อ่านเหตุผล ‘นักอนุรักษ์’ ค้านปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’

17 พ.ย. 2566 - 15:53

  • จับตาประเด็นการปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’ ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง และมุมมองการคัดค้านแบบหัวชนฝาของนักวิชาการ ผ่านสายตาของ ‘ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กับบทสนทนาแบบเปิดอกที่นักอนุรักษ์อยากสื่อสารกับทุกคน ในวันที่ระบบนิเวศถูกทำลายลงเรื่อยๆ

Scholars-oppose-the-law-red-whiskered-bulbul-SPACEBAR-Hero.jpg

เวทีประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความข้อเรียกร้องปลดล็อก ‘นกปรอดหัวโขน’ ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้เกิดการค้า - การเพาะเลี้ยงได้อย่างเสรี ผ่านพ้นไป 2 ครั้งแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมจะมีคำถามคาใจอยู่ โดยเฉพาะชุดข้อมูลที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับจากกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนก และนักอนุรักษ์ จะเพียงพอหรือมีน้ำหนักในการพิจารณาขั้นต่อไป มากน้อยแค่ไหน 

เพราะลำพังกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้น ก็ดูเหมือนจะมีแต่ประเด็นวิวาทะ และการโต้แย้งที่ออกรูปการอภิปรายเสียมากกว่าการแลกเปลี่ยน จนทำให้บรรยากาศไม่เอื้อต่อการลงลึกถึงรายละเอียด ที่ต่างฝ่ายควรได้พื้นที่สื่อสาร  

ยิ่งเมื่อมี ‘นักการเมือง’ กระโดดเข้าร่วมวงหารือ และกลายเป็นตัวละครสำคัญ การตั้งคำถามถึงกลไกที่แอบแฝงจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการผู้ออกมาคัดค้านการปลดล็อก  

Spacebar จึงชวน ‘ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง’ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย สนทนากันแบบเปิดอก ถึงข้อกังขาและมุมมองของนักดูนก ที่ค้านการแก้กฎหมายแบบหัวชนฝา ว่าจริงๆ แล้วมุมมองของด้านการอนุรักษ์ เขามองเรื่องนี้กันอย่างไร

Scholars-oppose-the-law-red-whiskered-bulbul-SPACEBAR-Photo07.jpg

ก่อนจะเข้าประเด็น ผมขอทำความเข้าใจหน่อย ว่า ‘นกปรอดหัวโขน’ คือนกอะไร และมันมีความสำคัญยังไงกับระบบนิเวศบ้าง

นกปรอดหัวโขนเป็นกลุ่มนกที่กินผลไม้ขนาดกลาง ทำหน้าที่เสมือน ‘นักปลูกป่า’ คอยกระจายเมล็ดพืชขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มไม้เบิกนํา พวกมันเป็นนกที่อยู่ปรับตัวได้ง่าย และมักจะพบได้ไม่ยากตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  ตะเข็บป่า พื้นที่เกษตรกรรม หรือเห็นอยู่บ่อยๆ ตามแถบชานเมือง  

ด้วยลักษณะการดำรงชีพ ที่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี จึงไม่แปลกใจ หากเราจะพบพวกมันบินตามเรือกสวนไร่นา หรือในพื้นที่โล่งยังไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์มากนัก เสมือนเป็นนกสามัญชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบเห็นได้ตามพื้นที่เกษตรกรรมใกล้ชายป่า

เมื่อคุณบอกว่ามันเป็นนกสามัญ ที่พบเห็นได้ทั่วไป แล้วอะไรคือสิ่งที่นักอนุรักษ์กังวล

จากสถิติที่นักดูนก และวิชาการด้านการอนุรักษ์ รวบรวมกันมาโดยตลอด เราพบว่า จำนวนประชากรนกที่หากินตามธรรมชาติ ในภาคเหนือและภาคอีสาน ยังมีตัวเลขที่ค่อนข้างชุกชุมอยู่ แม้รายงานจะไม่หนาแน่นเท่าก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังถือว่ามีมากอยู่ในธรรมชาติ แต่ภาคใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่นิยมเพาะเลี้ยงนกปรอดหัวโขนมากที่สุดในประเทศไทย (ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า นกกรงหัวจุก) ในทางตัวเลขเรากลับพบว่า จำนวนของพวกมันหายไปจากธรรมชาติแล้ว แทบจะเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

