ส่องฐานเงินเดือน ‘ข้าราชการพลเรือน’

15 พ.ย. 2566 - 12:00

  • เรื่อง ‘เงินเดือน’ คือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าใครก็ต้องสนใจ เมื่อรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เตรียมปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในรอบ 9 ปีนับตั้งการปรับฐานเงินเดือนครั้งล่าสุดในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ SPACEBAR จึงชวนมาส่องฐานเงินเดือนปัจจุบันของข้าราชการพลเรือน จะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย!

peek-salary-civil-servant-since-2015-SPACEBAR-Hero.jpg

นับเป็น ‘ข่าวดี’ ของข้าราชการไทยที่ใจจดใจจ่อกับหนึ่งในนโยบายใหญ่ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กับแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการปรับฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 25,000 บาท  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศึกษาความเป็นไปได้การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างรัฐ 

ก่อนที่รัฐบาลจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน วันนี้เราจะมาส่องดูฐานเงินเดือนของ ‘ข้าราชการพลเรือน’ ในปัจจุบัน หลังจากการปรับฐานเงินเดือนครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยพบข้อมูลจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 กำหนดเงินเดือนข้าราชการเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภททั่วไปที่คุณวุฒิต่ำกว่าระดับปริญญา

2. ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ ซึ่งกำหนดว่าต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ ก.พ.กำหนด

3. ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทอำนวยการ ซึ่งได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นมาจากประเภทวิชาการและประเภททั่วไป

4. ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทบริหาร ซึ่งได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นมาจากประเภทอำนวยการ

หากส่องดู เงินเดือนขั้นต่ำสูงของข้าราชการที่มีคุณวุฒิระดับปริญญา พบว่า เงินเดือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ขั้นต่ำชั่วคราวระดับปฏิบัติการอยู่ที่ 7,140 บาท ระดับชำนาญการ 13,160 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ 19,860 บาท ระดับเชี่ยวชาญ 24,400 บาท และระดับทรงคุณวุฒิ 29,980 บาท

ส่วนเงินเดือนขั้นต่ำ ระดับปฏิบัติการอยู่ที่ 8,340 บาท ระดับชำนาญการ 15,050 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ 22,140 บาท ระดับเชี่ยวชาญ 31,400 บาท ระดับทรงคุณวุฒิ  43,810 บาท

เงินเดือนขั้นสูงในประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการอยู่ที่ 26,900 บาท ระดับชำนาญการ 43,600 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ  58,390 บาท ระดับเชี่ยวชาญ 69,040 บาท และระดับทรงคุณวุฒิ 76,800 บาท

สำหรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทอำนวยการ ขั้นต่ำชั่วคราวในระดับต้นอยู่ที่ 19,860 บาท ระดับสูง 24,400 บาท ส่วนขั้นต่ำในระดับต้น 26,660 บาท ระดับสูง 32,850 บาท ขณะที่ขั้นสูงในระดับต้น 59,500 บาท และระดับสูง 70,360 บาท

ขณะที่เงินเดือนตำแหน่งประเภทบริหาร ขั้นต่ำชั่วคราวระดับต้นอยู่ที่ 24,400 บาท ระดับสูง 29,980 บาท ส่วนขั้นต่ำในระดับต้นอยู่ที่ 51,140 บาท ระดับสูง 56,380 บาท ขณะที่ขั้นสูงในระดับต้น 74,320 บาท ระดับสูง 76,800 บาท

Look-at-the-salary-Ordinary-civil-servant.jpg

นี่เป็นเพียงแค่รายละเอียดฐานเงินเดือนที่กำหนดในร่างกฎหมาย แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ที่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ไม่น้อยหากจะต้องปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ จากครั้งล่าสุดในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปรับขึ้น 4% ของอัตราเงินเดือน ซึ่งหากครั้งนี้ รัฐบาลเศรษฐา ตั้งใจปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 25,000 บาท ก็ย่อมพิจารณาไปถึงผู้ที่มีเงินเดือนมากกว่าเงินเดือนขั้นต่ำว่า พวกเขาเหล่านั้นจะได้ขึ้นเงินเดือนกันอีกกี่เปอร์เซ็นต์ 

การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการหรือเป็นที่สนใจอย่างยิ่ง เพราะถือว่า ข้าราชการไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนมานานกว่า 9 ปีแล้ว และยิ่งน่าสนใจไปมากกว่านั้นเพราะทุกครั้งที่มีการปรับเงินเดือนข้าราชการ มักจะพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐประเทศอื่นๆ ก็ได้รับการปรับฐานเงินเดือนให้สอดคล้องกับข้าราชการ และนี่ก็อาจจะขยายผลจนกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับภาคเอกชนได้อีกด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์