ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) วุฒิสภา ที่มี วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธาน กมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาวางกรอบแนวทาง รวมถึงการตั้งคณะอนุ กมธ.ฯ
โดยได้มีการหารือถึง 3 หัวข้อหลักในการศึกษา คือ สังคม, เศรษฐกิจ และกฎหมาย รวมถึงนิยามคำว่า “สถานบันเทิงครบวงจร” เนื่องจากมีการเสนอว่า อยากให้ใช้คำตรงๆ เพราะจะสามารถสื่อความหมายได้มากกว่า
ตลอดจนการเพิ่มคำว่า “การพนัน” ที่หมายรวมถึงการพนันทุกชนิด และการพนันออนไลน์ เข้าไปด้วย เช่น เสนอให้ใช้ “สถานบันเทิงครบวงจรที่มีบ่อนกาสิโน หรือการพนันทุกรูปแบบ รวมทั้งการพนันออนไลน์” ให้ใช้ชื่อ “สถานบันเทิงครบวงจรที่มีบ่อนกาสิโน” สั้นๆ แล้วจึงเติมรายละเอียดในบทนำเพิ่มแทน, ให้เขียนเพิ่มความหมายไว้ในนิยามศัพท์ ว่าจะหมายรวมถึงการพนันทุกรูปแบบ
ดังนั้น จึงใช้คำว่า “สถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนและพนันออนไลน์” ซึ่งสอดรับตามร่างกฎหมายของรัฐบาล และหากเกิดกรณีต้องมีการทำประชามติ จะได้ป้องกันการเกิดความสับสนในการตอบคำถาม
สำหรับการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมาย ในช่วงแรกมีการเสนอให้แยกออกมาเป็นอีกหนึ่งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อศึกษากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขายสุรานอกเวลา พระราชบัญญัติโรงแรม การจัดโซนนิ่ง รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายการพนันเดิม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้มีการแยก เนื่องจากกังวลว่าอาจทำให้ลดทอนความสำคัญเรื่องกาสิโนไป
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมในหมวดของผลกระทบทางด้านสังคมและกฎหมาย และอาจมีฝ่ายการเมืองที่คุมเสียงในสภา สามารถล้มกฎหมายของได้ แต่ไม่สามารถล้มรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
สุดท้าย ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการจำนวน 2 คณะ ดังนี้
- คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบทางสังคมและกฎหมายของการมีสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนและพนันออนไลน์ (รวมถึงสิ่งแวดล้อม การผังเมือง ประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และการทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77) ซึ่งมี นิพนธ์ เอกวานิช สว. เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ
- คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการมีสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนและพนันออนไลน์ ซึ่งมี สรชาติ วิชยสุวรรณพรหม สว. เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม ยังมีการยืนยันถึงเรื่องความเป็นกลาง ในทำนองว่า “อย่าพิจารณาโดยมีธงในใจ นำเสนอในภาพรวม เมื่อการศึกษาครบถ้วนรอบด้านแล้ว สว. ทั้งหมดจะได้นำมาชั่งตวงวัด และส่งไปยังรัฐบาล เพื่อให้เกิดการยอมรับ รวมถึงจะได้สามารถตอบกับประชาชนได้ ป้องกันการถูกถามกลับ ว่าถ้าไม่เอาแล้วจะมาศึกษากันทำไม”
ส่วนตามกรอบเวลาเดิม 180 วัน ที่ประชุมมีความเห็นว่า อยากให้เร่งรัดจัดทำร่างรายงานให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม เนื่องจากจะมีการเปิดสมัยประชุมในต้นเดือนกรกฎาคม จึงกังวลว่าทางรัฐบาลอาจจะเสนอกฎหมายเข้ามาก่อน
ภายหลังการประชุมฯ แล้วเสร็จ วีระพันธ์ กล่าวว่า “ยอมรับว่าข้อถกเถียงเรื่องการเพิ่มนิยามคำว่า ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ และมองว่าดีที่มีความเห็นหลากหลาย ดังนั้นจึงต้องล้างความเห็นส่วนตัวทั้งหมด ต้องเป็นกลางที่สุด เพื่อรับฟังความเห็นทุกด้าน” ตลอดจนการหารือเรื่องการทำประชาพิจารณ์ แต่ยังไม่มีการกำหนดว่า จะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
วีระพันธ์ เผยด้วยว่า “ในการประชุมครั้งหน้า กมธ.ฯ จะเชิญคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งผมอยากให้นายกฯ มาเอง ยืนยันว่าไม่ได้บังคับ เพียงแต่เชิญไปตามระเบียบ ส่วนนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้รัฐมนตรีท่านใดมาชี้แจงแทนก็ได้”
นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี เช่น ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ชวน หลีกภัย, เศรษฐา ทวีสิน, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อาทิ มีชัย ฤชุพันธุ์, อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นต้นด้วย