นับตั้งแต่วินาทีที่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันนี้ (20 ธันวาคม 2566) ก็ถือเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ แบบเต็มตัว หลังก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ‘หัวเรือพรรคก้าวไกล’ ต่อจาก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ในช่วงทะเลการเมืองแปรปรวนด้วยลมมรสุม
หากอ่านจังหวะท่าทีช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ‘กุนซือต๋อม’ ในฐานะที่เป็น ‘สายบุ๋น’ มาตลอด เริ่มออกลายรุกคืบดันประเด็นสำคัญ ที่พรรคนำเสนอต่อรัฐสภาแบบเต็มกำลัง กรณีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ที่ออกตัวชนิดลุยเดี่ยว จาริกเข้าสนทนาธรรมกับ ‘อดีตพระพุทธอิสระ’ ณ อาศรมสำนักอ้อมน้อย แบบไม่หวั่นเกรงคำครหา จากกองเชียร์ด้อมส้ม หรือกลุ่มการเมืองฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม เข้าทำนอง ‘บอแต่ไม่บ้า’ ตำหรับกลยุทธ์ซุนวู
แม้นจะไม่ได้แรงสนับสนุนจากเจ้าสำนักนกหวีด แต่ก็ฉายภาพให้เห็นถึงความมานะ ในการสร้างความสมานฉันท์กับอดีตแกนนำกปปส. ซึ่งเป็น ‘ศัตรูเก่า’ จนใครหลายคนมองว่า ‘ก้าวไกล’ ถอดรูปจาก ‘ส้มจี๊ด’ เปรี้ยวซ่าเป็น ‘ส้มเขียวหวาน’ เปรี้ยวพอให้น้ำลายสอบ้างตามฤดูกาล
อีกหนึ่งการพิสูจน์ฝีมือของชัยธวัช คือห้วงกระแส ‘คนชั้น 14’ กำลังเป็นทอร์กออฟเดอะทาวน์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ ‘พรรคส้ม’ ถูกสังคมจับจ้อง ในทางไร้ทัศนะกับประเด็น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับอภิสทธิ์ชนเหนือนักโทษอื่นทั่วไป
โดยหัวหน้าพรรคก้าวไกลออกมาแสดงความกังวลต่ออำนาจยุติธรรมที่ทักษิณได้รับ พร้อมตอกย้ำว่า ฝ่ายค้านพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบ หากไร้คำตอบเงียบหายไปดื้อๆ จังหวะนี้อาจโกยคะแนนทางใจได้แบบเต็มๆ สำหรับผู้ที่ฝังใจกับ ‘ผีทักษิณ’ ซึ่งปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ทุกฝากฝั่งของถนนการเมือง
อีกปรากฏการณ์แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงด้านวุฒิภาวะ ที่ใกล้เคียงกัน คือการเทคแอคชันของ ‘รังสิมันต์ โรม’ ในฐานะ ประธาน กมธ. ความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร ที่นำทีมงานคณะกรรมมาธิการ ‘บุกรังเสือ’ เปิดหน้าเข้าพบปะพูดคุยกับ ‘ทหาร - ตำรวจ’ แลกเปลี่ยนมุมมองกับ ‘พลเอกเจริญชัย หินเธาว์’ ผู้บัญชาการทหารบก ที่กองทัพบกถนนราชดำเนิน และ ‘พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ กรมปทุมวัน สลายภาพลักษณ์ ‘เด็กขี้ฟ้อง’ คู่แค้นคนในเครื่องแบบ ซึ่งผลตอบรับจากทั้งราชการและประชาชนดีกว่าที่คิด จนเกิดยูโทเปีย การร่วมงานกันได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นหนึ่งเดียว อย่างไม่น่าเชื่อ
ขณะที่บทบาทในสภาหินอ่อน ก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านก็ไม่ถือว่าหืดขึ้นคอมากนัก เพราะสามารถรักษา 2 เก้าอี้สำคัญ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ และ ‘รองประธานสภาฯ คนที่ 1’ ได้อย่างอยู่หมัด โดยการใช้วิชามารโยกย้าย ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ร่วมวงไพบูลย์กับพันธมิตรอย่าง ‘พรรคเป็นธรรม’ และหลายฝ่ายยังเชื่อว่า ‘รองอ๋อง’ จะยังคงช่วยคานอำนาจในรัฐสภาให้พรรคส้มอยู่ หรือแม้แต่การเป็นทำหน้าที่ ในฐานะปฏิมากรรมทางใจของกองเชียร์ฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนหลังเห็นได้ชัดเจน คือการเป็นประธานจัดงาน ‘เฉลิมรัฐธรรมนูญ’ ที่ถูกฟื้นฟูใหม่ในรอบ 66 ปี ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐสภา ดูใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น อีกนัยคือการสื่อถึงความสำคัญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น ‘มรดกบาป’ ที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพกาลยุค ‘คสช.’ เรืองอำนาจ
ในส่วนองคาพยพก้าวไกล หากตัดประเด็นเรื่อง ‘การคุกคามทางเพศ’ ซึ่งเป็นกรณีส่วนบุคคลออกไป จะพบว่า การทำหน้าที่ในรัฐสภาก็มีการเดินเกมที่แยบยล ดูมีชั้นเชิงมากขึ้น สามารถลบแรงเสียดทาน ‘ชั่วโมงบินต่ำ’ ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการพลิกเกม ‘สภาล่ม’ ที่เกิดขึ้นไปหมาดๆ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน
เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่ถูกพรรคส้มย้อนเกล็ด ในระหว่างลงมติร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ
เรื่องนี้หลายคนมองว่า เป็นแผนตีกลับของพรรคก้าวไกล เพราะร่างข้อบังคับ ‘สภาฯ ก้าวหน้า’ ถูกฝ่ายรัฐบาล ใช้อำนาจเสียงข้างมากมาตัดสิน จนได้รับชัยชนะในเกมนี้ไป ทว่าเมื่อผลการลงมติ (ที่ตัดเสียงพรรคก้าวไกล) ออกมากลับพบ ว่าองค์ประชุมไม่ครบจนภายหลังเกิดวิวาทะจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ในฐานะแกนนำวิปรัฐบาล ออกมาวิจารณ์พรรคก้าวไกล
แต่สุดท้ายก็ถูก ‘ดิจิทัลฟุตพริ้นท์’ เข้าตอกกลับ เพราะมีการย้อนวาจาสมัยเป็นฝ่ายค้าน เรื่องการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่พรรคร่วมรัฐบาล กลายเป็นพรรคแดงถึงคราวน้ำท่วมปาก ถูกเกมสภาพรรคก้าวไกลเข้าเล่นงาน จนเสียแต้มทางการเมืองไป เท่ากับว่า ‘สามเณรฝึกหัด’ ตามที่ใครๆ เคยสบประมาทในวันวาน ชันพรรษามากขึ้น อ่านบาลีการเมืองได้แตกฉานไม่ด้อยกว่า ‘สมภารเฒ่า’
อย่างไรก็ดี หากประเมินด้วยสายตา มวลรวมของการทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้าน’ ของพรรคก้าวไกล ถือว่าไม่ได้ล้มเหลว หรือดูโดดเด่นเกินไปนัก อาจเป็นเพราะสภาเพิ่งเปิดประชุมได้ไม่นาน และในการเมืองช่วงต้นหลังเลือกตั้ง บทบาทสำคัญตกอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล ที่ดูๆ แล้วก็ยังไม่ผลิดอกออกผลให้จับต้องได้แบบเต็มไม้เต็มมือ เช่นกัน
กระนั้น ศูนย์โพลและสํารวจไอเอฟดีโพล จากสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD Poll) ได้เปิดเผยผลสํารวจความเห็นกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนจำนวน 1,273 คน เรื่อง การประเมินผลงาน 100 วัน ‘นายกฯ รัฐบาล ฝ่ายค้าน’
โดยคะแนนเต็ม 10 ฝ่ายค้านได้รับไปทั้งสิ้น 5.71 คะแนน ส่วนหนึ่งได้ระบุถึงผลงานยอดเยี่ยมอันดับแรก จากประชาชน ร้อยละ 55.89 มองว่าฝ่ายค้านสามารถทำหน้าที่คัดค้านท้วงติงชัดเจน ตรงประเด็น ใช้ข้อมูลและเหตุผลมาสนับสนุน ไม่ใช่แค่พูดเพื่อโจมตี ขณะที่ฝากฝั่งของรัฐบาลได้รับคะแนนไปที่ 5.58 คะแนน
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว อาจแสดงให้เพียงภาพรวมการทำงานในช่วงตั้งไข่ของรัฐบาลเศรษฐาเท่านั้น ยังคงต้องติดตามการทำงานฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคก้าวไกลต่อไป ว่าจะมีทิศทางหรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ออกมาในรูปแบบไหน
ท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องพูดควบคู่กันไป คือประเด็นทางสองแพร่งของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ กรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญเรียกไตร่สวนปม ‘หุ้นสื่อไอทีวี’ นัดแรก (วันนี้) ซึ่งเป็นวันเดียวกับชัยธวัช ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านแบบเต็มตัว โดยกองเชียร์จะต้องรอลุ้นการอ่านคำตัดสินในวันที่ 24 มกราคมปีหน้า
หากศาลท่านให้คำวินิจฉัย ในทางที่เป็นคุณต่อ ‘หนุ่มทิม’ จนพ้นมลทินข้อกล่าวหาข้าง ก็อาจจะได้กลับมาทำหน้าที่ สส. ดั่งเดิม แต่อาจจะต้องอ่านฉากทัศน์ทางการเมืองในวันข้างหน้าต่อไป เพราะเมื่อผลประโยชน์ตกอยู่ที่พรรคส้มแล้วไซร้ บันลังก์หัวหน้าพรรคของชัยธวัชจะถูกริบกลับคืนสู่พิธาหรือไม่ แล้วกรรมการบริหารพรรคที่จะต้องถูกเลือกใหม่จะออกมาในทิศทางแบบไหน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลต่อเกมในสภา ในฐานะ ‘ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน’ ทั้งสิ้น
แต่อย่าลืมด่านสุดท้ายของพิธา คือ คดีแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้อง เป็นทนายความของพุทธอิสระที่ชัยธวัชได้เข้าหารือเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไปอย่างที่ว่ามา ล่าสุดออกดีเดย์แล้ว จะมีการไตร่สวนในวันที่ 25 ธันวาคมนี้
ปมนี้หนักเอาการ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องสถานภาพการเมืองส่วนบุคคล แต่จะลุกลามไปถึง ‘พรรคก้าวไกล’ ว่าจะถูกยุบไปด้วยหรือไม่
ถึงเวลาฟ้าดินเท่านั้นที่จะหยั่งรู้…