จะบอกว่านี้คือเหตุผลข้อสำคัญ ในการออกมาคัดค้านการ 'ปลดล็อก' ในทางกฎหมายใช่หรือไม่

จริงๆ นกปรอดเกือบทุกชนิด ถูกนำขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับจำนวนประชากร สำหรับตัวปรอดหัวโขนแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องถิ่นอาศัย เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ของมนุษย์ได้ดี แต่จำนวนตัวเลขที่หายไปอย่างน่าตกใจ ทำให้ภาควิชาการสันนิษฐานว่า มาจากปัญหาอื่น เช่น การดักจับ และการล่า เป็นต้น  

ส่วนประเด็นการเรียกร้องในลักษณะนี้ หากถามนักดูนกทุกคนก็ทราบ ว่าในรอบ 10 ปี เกิดปรากฏการณ์แบบนี้มาแล้วอย่างน้อย 4-5 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการเสนอลอยๆ แล้วตีตกไป แต่ครั้งนี้มีการทำประชาพิจารณ์ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของฝ่ายผู้สนับสนุน - ฝ่ายผู้คัดค้าน ที่ค่อนข้างจริงจัง เชื่อได้ว่า น่าจะมีการพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง  

แน่นอนนโยบายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ต้องมีรับการฟังเหตุผลให้รอบด้านก่อน ไม่ว่าจะข้อดีหรือข้อเสีย และโดยธรรมชาติผู้เสนอย่อมจะเห็นแต่ข้อดีของตัวเอง มันจึงจำเป็นที่จะต้องหาคนมาคัดค้าน เพื่อเป็นเสียงช่วยเตือนให้รอบคอบมากขึ้น นักวิชาการอาจไม่ได้ห้าม หรือให้ล้มโครงการไป แต่อย่างน้อยที่สุด ก็อยากจะนำเสนอข้อเท็จจริงในอีกมุมหนึ่ง เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมองนกเป็นศูนย์กลาง

นกหัวจุก.jpg

มีการตั้งคำถามว่า นักอนุรักษ์พยายามแสดงความเป็นเจ้าของธรรมชาติ และมองว่าความเห็นที่ออกมาเสมือนนั่งเทียนตามตำรา โดยไม่สนใจบริบทของชาวบ้านเลย

ผมอยากสร้างความเข้าใจใหม่ว่า นักวิชาการไม่ได้เป็นเจ้าของนก และ ‘นกปรอดหัวโขนไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง’ แต่เราคิดว่ามันเป็นสมบัติทางธรรมชาติของประเทศ และของชาวไทยทุกคน ถ้าเกิดนโยบายดำเนินไปอย่างผิดพลาด จนนกชนิดนี้สูญพันธุ์หายไปจากธรรมชาติ มันคือความหลากหลายเชิงระบบนิเวศที่หายไป ซึ่งไม่ใช่การง่ายที่จะย้อนกลับมาฟื้นฟู กระบวนการปลดออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงเป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกัน หากการปลดล็อกส่งผลกระทบกับธรรมชาติอย่างชัดเจน การจะนำกลับเข้ามาใหม่ก็ไม่ใช่ง่ายเช่นกัน

เกิดการเทียบเคียงกรณีของ ‘นกเขาชวา’ ที่ก่อนหน้านี้ได้รับการปลดล็อก และสามารถพบเห็นอย่างชุกชุมในธรรมชาติ หรือตามเมืองใหญ่ สำหรับ ‘นกปรอดหัวโขน’ ก็น่าจะมีทิศทางใกล้เคียงกันไม่ใช่หรือ ?

