อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ การวัดพลังเต็มไปด้วยความเข้มข้น โดยเฉพาะ 2 ขั้วการเมืองใหญ่ ‘แดง-ส้ม’ ระดมแกนนำและทีมหาเสียงลงพื้นที่แบบเต็มสูบ งานนี้ ไม่มีใครยอมใคร ทั้ง 2 ฝั่ง มี ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ระดับท็อปอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ มาแย่งชิงเก้าอี้กันเต็มที่
วันนี้ ทีมข่าว SPACEBAR พามาเจาะลึกกับบทบาท ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ของทั้ง 2 คน กับ ‘อ.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่วิเคราะห์ความเหมือนความต่างไว้แบบตรงประเด็น
ประการแรก ‘อ.สติธร’ บอกได้เลยว่า สิ่งที่เหมือนกันของ ‘ทักษิณ’ และ ‘พิธา’ ก็คือ การช่วยหาเสียง แต่สิ่งที่ ‘แตกต่าง’ นั่นก็คือ อุปกรณ์เสริมในมือ “ไม่เท่ากัน”
“ทักษิณ เขาระดับพ่อนายกฯ เขาช่วยหาเสียง เขาพูดอะไร เขาเชื่อมโยงกับนโยบายชาติได้ มันคือของจริงว่าเขาถืออำนาจรัฐอยู่ แปลว่า ไม่ใช่แค่ขายฝัน โม้ ถ้าบอกว่า นโยบายรัฐบาล เดี๋ยวเรื่องนี้จะมาลงจังหวัดนี้ มันก็ชัดว่าลงแน่ แต่ถ้าพิธาพูด ก็พูดได้แค่ว่า เราจะทำให้จังหวัดนี้ดีอย่างไร เพราะเขาไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอำนาจรัฐทางฝ่ายค้านไง เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพประสิทธิผลของเครื่องมือมันต่างกันเยอะ”
อ.สติธร วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน
‘อ.สติธร’ บอกอีกว่า ทั้งสองฝั่ง มีแรงดึงดูดผู้คนคนละแบบ กล่าวคือ อันหนึ่งมันจับต้องได้ พูดวันนี้ เดือนหน้ามาเลย กับอีกคนพูดวันนี้เพื่อฝากความหวังเอาไว้เฉยๆ ถ้าจะมาทันทีได้แค่ระดับจังหวัด ก็คือถ้าได้นายกอบจ.พรรคประชาชน ก็จะได้ภายใต้ข้อจำกัดว่า อบจ.ทำอะไรได้ มีงบได้แค่ไหน กับ รอปี 2570 แล้วเดี๋ยวพรรคประชาชนแลนด์สไลด์กลายเป็นรัฐบาล แล้วค่อยว่ากันอีกที ‘คือความหวังประเภทระดับชาติ มันไปไม่ถึง’ แต่ถ้าระดับท้องถิ่น มันได้ แต่ข้อจำกัดคือ ระดับท้องถิ่น มันได้แค่ไหน จูงใจคนได้ขนาดไหน ‘มันคิดใหญ่ไม่ได้มาก’
ทิศทางในสนาม อบจ. ระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ กับ ‘พรรคประชาชน’ เป็นอย่างไร?
‘อ.สติธร’ มองแบบฟันขาดว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เปรียบ และน่าจะชนะเป็นส่วนใหญ่ที่เขาอยากได้ เพราะเขาพูดในสิ่งที่มันจับต้องได้ สนามท้องถิ่น คนเขาจะเลือกอะไรที่จับต้องได้มากกว่า มันคือเลือกคนไปทำงานให้ท้องถิ่น มันก็ต้องดูว่า คนนั้นคือใคร ทำงานได้ใช่ไหม ในจังหวัดเป็นอย่างไร เครือข่ายในจังหวัดเป็นอย่างไร เชื่อมโยงกับส่วนกลางได้เลเวลไหน แล้วผลตอบรับกลับมาคืออะไรสำหรับประชาชน
“เขาได้เปรียบ เพราะว่าเพื่อไทยได้หมด มีบ้านใหญ่ แชมป์เก่าเป็นส่วนใหญ่ เรื่องความเป็นเครือข่ายในพื้นที่ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เต็มเปี่ยม ส.อบจ.กี่เขต ยังไม่นับกลไกอื่นอีก กลไกภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ที่เขาถือผลประโยชน์อยู่ในจังหวัด ไหนจะเชื่อมโยงกับผลประโยชน์จากภายนอกได้อีก กับรัฐบาลส่วนกลาง มาการันตีคุณภาพ พร้อมจะเชื่อมโยงกันในด้านการพัฒนา เขาก็ได้เปรียบ”
อ.สติธร กล่าวถึงความได้เปรียบของ ‘พรรคเพื่อไทย’
แต่ว่าพอมาถึงพรรคประชาชน พรรคประชาชนก็ได้แค่ “โอเค ชวนคนว่า จังหวัดนี้เป็นจังหวัดบ้านเรา เป็นจังหวัดของเรา เราก็ต้องช่วยกันทำ อะไรแบบนี้” มันสร้างได้แต่ปลุกอารมณ์ความรู้สึก...
‘มันไม่เหมือนเลือกตั้งใหญ่’
เพราะการเลือกตั้งใหญ่มันคือ ‘รัฐบาล’ เราก็เลือกรัฐบาลสีส้มกัน
ถ้าอย่างนั้น พรรคประชาชน ‘เสี่ยงจะแพ้’ ใช่หรือไม่?
“ไม่เสี่ยงหรอก แพ้อยู่แล้ว” อ.สติธร กล่าวอย่างตรงไปตรงมา
พร้อมย้ำทิ้งท้ายอีกว่า ‘อย่าคิดเยอะ ยังไงก็แพ้อยู่แล้ว ตอนนี้ขอสักจังหวัดหนึ่ง ไม่หวังเยอะ เพราะศูนย์กับหนึ่งมันต่างกันเยอะนะ ขอหนึ่งจังหวัดเท่านั้น แล้วเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้’
งานนี้ ต้องจับตาดูสนามเลือกตั้ง นายก อบจ.อย่างจริงจังแล้วว่า ผลที่ได้ จะออกมาดั่งการวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมานี้หรือไม่ แล้วมาลุ้นกัน!