งบประมาณ ‘กลาโหม’ ปี 67 วงเงิน 198,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,821 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.96 เป็นกระทรวงที่ขอจัดสรรงบประมาณมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง โดย ‘กลาโหม-เหล่าทัพ’ ได้ตั้งวอร์รูมร่วมกัน เพื่อเกาะติดการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 67 เพื่อส่งข้อมูลให้ ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ชี้แจงในสภาฯ
โดยงบจัดหายุทโธปกรณ์ปี 67 วงเงิน 30,063 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 524 ล้านบาท , กองทัพบก 10,046 ล้านบาท , กองทัพเรือ 9,166 ล้านบาท , กองทัพอากาศ 9,588 ล้านบาท , กองบัญชาการกองทัพไทย 741 ล้านบาท ทั้งนี้มียอดวงเงินรวมที่ก่อหนี้ผูกพันระยะยาว 57,816 ล้านบาท มากกว่าปี 66 ถึง 2.3 เท่า
การจัดทำงบประมาณปี 67 ทาง ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ได้ขอให้ ‘เหล่าทัพ’ ชะลอการจัดหา ‘ยุทโธปกรณ์’ ขนาดใหญ่ไปก่อน 1 ปี ทำให้งบประมาณปี 67 เหล่าทัพไม่มีรายการจัดหายุทโธปกรณ์ โดยปรับมาเป็นการ ‘ซ่อมบำรุง-อัปเกรด’ เพื่อยืดอายุการใช้งานแทน
เริ่มที่ ‘กองทัพบก’ ต้องตกขบวนการจัดหา ‘ฮ.แบล็กฮอว์ก’ 3 ลำ จากสหรัฐฯ ในรูปแบบโครงการความช่วยเหลือทางทหารระหว่าง ทบ.ไทย-สหรัฐฯ (Foreign Military Sales : FMS) เพราะทางสหรัฐฯ ขอให้ไทย ‘วางเงินมัดจำ’ ไว้ก่อน แต่งบปี 67 ล่าช้าจึงไม่ได้วางเงินมัดจำ จึงต้องนำงบไปซ่อมบำรุง ฮ. แทน

‘กองทัพอากาศ’ ได้ชะลอการจัดหา ‘เครื่องบินขับไล่’ ออกไปงบปี 68 แทน โดย ทอ. อยู่ระหว่างการทำแผนจัดหาทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่ทยอยปลดประจำการปี 71-75 ทำให้เหลือเพียงเครื่องบิน ‘กริพเพ่น’ เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ทอ. เคยทำเรื่องเสนอขอจัดซื้อเครื่องบิน F-35 จากสหรัฐฯ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติขายจากสหรัฐฯ
สำหรับงบปี 67 ‘กองทัพอากาศ’ ได้ปรับมาเป็นการอัปเกรดเครื่องบินลำเลียง C-130 , ปรับปรุงเครื่องบิน BT-67 ที่เป็นเครื่องบินดับไฟป่า , ซ่อมบำรุงเครื่องบินแอร์บัส A-340 และการจัดหาเรดาร์ปัองกันทางอากาศ ที่เกินอายุการใช้งานแล้ว



ส่วน ‘กองทัพเรือ’ ฝ่ากระแสคลื่นลม มีโครงการใหญ่ 1 โครงการ นั่นคือโครงการจัดหา ‘เรือฟริเกต’ สมรรถนะสูง 1 ลำ วงเงิน 17,000 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2567-71 ตามแผนงานที่ระบุไว้ใน ‘สมุดปกขาว ทร. ปี 66’ ซึ่งตามแผนของ ทร. จะต้องมี ‘เรือฟริเกต’ 8 ลำ ภายในปี 80 เพื่อให้เพียงพอในการปกป้องน่านน้ำ 2 ฝั่งทะเล ‘อ่าวไทย-ทะเลอันดามัน’
อัตรากำลังรบของ ทร. ในเวลานี้ ‘เรือฟริเกต’ เหลือเพียง 3 ลำ ได้แก่ รล.ภูมิพลอดุลยเดช รล.ตากสิน รล.นเรศวร ส่วน รล.กระบุรี รล.สายบุรี ระบบโซนาร์ใช้ไม่ได้ ทาง ทร. ปรับมาเป็น ‘เรือตรวจการไกลฝั่ง หรือ OPV’ แทน
ซึ่งเรือฟริเกตทั้ง 3 ลำ ต้องใช้ดูแลทั้ง 2 ฝั่งทะเล จึงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ที่ ทร. ปรับยุทธศาสตร์มาให้ความสำคัญมากขึ้น หลัง ทร. ประเมินสถานการณ์ในมหาสมุทรอินเดีย ที่พบหลายประเทศมี ‘กำลังทางเรือ’ ที่ใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีโครงการติดตั้งระบบอำนวยการรบ รล.ช้าง 950 ล้านบาท ซึ่ง รล.ช้าง ได้จัดหาจากจีน เพื่อเป็น ‘พี่เลี้ยงเรือดำน้ำ’ และโครงการปรับปรุงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ได้แก่ รล.ปัตตานี รล.นราธิวาส ที่อายุการใช้งานครบ 15 ปี หลังรับมอบจากจีน เมื่อปี 48

ทั้งหมดนี้เป็นแผนจัดหา ‘ยุทโธปกรณ์’ 3 เหล่าทัพ ปี 67 ที่ ‘กองทัพ’ รับนโยบายรัฐบาล ชะลอออกไป 1 ปี ดังนั้นจึงต้องจับตางบปี 68 ที่ ‘กองทัพ’ จะต้อง ‘ทวงคืน’ การจัดหายุทโธปกรณ์ ให้เป็นไปตามแผนคงอัตรากำลังรบ ท่ามกลางปัญหายุทโธปกรณ์ที่ทยอย ‘ปลดประจำการ’ จึงเป็น ‘แรงบีบ’ ทั้ง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ ในอนาคต