จริงๆ กระบวนการปลดนกเขาชวา มันมีข้อเท็จจริงที่อ้างอิงได้ ว่า ก่อนที่จะปลดล็อก นกมีจำนวนเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ในธรรมชาติ จนเราเข้าใจว่าไม่น่าห่วงเรื่องจำนวนประชากร และมาจากส่วนที่เลี้ยงด้วย อย่างตัวไหนลักษณะไม่ดีก็ปล่อย ซึ่งมาจากความนิยมที่ลดลงของหมู่ชาวใต้ 

ฉะนั้นการปลดล็อก เป็นผลมาจากจำนวนประชากรในธรรมชาติที่มีมากอยู่แล้ว ไม่ใช่ปลดแล้วทำให้ประชากรเยอะขึ้น คุณต้องเข้าใจด้วยว่าลำดับมันไม่เหมือนกัน อย่างนกปรอดหัวโขน มีประชากรในธรรมชาติคงที่หรืออาจจะลดลง บางส่วนก็สูญหายไปอย่างน่ากังวล มันคนละสภาพกับนกเขาชวา ซึ่งเรารู้แน่ๆ ว่าเรื่องจำนวนไม่มีอะไรน่าห่วง

กลุ่มผู้เลี้ยงมองว่า หากมีการเปิดตลาดเสรี จะช่วยลดการล่านกป่าลง เพราะผู้เลี้ยงไม่นิยม เอานกปรอดหัวโขนธรรมชาติมาแข่งขัน เนื่องจากไม่มีทักษะร้องเพลง และร่างกายไม่อำนวย เท่านกกรงหัวจุกที่ผ่านการเพาะเลี้ยงจากผู้เชี่ยวชาญ

เวลาเราพูดคุยกันบนเวทีรับฟังความคิดเห็นใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่ว่ากลุ่มผู้คัดค้านต้องการเห็นตัวเลขว่า จำนวนจะลดลงจริงๆ เท่าไหร่ หรือจะลดได้อย่างไร เพราะวันนี้ปรอดหัวโขนมันก็เหมือนปริศนาอะไรบางอย่าง บางคนบอกเพาะได้ บางคนบอกเพาะไม่ได้ ประชากรในกรงเลี้ยงมีมากน้อยเท่าไหร่ในป่ามีมากพอแค่ไหนที่จะปลดล็อกมัน ทุกอย่างยังคงเป็นคำถามอยู่ รวมถึงความนิยมว่าจริงๆ เขานิยมแบบไหนเราก็ไม่รู้ นี่ก็เป็นโลกของผู้เลี้ยง ซึ่งไม่เหมือนกับคนดูนก  

ฉะนั้นถามว่า จะทำให้นกป่าขายไม่ได้จริงหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ เพราะทุกวันนี้นกปรอดหัวโขน เพาะเลี้ยงจนมีจำนวนนกที่อยู่ในกรงเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เรากลับพบว่าประชากรทางภาคใต้ไม่ได้มีฟื้นตัวเลย และยังมีข่าวการจับกุมผู้ค้านกป่าอยู่เนืองๆ จนถึงปัจจุบันนี้ แม้จะมีการครอบครองและจัดการแข่งขันได้อย่างถูกกฎหมายก็ตาม มันไม่มีสัญญาณหรือข้อมูลที่ชี้ให้เห็นเลย ว่าแนวโน้มมันจะดีขึ้น

Scholars-oppose-the-law-red-whiskered-bulbul-SPACEBAR-Photo02.jpg

รู้สึกว่าความเห็นทั้งสองฝั่งดูเป็นเอกเทศมาก อาจไม่ได้มีการหารืออย่างเอาจริงเอาจังหรือเปล่า ยิ่งดูลักษณะที่เป็นไปในทางโต้เถียงข้อมูลกัน เหมือนไม่มีใครเปิดใจกับการหาทางออกร่วมกันเลย

จริงๆ เราเคยพยายามคุยหลายครั้ง บางท่านก็คุยได้จนเราได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง คุณรู้ไหมเราได้ข้อมูลจากคนที่ทำฟาร์มนกมาเยอะมาก แต่พออยู่ในบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา เราก็ต้องยอมรับว่า สภาพแวดล้อมมันไม่ชวนให้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลจริงๆ เรารู้สึกว่า เวทีที่จัดถูกตั้งธงมาแล้ว หรือมันเบี่ยงเบนไปทางใดทางหนึ่ง เห็นได้จากการขนพวกพ้องมาทำให้ทุกอย่างดูไม่เป็นมิตร กลายเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบลงรายละเอียดต้องสูญเสียไป  

