“ให้มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็น ผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ให้สภาฯ เสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย”
ข้อความใน มาตรา 22 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2559 ถูกหยิบยกขึ้นมา ภายหลัง ‘หมอมิ้ง’นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงนามหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอรับโอน ‘บิ๊กรอย’พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. โอนมารับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 66
ทั้งนี้ นพ.พรหมินทร์ กล่าวถึงการทำหนังสือการขอรับโอนข้าราชการตำรวจว่า เป็นไปตามกระบวนการ เนื่องจากเป็นการย้ายหน่วยงาน ซึ่งตนเองทำในนามนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ นายกฯ เป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อขอทาบทาม โดยการทำหนังสือนี้จะต้องทำแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ จากนั้นเจ้าตัวคือ พล.ต.อ.รอย จะต้องตอบว่าเจ้าตัวยินยอมหรือไม่ และหน่วยงานยินยอมหรือไม่ และขั้นตอนต่อไปจึงจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม สมช. แล้วจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ทั้งนี้มีการเปิด มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2559 ขึ้นมา เพื่อชี้ว่าหนังสือที่ นพ.พรมินทร์ ลงนามนั้น ‘ผิดขั้นตอน’ มาตรา 22 หรือไม่ ?
เพราะตามขั้นตอนที่ ‘คน สมช.’ รับทราบนั้น ทางสภา สมช. จะต้องมีมติออกมาก่อน จากนั้นทาง สมช. จะทำหนังสือออกไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำการขอตัว พล.ต.อ.รอย โอนย้ายมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ในตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ดังนั้นขั้นตอนที่ นพ.พรหมินทร์ ลงนามหนังสืออาจไม่เป็นไปตามขั้นตอน มาตรา 22 ตามที่ระบุข้างต้น
อีกทั้งหนังสือออกโดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ออกโดยโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะ สมช. ขึ้นตรงกับ ‘นายกรัฐมนตรี’ ไม่ได้ขึ้นตรงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
อีกจุดที่ถูกจับสังเกต คือ ย่อหน้าแรกในหนังสือที่ นพ.พรหมินทร์ ลงนาม ใช้คำว่า “ด้วยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ” ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้น ‘สำนักงาน สมช.’ กับ ‘สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สภา มช.’ เป็นคนละส่วนกัน เพราะการแต่งตั้ง ‘เลขาธิการ สมช.’ จะต้องมาจาก ‘สภา มช.’ ไม่ได้มาจาก ‘สำนักงาน สมช.’
ดังนั้นจึงต้องจับตา คำสั่งขอตัว พล.ต.อ.รอย มาเป็น เลขาธิการ สมช. ที่ลงนามโดย นพ.พรหมินทร์ จะจบอย่างไร หากมีการนำทักท้วงขึ้นมา? และ นพ.พรหมินทร์ จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร?
เพราะเรื่องนี้ลักษณะดังกล่าว เคยเกิดขึ้นกับ ‘รัฐบาลในอดีต’ ที่กลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ มาแล้ว!
