เปิดภารกิจลับสุดท้าย! ก่อน ‘บิ๊กตู่’ เป็น ‘องคมนตรี’

7 ธ.ค. 2566 - 02:20

  • เปิดภารกิจลับส่งท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนได้รับแต่งตั้ง ‘องคมนตรี’ แม้ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว แต่ความเป็น ‘ผู้นำประเทศ-ทหาร’ ยังคงอยู่ เพราะภารกิจสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แล้วภารกิจนั้นคือ?

Prayut-Min-Aung-Hlaing-Relationship-Military-Laukkaing-SPACEBAR-Hero.jpg

ช่วง 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.66) หลัง ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นเก้าอี้นายกฯ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงติดตามข่าวสารบ้านเมือง และเป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัว-เพื่อน ตท.12 ตามที่ตั้งใจไว้ เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จนขึ้นตำแหน่ง 5 เสือ ทบ. ก็ไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศอีกเลย 

แม้จะพ้นเก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว พร้อมกับการประกาศ ‘วางมือการเมือง’ เพื่อเปิดทาง-ลดเงื่อนไขให้ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ มาร่วม ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ผ่านภาพ ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ เกิดภาพ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ไปเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบฯ เพื่อส่งมอบงาน-ขอคำแนะนำ เรียกได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากอำนาจได้อย่าง ‘ซอฟต์แลนดิง’ ก่อนไปเป็น ‘ผู้เล่นนอกสนาม’ แทน ที่สำคัญถูกมองเป็น ‘นายกฯ เงา’ อีกด้วย 

แต่ภารกิจการเป็น ‘ผู้นำประเทศ-ทหาร’ ดูเหมือนยังไม่จบ เพราะมี ‘ภารกิจเพื่อชาติ’ ส่งท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยื่นมือเข้ามาช่วย ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น ‘องคมนตรี’ คือการช่วยคนไทยที่เมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา หลัง ‘กองทัพเมียนมา’ เตรียมเปิดฉากสู้รบกับ ‘กองกำลังชนกลุ่มน้อย’ พร้อมทลายแหล่ง ‘ทุนจีนสีเทา’ ทำให้ต้องมีการ ‘อพยพคนไทย’ ในเมืองเล่าก์ก่ายออกมา 

การพูดคุยกับ ‘ทางการเมียนมา’ ที่เป็น ‘รัฐบาลทหาร’ ต้องใช้ ‘กลไกทหาร’ ด้วยกันในการเจรจาหลายระดับ ตั้งแต่ระดับ ‘ท้องถิ่น-ประเทศ’ จึงเป็นหน้าที่ของ ‘กองทัพบก’ ที่เป็น ‘แม่งานหลัก’ ในการช่วย 41 คนไทย ล็อตแรก ช่วงวันที่ 15-16-16พ.ย.66 ที่อพยพออกจากเล่าก์ก่าย มาก่อนแล้ว ลงมาทางใต้ ไปยัง ‘เมืองยาง แล้วมาที่ ‘เมืองเชียงตุง’ เพื่อให้ จนท.เมียนมา ตรวจสอบเอกสาร -สอบสวนขยายผล ‘ขบวนการทุนจีนเทา’ แต่ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว โดยมีปลายทางคือ กองบังคับการกรมยุทธศึกษาทหารบก แขวงท่าขี้เหล็ก (บก.ยศ.ท่าขี้เหล็ก) ที่ตรงข้ามกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 

จนมาถึงวันที่ 17พ.ย.66 กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ณ กรุงเนปิดอร์ ส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำเมียนมา ที่กรุงย่างกุ้ง อนุมัติการส่งตัวคนไทยกลับทั้งหมด 41 คน วันที่ 18พ.ย.66 ขอให้สถานทูตไทยฯ ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งตัวคนไทยกลับให้ราบรื่น ที่ด่านชายแดน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา 

ทั้งนี้พร้อมกับที่ ‘ทางการเมียนมา’ อนุมัติให้อพยพคนไทยอีก 266 คน ในเมืองเล่าก์ก่าย ผ่านด่านชายแดนเมียนมา-จีน ในวันเดียวกัน (18 พ.ย.) แต่ติดห้วงเวลาปิดด่าน จึงเลื่อนมาผ่านด่านวันรุ่งขึ้น (19พ.ย.) โดยมี ก.การต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก และ ทบ. เป็นส่วนสนัยสนับสนุน โดย 266 คนไทย ข้ามแดนมามาฝั่งจีน ไปยังนครคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน เพื่อเดินทางโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำที่ กต. จัดเตรียมไว้ 2 ลำ จากนครคุนหมิงกลับถึงไทย 

ภารกิจครั้งนั้น แค่เพียงกำลัง ทบ. ไม่เพียงพอที่จะเจรจากับ ‘ทางการเมียนมา’ ทำให้ ทบ. ประสานไปยัง ‘รัฐบาล’ เพื่อส่งไปถึง ‘กลาโหม-นายกฯ’ ตามขั้นตอน แต่สุดท้ายมีรายงานว่า ต้องไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็น ‘ไม้สุดท้าย’ ได้ทำการ ‘ผู้โทรศัพท์สายตรง’ ไปยัง ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ช่วงคืนวันที่ 16พ.ย.66 ด้วย ‘สายสัมพันธ์ส่วนตัว’ ที่มีมาตั้งแต่เป็น ‘บิ๊กทหาร ทบ.’

จึงทำให้ช่วงเย็นวันที่ 17พ.ย.66 มีหนังสือกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ณ กรุงเนปิดอร์ อนุมัติการส่งตัวคนไทยกลับนั่นเอง ทำให้มีคนไทยได้อพยพออกมาจากเมืองเล่าก์ก่ายอีกหลายล็อต

ถือเป็น ‘ภารกิจลับสุดท้าย’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น ‘องคมนตรี’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์