อย่างที่บอกว่าเวลาเราคุยกันในเวทีรับฟังความเห็น พูดตัวเลขหรืออะไรมันพูดได้ แต่ว่ามันไม่มีข้อมูลอื่นมาเสริมเลย กรณีที่เขาระบุว่า ในภาคใต้มีนกปรอดหัวโขน 20 ล้านตัว บางคนบอกมีนกบินอยู่เต็มป่า หรือแม้แต่ทัศนะด้านเศรษฐกิจที่มองว่า นกกรงหัวจุกสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นพันล้าน ของพวกนี้ไม่มีข้อมูลยืนยันคำกล่าวทั้งสิ้น ทำให้ยังต้องคัดค้านเรื่องนี้อยู่ เพราะหลายอย่างมันไม่สามารถพิสูจน์ได้

ในมุมมองของคุณ การเข้ามาสู่กระบวนการของนักการเมือง โดยเฉพาะ ‘พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน’ รองประธานสภาคนที่ 2 รวมถึง สส.ภาคใต้หลายพรรคการเมือง แสดงให้เห็นถึงนัยอะไรที่ซ่อนอยู่หรือไม่

ผมคิดว่าภาคใต้กำลังจะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมือง เพราะพรรคการเมืองที่เคยลงหลักปักฐานอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานสูญเสียอำนาจไปหมดแล้ว ภาคใต้ตอนนี้จึงเป็นพื้นที่การเมืองใหม่ และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ สามารถเข้ามาจับจองทำฐานเสียง  

ฉะนั้นหลายๆ พรรคจึงพยายามหานโยบายที่ดึงดูดใจคนใต้ อันหนึ่งก็คือการนำนโยบายเรื่องนกปรอดหัวโขนมาจูงใจ เพื่อซื้อฐานเสียงตรงนี้

ผู้สื่อข่าวหลายคนที่เดินทางไปทำข่าว กิจกรรมประชาพิจารณ์ที่อาคารรัฐสภามองตรงกันว่า ในมิติความขัดแย้งระหว่างนักอนุรักษ์กับนักการเมือง มีความตึงเครียดอยู่ไม่ใช่น้อย 

อย่างที่บอกเราพยายามชี้แจงด้วยข้อมูล และสามารถอธิบายออกมาได้เป็นฉากๆ แต่หากคุณตัดจบด้วยคำว่า ไม่เชื่อนักวิชาการ เพราะมองเราเป็นหอคอยงาช้าง หรือว่าเป็นผู้ไม่หวังดีกับคนเลี้ยงนก มันก็ทำให้การพูดคุยระหว่างนักอนุรักษ์ กับกลุ่มเลี้ยงนกไม่มีประโยชน์และไม่มีสาระอะไรเลย  

ผมว่าจริงๆ มันต้องตั้งคำถามนะ ว่าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การปลดไม่ปลดมันเป็นงานของฝ่ายบริหาร ก็คือกรมอุทยานแห่งชาติฯ และคณะรัฐมนตรี หรือเปล่า ? และการที่ สส.ซึ่งอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ลงมาเป็นผู้นำในการชักจูง ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น มันเป็นการแทรกแซงงานฝ่ายบริหารหรือไม่ หากมีการพิจารณาดู อาจเกิดคำถามว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ในเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง ในส่วนข้าราชการประจำด้วยนะครับ

Scholars-oppose-the-law-red-whiskered-bulbul-SPACEBAR-Photo03.jpg

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อทุกฝ่ายต่างมองประเด็นอย่างสุดขั้ว กลุ่มหนึ่งอยากให้ปลดล็อกไปเลย อีกกลุ่มก็ค้านสุดตัว มันจะหาตรงกลางของเรื่องนี้ได้หรือไม่

คนพยายามจะมองเรื่องนี้ให้เป็น 0 กับ 1 ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เพราะในวงการคนดูนกอย่างเรา ก็ยอมรับกันมานานแล้ว เรื่องการเลี้ยงนกในกรงมันไม่สามารถห้ามได้ แต่สิ่งที่เราคาดหวังคือประชากรนกในกรงเพาะเลี้ยง กับประชากรในธรรมชาติ ต้องถูกแยกกันอย่างชัดเจน 

