiance-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ พ.ย.67 ที่ บก.กองทัพไทย

สำหรับการจัดกำลังพลเข้าร่วมพิธีสวนสนามจำนวนทั้งสิ้น 11 กองพัน ได้แก่

กรมสวนสนามที่ 1 มีจำนวน 1 กองพัน จัดจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

กรมสวนสนามที่ 2 จัดจากกรมนักเรียนนายร้อย 3 เหล่าทัพ

กรมสวนสนามที่ 3 จัดจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กรมอากาศโยธิน กองพันทหารม้าที่ 25

กรมสวนสนามที่ 4 จัดจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ กองพันทหารปืนใหญ่ กองพันทหารราบ

กองพันที่ 11 จัดจากกองพันทหารม้ารักษาพระองค์ โดยมีพลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็น องค์ผู้บังคับกองพันทหารม้ารักษาพระองค์

Parade-Take-an-oath-of-allegiance-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ พ.ย.67 ที่ บก.กองทัพไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์