



หลังผ่าน 100 วันแรก ในการบริหารบ้านเมืองของ ‘รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน’ ก็มาถึงวาระที่จะต้อง ‘ตรวจการบ้าน’ โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล วิจารณ์แบบตรงๆ ว่า ยังไม่สามารถประเมินเป็นเกรดได้ เพราะยังไม่มีโรดแมปออกมาว่าจะทำอะไรที่ชัดเจน แต่ก็ได้วิเคราะห์ถึงผลงานรัฐบาล ภายใต้ 5 กรอบ ได้แก่
1. คิดดีทำได้ หรือสิ่งที่รัฐบาลทำได้ดี เช่น การช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในอิสราเอล 23 คน, จัดหาวัคซีน HPV ไปจนถึงการแก้ปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบ
2. คิดไปทำไป การปรับเปลี่ยนไปมา โดยเฉพาะโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ และการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ รวมไปถึงเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์
ในนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีกรรม เปลี่ยนมาแล้ว 4 ครั้ง จะเป็นการใช้งบประมาณที่เรา ลูกหลานเรา ต้องมาชดใช้ในอนาคต รวมถึงเป็นการเบียดบังงบประมาณที่สามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ในระยะยาวต่อได้ ซึ่งการที่รัฐบาลไม่คิดอย่างรอบคอบและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เกิดความสับสนในสังคมและในกลุ่มของตลาดทุนด้วย สิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลคือ ต้องมีแผน 2 หากจะเอาวอลเล็ต ไม่ควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนอีกแล้ว แต่หากจะไม่เอาดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะต้องมีความชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
3. คิดสั้นไม่คิดยาว เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่าคมนาคม มีแต่มาตรการระยะสั้น และยังไม่เห็นมาตรการการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น เรื่องของการลดค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือลดค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
4. คิดใหญ่ทำเล็ก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือการบริหารการท่องเที่ยวผ่านวีซ่าฟรี และการลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สปก. และค่าแรง ซึ่งเราเห็นนายกรัฐมนตรีสั่งการ เมื่อไม่ได้ตัวเลขที่ควรจะเป็น หรือตัวเลขที่ได้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ ก็มีการแสดงออกถึงความไม่พอใจ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำแล้วถือเป็นเรื่องที่ดี และมีความคล้ายคลึงกับนโยบายที่พรรคก้าวไกล เคยเสนอไว้
สิ่งที่ควรจะเป็นคือ อยากเห็นการเสนอแก้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เพิ่มเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือการแก้กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อลดขั้นตอนขออนุญาตกองถ่าย หรือจัดเฟสติวัล หรือการสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ รวมไปแก้ถึงการแก้กฎกระทรวงสุราก้าวหน้า เป็นต้น
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
5. คิดอย่างทำอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเมือง เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติที่มาของ สสร. และไม่ชัดเจนว่าจะมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ การปฏิรูปกองทัพ ทั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่สภาฯ สมัยที่แล้ว ในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความคิดที่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพรรคก้าวไกล แต่การกระทำตอนนี้ ค่อนข้างตรงข้ามกับสิ่งที่เคยคิดไว้
ส่วนสถานการณ์การเมืองในปีหน้า ที่มีการวิเคราะห์กันว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจาก เศรษฐา เป็น แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จะไม่เกิดนั้น พิธา มองว่า การปรับเปลี่ยนทิศทาง น่าจะเหมาะสมมากกว่าการหาทางลง เพราะประเทศไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้ แต่ขอให้ปรับเปลี่ยนทิศทางมีเป้าหมายและมีความเป็นมืออาชีพ ก็จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ดูแล้วเหมือนร้อนในปีหน้า ก็จะเบาบางลงได้ และการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในตอนนี้ ควรให้โอกาสนายกรัฐมนตรีได้ทำงานก่อน
พร้อมเสนอแนะนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่สามารถสั่งการลงไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที เพราะการบริหารราชการแผ่นดินไม่เหมือนกับเอกชน ที่จะต้องมีกระบวนการในการบริหารงานและให้คนไปติดตาม ว่าสิ่งที่สั่งการนั้นเป็นไปได้ทางกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะต้องมีการปรับแก้อย่างไร
โจทย์หินของรัฐบาล คือเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ GDP ที่ไม่แน่ใจว่าจะถึง 2% หรือไม่ เรื่องของดิจิตอลวาเล็ตที่อยู่ในกฤษฎีกา เรื่องของการท่องเที่ยวที่รายได้ไม่ถึง 4 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย แม้จะมีคนมาท่องเที่ยว 27 ล้านคนก็ตาม การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดไว้ในระดับ60% ดังนั้นฟรีวีซ่าตรงนี้ ก็ไม่เพียงพอ คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาล หากฟังประชาชนบ้าง เพื่อนนักการเมืองบ้างว่ามีความจำเป็นว่าจะต้องทำงานแบบมีโรดแมป
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

รอดูรัฐบาลแจง ‘งบฯ 67’ ก่อนตัดสินใจยื่นอภิปรายฯ หรือไม่ เมิน ‘ประชาธิปัตย์’ จ่อย้ายขั่ว ยันเป็นฝ่ายค้านสร้างสรรค์ ไม่จ้องล้มรัฐบาล
สำหรับประเด็นการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป พิธา ระบุขอรอดูว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่มีรายละเอียด ก็อาจยื่นอภิปรายฯ ในไตรมาสที่ 1 หรือไตรมาสที่ 2 เพื่อใช้โอกาสนั้นชำแหละเรื่องของงบประมาณ รวมถึงการชี้แจงคำถามของฝ่ายค้าน หากทำได้ไม่ดี ก็คงจะมีการยื่นอภิปรายฯ ขณะเดียวกัน ยังติดตามเรื่องการทุจริต และการใช้งบประมาณ หากมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็อาจยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาลในต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม พิธา ปฏิเสธให้คำตอบถึงความมั่นใจในพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลังเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคแล้ว จะยังเป็นฝ่ายค้านร่วมกันอยู่หรือไม่
ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน พรรคก้าวไกลก็ยังเป็นพรรคอันดับ 1 ของประเทศอยู่ดี เป็นพรรคที่มี สส.มากที่สุดอยู่ดี มีประธานกรรมาธิการอยู่หลายคณะ ดังนั้น เราตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะผ่านกรรมาธิการ ผ่านสภาฯ ก็เชื่อว่าจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก และทำงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน และเรามั่นใจในตัวของเรา และมั่นใจในการทำงานของเราว่า ก้าวไกลจะทำงานให้เป็นความหวังของพี่น้องประชาชน ให้สมกับที่พี่น้องประชาชนให้มา
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ส่วนที่มองกันว่า ฝ่ายค้านมัวแต่แก้ปัญหาภายในพรรค ไม่ได้ทำผลงานนั้น พิธา มองว่า ในส่วนที่มีปัญหาก็ต้องแก้กันไป แต่สิ่งสำคัญ จะต้องทำงานตามที่สัญญาไว้กับประชาชน โดยเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่จ้องแต่จะล้มรัฐบาลเพียงอย่างเดียว พร้อมยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สส.หลายคนของพรรคก้าวไกล เป็น ‘สส.ส้มหล่น’ ซึ่งก็จะพยายามพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่