คุณอยากเลี้ยงนกก็ต้องไปซื้อจากฟาร์ม เหมือนนกแก้ว นกหงส์หยก โดยต้องไม่เปิดช่องทางอำนวยให้เกิดการล่า หรือเข้าไปยุ่งกับประชากรในป่า ซึ่งทุกวันนี้เราก็เห็น ว่ายังมีต่อนก (ดักจับนก) อยู่ ยิ่งพอลองเข้าไปในกลุ่มซื้อขายนกในเฟซบุ๊ก ตอนนี้เขาเตือนกันว่า ช่วงนี้อย่าเพิ่งโพสต์ภาพนกป่านะ เพราะมันจะเป็นหลักฐาน ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขากล่าวอ้างมาตลอด ว่าไม่มีการล่าแล้ว ดังนั้นเมื่อเรายังเห็นปัญหาต้องยันกันไปอย่างนี้ 

อีกมิติ เราลองถอยแล้วดูรอบๆ ให้กว้างขึ้น ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวนมาก ที่สามารถเลี้ยง - ครอบครองได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องปลดจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวก ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี หรือแม้กระทั่งพวกชะมด ที่ภายหลังมีการฟาร์มเพาะอย่างถูกต้อง ขอเพียงอย่างเดียวคือการไปขึ้นทะเบียน ไปขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้านกที่คุณเลี้ยงมีใบอนุญาตกำกับทุกอย่างก็ราบรื่น 

ซึ่งต้นเรื่องจริงๆ ถ้าอุปสรรคอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียน หรือการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็ต้องไปจี้หน่วยงานที่ดูแล อย่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือตำรวจเอา

มีการตั้งคำถามจากฝั่งผู้เพาะเลี้ยง ว่าทำไมการเพาะเลี้ยงในกรง อย่างอิสระ จึงเกิดขึ้นแค่กับรัฐ หรือกลุ่มนักอนุรักษ์เท่านั้นที่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่คุณกังวลเรื่อง ‘ภาวะเลือดชิด’

คือเวลาเราพูดถึงการเพาะเลี้ยง มันแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ อย่างแรกคือ การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ (Commercial captive breeding stock) อย่างที่สอง คือการเพาะเพื่อการอนุรักษ์ หรือที่เราเรียกกันว่าการอนุรักษ์นอกพื้นที่ (Ex situ breeding) 

แบบหลังจริงๆ มีความยากของมัน การเพาะต้องเก็บ Pedigree พันธุกรรมไว้ ว่าออกมาจากไหน มีแม่อยู่ไหน เพื่อป้องกันภาวะเลือดชิด และรักษาความสมบูรณ์ของพันธุกรรมของประชากร  

ฉะนั้นเวลาเราทำการเพาะเลี้ยงการอนุรักษ์ ประวัติและข้อมูลมีความสำคัญมาก มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลา อย่างตอนก่อนปล่อย ก็รายละเอียดลงลึกไปถึงการฆ่าเชื้อ และฝึกพฤติกรรมให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติ พอหลังปล่อยเราก็ต้องเก็บข้อมูลและติดตาม ว่าพวกมันอยู่รอดหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ส่วนใหญ่ภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เพราะมันไม่มีกำไรและต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล 

ซึ่งการเพาะเลี้ยงเชิงอนุรักษ์มัน ก็ไม่ได้สำเร็จง่ายๆ อย่างการเพาะแร้งในแคลิฟอร์เนียผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ก็หมดเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ ทุกวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จมากเท่าที่ควร มันแสดงให้เห็นถึงความยากในรูปแบบหนึ่ง  

ในขณะที่การเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า กระบวนการไม่ได้ซับซ้อน คุณอยากจะเพาะอะไรก็เพาะ แต่ต้องเป็นไปตามลักษณะที่พึงประสงค์ของตลาด ซึ่งอาจไม่ตรงกับลักษณะดั้งเดิมของประชากร  

เช่น การเพาะนกเผือก นกด่าง หรือเอาไปผสมกับนกปรอดคอลาย จนเกิดนกแฟนซี หรือนกที่มีเสียงร้องตามแบบฉบับที่เขาต้องการ เป็นต้น นกพวกนี้ไม่ใช่สัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หากถึงเวลามันล้นตลาดและมีการปล่อยคืนสู่ป่า ก็จะเกิดปัญหาด้านพันธุกรรม อย่าง ควายป่าในอเมริกาเหนือ ที่ถูกเพาะผสมกับควายบ้าน พอปล่อยกลับเข้าป่าเกือบทั้งหมดก็มีปัญหาด้านพันธุกรรม ส่งผลไปถึงระดับประชากร กรณีนกปรอดหัวโขนก็คล้ายคลึงกันครับ  

