




ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) นำคณะ สส.ของพรรคฯ และสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) แถลงข่าว “วิกฤต PM 2.5 คือ วิกฤตภาวะผู้นำ” และข้อเสนอเชิงนโยบาย ณ บริเวณดาดฟ้าชั้น 6 อาคารรัฐสภา
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนได้พาเพื่อน สส.และ ส.ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและแนะนำข้อเสนอต่อผู้นำประเทศ เนื่องจากเห็นว่าสาเหตุที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นผลมาจากช่องว่างในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น จึงต้องหันมาแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อพี่น้องประชาชน
เพราะปัญหาเรื่องฝุ่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครต้องอยู่ภายใต้วันที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานประมาณ 30 กว่าวัน จึงถือเป็นปัญหาวิกฤตอย่างมาก อีกทั้งประชาชนคนไทยไม่ได้เพิ่งรู้จักปัญหานี้ แต่รู้จักมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว
นอกจากนี้ มองว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปีที่ 3 ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเชื่อว่าถ้ามีการทำงานกันสอดประสานกันในผู้นำ 2 ระดับ เราจะดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่านี้ เพราะหากเทียบในช่วงระยะเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2568 จะพบว่าปัญหาฝุ่นเพิ่มขึ้นถึงมากกว่าเดิมถึง 20%
ขณะเดียวกัน หากติดตามค่าฝุ่นจะรู้ว่ามีปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ 1.7 มวนและที่ผ่านมาพรรคประชาชนจึงพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ อาทิ การผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด ที่ขณะนี้อยู่ในรัฐสภา รวมถึงมาตรการอื่นๆ และการตั้งกระทู้ถาม ตลอดจนผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์ในอนาคตและข้อบัญญัติเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
ปัญหาฝุ่นไม่ได้กระทบกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระทบตั้งแต่เด็กในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่าราวๆ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นเวลาที่รัฐบาลและผู้บริหารท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการร่วมกันอย่างจริงจัง อุดช่องว่างที่เกิดในการบริหารระหว่างกันและเดินหน้าแก้ไขเพื่อประชาชนโดยเร็วที่สุด
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ขณะที่ ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม.อ้างไม่มีอำนาจเต็มมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่พบว่ามี 3 เรื่องที่ผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คือ
- มาตรการเขตลดฝุ่น LEC ที่ห้ามรถบรรทุกเกิน 6 ล้อ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกรีนลิสต์เข้ามาวิ่งในโซน กทม.ชั้นใน เป็นจำนวน 2 วัน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจเต็มตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ในการจัดการ แต่เหตุใดถึงประกาศแค่โซน กทม.ชั้นใน ไม่ประกาศทั่ว กทม.50 เขต ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นสีแดง
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้แจ้งว่า ที่บังคับใช้มาตรการ LEC ใน กทม.ชั้นใน เพราะมีฝุ่น PM2.5 จากรถยนต์และรถสาธารณะมากกว่าโซนอื่น แต่หากเราใช้มาตรการ LEC ทั่ว กทม. แล้วขยายเวลาจาก 2 วันเป็น 1 สัปดาห์ คิดว่าจะสามารถลดฝุ่นได้จำนวนมาก
-
ไม่มีการประกาศมาตรการ Work from Home ทั้งที่ กทม.ประกาศค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มมาตลอดสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ก็มีอำนาจเต็ม ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรออะไร
-
กรณีที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอไปยังรัฐบาลให้ลดเกณฑ์ตรวจค่าทึบแสงควันดำรถยนต์ จาก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ ไม่ทราบว่าได้ดำเนินการให้ลดเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์หรือไม่? เนื่องจากยังพบว่ามีควันดำปล่อยออกมาจากรถอยู่
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกครั้งว่า ถ้าผู้นำทั้งสองระดับทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ร่วมมือสอดประสานกันจะสามารถดำเนินมาตรการหลายๆ อย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงขอแนะข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
-
กลุ่มที่ผู้บริหารทั้งสองระดับอาจจะดำเนินการทำแล้ว แต่ยังทำไม่เพียงเพียงพอ
-
กลุ่มที่สื่อสารมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง
-
กลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ
ส่วนเรื่องนโยบาย Low emissions zone ใน กทม.หลายพื้นที่ยังไม่ครอบครุม ข้อเสนอคืออยากให้มีการพลักดันมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงเรื่องอำนาจที่ยังไม่มากพอที่รัฐบาลส่วนกลางยังไม่มอบให้กับท้องถิ่น ดังที่กรุงเทพมหานครระบุว่ายังไม่มีอำนาจในการตรวจ จับ ปรับรถควันดำ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ที่รอการสอดประสานจากรัฐบาลส่วนกลาง
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เราเสนอผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต แต่น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้กฤษฎีกาตีความว่า กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการดำเนินการทำเอง แต่อย่าลืมว่ายังมีรัฐบาลระดับประเทศมีอำนาจเต็มในการที่จะออกกฎหมายลำดับรองหรือประกาศต่างๆ เพื่อกำหนดให้พื้นที่ กทม.ต่อจากนี้อีกกี่ปีต้องใช้รถโดยสารพลังงานสะอาด
ส่วนเรื่องปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ที่ทำอย่างไรให้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับอายุของรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งกรุงเทพมหานครยังขาดอำนาจในการจัดการมลพิษใน กทม. คือการรอประกาศกรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ ให้สามารถควบคุมมลพิษจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาภาคการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถขจัดปัญหาฝุ่นได้ ก็จะสามารถเป็นโรลโมเดล หรือแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ส่วนในวันที่ 13 ก.พ.นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร จะมีการถกแนวการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง