ปัญหาชายแดนสีเทา จาก ‘ว้าแดง’ สู่ ‘ริมเมย’

9 ม.ค. 2568 - 11:09

  • อ่านปรากฏการณ์ จาก ‘ว้าแดง’ สู่ ‘ชเวโก๊ะโก่’

  • เมื่อไทยต้องรับสภาพ ‘หนามยอกอก’ จากปรากฏการณ์ ‘ชายแดนสีเทา’

Problems-of-illegal-business-on-the-Thai-Myanmar-border-SPACEBAR-Hero.jpg

บรรดาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2567 มาจนถึงการเริ่มศักราชใหม่ หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาตามแนวชายแดน ‘ไทย - เมียนมา’ ทั้งกรณีการตั้งฐานทัพของ ‘ว้าแดง’ ที่มีการสาวลึกเบื้องหลัง ว่าเป็นแหล่งผลิตยานรก ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกรณี นักแสดงชาวจีน ‘ซิงซิง’ ถูกลักพาตัว จากฝั่งไทยไปยัง ‘ชเวโก๊กโก่’ ในเขตการปกครองของกองกำลังกะเหรี่ยง  

จนอดตั้งสมมุติฐานไม่ได้ ว่ากรณีอาชญากรรมข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นกลายเป็น ‘หนามยอกอก’ ของ ‘รัฐบาลไทย’ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะใช้แนวทางปกติในการสะสางปัญหา  

ด้วยลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์เฉพาะตัว และมิติทับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ จึงตัดสินใจชวน ‘ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงศ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาสังเคราะห์ปูมหลังของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  

บริบททับซ้อน ‘ธุรกิจสีเทาเพื่ออำนาจของรัฐ’

“ต้องเข้าใจว่าสงครามในเมียนมา สิ่งที่ชาติพันธุ์ - ชนกลุ่มน้อย ต้องการที่สุดคือ อาวุธ แล้วทุกกลุ่มก็จะมีธุรกิจของตัวเอง เพื่อหาเงินเสริมสร้างความแข็งแกร่ง จึงเป็นที่มาว่าทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงอยู่คู่กับธุรกิจผิดกฎหมาย” 

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว

ลลิตา เล่าบริบทความสัมพันธ์ระหว่าง ‘กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา’ กับการมีอยู่ของ ‘ธุรกิจสีเทา’ เสมือนเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ของรัฐให้ได้มากที่สุด อย่างกรณี  ‘ว้าแดง’ ที่มีฝิ่นและโรงงานตั้งต้นผลิต  ‘ยาเสพติด’ หลายชนิด เป็น ‘ทุน’ ในการพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ให้เศรษฐกิจและกองทัพ ผนวกกับการได้รับความช่วยเหลือจาก ‘จีน’ ซึ่งทำให้รัฐว้ามีสถานะเสมือนกับกองกำลังชายแดนของจีนไปปริยาย  

ทำให้กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลเหนือกลุ่มอื่นใด ดังนั้น ในหลายๆ กรณี ‘รัฐบาลเนบิดอว์’ จึงไม่ประสงค์ที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาระหว่างรัฐโดยตรง แต่ผ่อนปรนในลักษณะการยอมรับข้อตกลงหลายๆ อย่างที่สามารถทำได้

“ด้วยความเข้มแข็งของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ทำให้ธุรกิจผิดกฎหมายยังคงอยู่ ตราบใดก็ตามที่สงครามกลางเมืองเมียนมายังลากยาว คงจะไม่ใช่แค่กลุ่มว้าแดงเท่านั้น ที่จะมีบทบาทเป็นเจ้าของสินค้าผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ ด้วยที่พยายามเติบโตด้วยโมเดลในลักษณะคล้ายคลึงกัน”

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าว

บริบททางเศรษฐกิจ ‘ว้าแดง - กะเหรี่ยง’ ที่เหมือนและต่างกัน  

นักวิชาการเมียนมาศึกษา ยกตัวอย่าง ‘รัฐกะเหรี่ยง’ ที่ปัจจุบันกระจายตัวอยู่ 5 กลุ่ม ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่เนื่องๆ เกี่ยวกับเศรษจกิจสีเทาที่เริ่มขยายตัว อย่างที่พูดถึงล่าสุดคือ เขตการปกครอง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (ฺBGF) อย่าง 'ชเวโก๊กโก่' (Shwe Kokko) ทำเลทองสีเทาที่ถูกยกให้เป็น ‘Scam Center’ แหล่งรวม ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ และ ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ (Entertainment Complex) ที่มีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดการขยายตัวไปทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยงด้วย  

ในมุมมองของลลิตาเชื่อว่า เมื่อใดสงครามกลางเมืองเบาบางลง ย่อมทำให้การรุกคืบของธุรกิจมืดจะเกิดการชะลอตัว และจะส่งผลดีกับ ‘ไทย’ ด้วย เนื่องจากจะเกิดความร่วมมือย่างเต็มที่กับรัฐบาลกลางเมียนมา แต่ด้วยตอนนี้มันเกิดสูญญากาศทางอำนาจ ทำให้เนบิดอว์ไม่มีอำนาจ (Authority) และความชอบธรรม (Legitimacy) ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา ได้ 

ส่วนการเกิดธุรกิจสีเทา ใน ‘รัฐว้าแดง’ และ ‘รัฐกะเหรี่ยง’ มีปัจจัยที่เหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ในแง่ของการจัดการแบบ ‘รัฐเชิงซ้อน’ (Deep State) อาจมีความคล้ายคลึงในบางมิติ แต่ในแง่อำนาจ ‘ว้าแดง’ มีความเข้มแข็งมั่นคงมายาวนานกว่ากะเหรี่ยง ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพื่อผลิตเฮโรฮีนให้กับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ขณะที่ ‘กะเหรี่ยง BGF’ เติบโตมาพร้อมๆ กับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาปัจจุบัน ซึ่งพอมีกำลังและเงินมากขึ้นย่อมส่งผลคล้ายคลึงกับรัฐว้า ที่รัฐบาลกลางไม่กล้าเข้ามาแตะต้อง แต่ใช้เป็นตัวแทนในการคานอำนาจกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ แทน 

ทว่า กลุ่ม BGF จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง (โดยตรง) แต่มีการยินยอมเปิดที่ให้ทุนจีน (สีเทา) ได้เข้ามาทำธุรกิจต่างๆ ผ่านการเช่าพื้นที่ - จัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจของรัฐ 

จุดยืนของไทย ในภาวะ ‘ชายแดนสีเทา’ 

ลลิตา กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความกลัวของฝ่ายความมั่นคงไทย คือการมองปรากฏการณ์แบบผิวเผิน หรืออีกนัยคือการมองว่าเป็นปัญหาภายในของเมียนมา ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับ ‘สภาบริหารแห่งรัฐ’ ( Sac) ยังคงมีอยู่ จึงเกิดความกังวลว่า หากมีปฏิบัติการบางอย่างเกิดขึ้น ย่อมทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางเมียนมาเปลี่ยนไป  

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ชเวโก๊ะโก่ จำเป็นต้องดำเนินไปอย่างบูรณาการ ซึ่งจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเนบิดอว์ - รัฐบาลปักกิ่ง ด้วย ไม่เว้นแม่แต่การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระดับโลก อย่างการบาลานซ์อำนาจระหว่าง ‘สหรัฐ - จีน’ ได้อย่างไร ซึ่งในเชิงทฤษฎี ไม่ต่างอะไรกับ สภาวะเขาควาย (Dilemma) ที่ต่างฝ่ายกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

“เรื่องนี้รัฐบาลต้องคุยกับหลายฝ่าย คือคนไทยมักบอกว่าเราส่งทหารเข้าไปทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือโรงงานยาเสพติดเลยก็ได้ แต่ต้องไม่ลืมนะคะว่า เราไม่มีอำนาจเพราะมันอยู่ฝั่งเมียนมา แต่ในเมื่อรัฐบาลกลางของเขาไม่สนใจแก้ปัญหาตรงนี้ เราก็ต้องมาคิดว่าจะบูรณาการได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ หรือแม้แต่การหลอกลวงดาราจีน มีผลต่อภาพลักษณ์ไทย เราจึงต้องกลับมาวางแผนตั้งต้นให้ชัดเจนขึ้น ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร และแอคชันแพลนระหว่างชนกลุ่มน้อย - ประเทศเครือข่ายควรจะเป็นอย่างไร”

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์