เพราะส่วนใหญ่เราเห็นเวลาเขาปล่อยนกปรอด โดยไม่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์ ไม่มีการกักโรค หรือไม่มีการฝึกพฤติกรรมให้หาอาหารได้เองในป่า ทุกอย่างมันก็ไร้ประโยชน์

Scholars-oppose-the-law-red-whiskered-bulbul-SPACEBAR-Photo01.jpg

การออกมาขัดขวางกระบวนการชาวบ้าน ทำให้กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกจำนวนมากวิจารณ์ ว่าเป็นการกีดขวางความเจริญและการพัฒนา ในฐานะนักวิชาการและคนดูนก จริงๆ แล้วพวกคุณมีแนวคิดอย่างไร เกี่ยวกับกระบวนการอนุรักษ์ ในวันที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์

สิ่งแวดล้อมในโลกมันย่ำแย่ลงต่อเนื่อง ผมขอย้ำการคัดค้านของนักวิชาการและนักอนุรักษ์มาจากความพยายามที่จะสื่อสาร ว่าเวลาเราจะทำอะไรที่มันกระทบกับระบบนิเวศ มันต้องทำด้วยความระมัดระวัง เปลี่ยนแล้วถ้ามันเกิดผลกระทบ มันยากที่จะเอากลับคืนมาได้ อย่างกรณีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการฝายกั้นน้ำ หรือกำแพงกั้นหาด ที่มันเสียแล้วเสียไปเลย  

ถ้าวันหนึ่งเราต้องประชากรนกปรอดหัวโขนหายไปจากธรรมชาติ แล้ววันหนึ่งเรากลับนึกเสียดายแต่แก้ไขอะไรไม่ได้ สุดท้ายมันจะเป็นความบอบช้ำที่มาจากเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองบางอย่างเท่านั้นเอง คิดว่าปัญหานี้มันคงแก้ไม่ได้ด้วยการปลด แต่ต้องแก้ให้ตรงจุด ถ้าปัญหาอยู่ที่กรมอุทยานฯ อยู่ที่ระบบการขอใบอนุญาต ก็อยากให้ทุกฝ่ายไปโฟกัสที่จุดนั้น

ท้ายที่สุด หากมองโฟกัสไปที่ตัวนก คุณอยากฝากแง่คิดอะไรให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ ถึงชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นกับปรอดหัวโขนหรือไม่

ผมอยากนำเสนอว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนกปรอดหัวโขนเป็นปัญหาภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่บ้านเรา แต่เป็นปัญหาระดับเอเชีย ทางวิชาการเราเรียกว่า Asian Songbirds Crisis เพราะในทวีปของเรา ปัญหาไม่ใช่เรื่องการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย แต่คือการหายไปของนกในธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งพวกมันถูกจับมาเลี้ยงเป็นนกร้องเพลงหมด ดังนั้นจึงขอย้ำว่า มันคือปัญหาในระดับภูมิภาค และกำลังเป็นที่กังวลของนักอนุรักษ์ระดับสากลด้วย 

เมื่อมองกลับมาในการเมืองไทย ขั้นตอนการปลดล็อก หรือการเพิ่มสัตว์ใดๆ เข้าไปในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง มันคือเป็นส่วนผสมระหว่างการเมืองกับวิชาการ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีหน้าที่ประสานความต้องการทางการเมือง กับข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง เพราะคุณคือหนึ่งในคนที่ถูกฝึกอบรมมาให้ทำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ  

ดังนั้นเราต้องพยายามบอกกับเจ้าหน้าที่ ว่าให้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ทำตามฝ่ายการเมืองทั้งหมด คุณต้องกล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้านำเสนอข้อมูลหักล้าง ในกรณีที่ไม่ถูกต้องด้วย

Scholars-oppose-the-law-red-whiskered-bulbul-SPACEBAR-Photo06.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์