เล็งยื่น กกต.ตรวจสอบ ‘นักการเมือง-ครอบครัว’ ปม ‘ถือหุ้นสื่อ’

25 ม.ค. 2567 - 06:27

  • ‘เรืองไกร’ ลุยต่อ! เตรียมยื่น ‘กกต.’ สอบปม ‘ถือหุ้นสื่อ’ กราวรูดทั้ง รมต.- สส.- สว. พ่วงคู่สมรส-ลูก

  • หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ ‘พิธา’ รอด ‘คดีหุ้นไอทีวี’ ยังข้องใจปม ‘ถือ 1 หุ้นก็ผิด’

Ruangkrai-plans-to-submit-ECT-investigate-politicians-regarding-media-shareholdings-SPACEBAR-Hero.jpg

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือเรียกได้ว่ารอดบ่วงคดี ‘ถือหุ้นไอทีวี’ พร้อมกลับเข้ามาทำงานในสภาฯ วันนี้ (25ม.ค.) หนึ่งในคนสำคัญเรื่องยื่นสอบปม ‘หุ้นสื่อ’ นั่นก็คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้ความเห็นโดยยอมรับว่า ยังติดใจประเด็นเรื่อง ‘หนึ่งหุ้นก็ผิด’ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อเท็จจริง ของนักการเมือง รัฐมนตรี สส. และ สว. รวมถึงคู่สมรสและบุตรด้วย ซึ่งมองว่าการ ซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ บางทีซื้อเช้า-ขายบ่าย จะไม่ปรากฏอยู่ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 รวมถึงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือ บมจ.006

จึงเตรียมยกร่างคำร้องยื่นต่อกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปไล่ตรวจสอบ สส.ทั้งหมดว่า ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง มีใครซื้อขายหุ้นที่เป็นหุ้นสื่อ ที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายตัว เพราะหลายคนแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ซึ่งมีหลายคนบอกว่า มีบัญชีหุ้น

ส่วนเหตุผลที่นึกถึงเรื่องนี้ เพราะเคยยื่นคำร้อง สส.ที่แจ้งบัญชีว่า ถือหุ้นสื่อแห่งหนึ่ง โดยเพิ่งทราบข้อเท็จจริงว่า สส.คนดังกล่าวนั้นซื้อหุ้นหลังจากเป็น สส.แล้ว จึงคิดว่าความไม่รู้ของเขาอาจเกิดจากโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น เมื่อเห็นตัวอย่างเช่นนี้ จึงมีหน้าที่ต้องดูทั้งหมด โดย กกต.ต้องขอข้อมูลทั้งหมดมาตรวจสอบ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาร่างคำร้องประมาณ 1-2 สัปดาห์ พร้อมขอให้ตรวจสอบไปถึงคู่สมรสและบุตร เพราะเป็นลักษณะต้องห้าม และขัดกันของผลประโยชน์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องตรวจสอบ ถ้าเจอก็ต้องส่งศาล และระบบสามารถดึงข้อมูลมาได้อยู่แล้ว เชื่อว่าคงไม่ใช้เวลานาน

เราสงสัยว่าระหว่างอยู่กัน 4 ปี ก่อนพ้นจากตำแหน่งไปขายหุ้นออก แล้วช่วงนี้ก็ทำกำไรไปก่อน ซึ่งถือเป็นลักษณะต้องห้าม

สำหรับกรณีที่ศาลฯ วางหลักว่า ‘หุ้นเดียวก็ไม่ได้’ คงไปตอบหลายคนที่คำนวณสัดส่วนหุ้น ซึ่งตนก็ไม่ได้แปลกใจอะไรในเรื่องนี้ เพราะตอนที่เป็น สว. เคยร้องเรื่องหุ้นสัมปทานมาแล้ว ซึ่งศาลวินิจฉัยมาแล้วว่า หุ้นเดียวก็ถือไม่ได้

ส่วนกรณีนายพิธา ศาลวินิจฉัยว่า มีการถือหุ้นจริง แต่หุ้นดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นหุ้นสื่อแล้ว เนื่องจากงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง และสัญญาที่ถูกยกเลิก และไอทีวีไปฟ้องเรียกค่าเสียหายและให้คืนคลื่น ซึ่งตรงนี้เข้าใจได้ ว่าฟ้องให้คืนคลื่นไม่ได้ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาแล้วว่าให้เอาคลื่นนี้ไปให้ Thai PBS

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์