‘ก้าวไกล’ ปลุกประชาชนทบทวนฝีมือบริหาร ‘เพื่อไทย’

3 ม.ค. 2567 - 09:28

  • ‘ศิริกัญญา’ ฟาดงบฯ ปี 67 มีปัญหาเพียบ ปลุกประชาชนทบทวนฝีมือบริหาร ‘เพื่อไทย’

  • ข้องใจมีกระบวนการสมรู้ร่วมคิด หวังดึง ‘งบกลาง’ มาใช้ หลายนโยบายไม่ตั้งชดเชยเงินคงคลังไว้

sirikanya-asks-people-to-review-the-management-skills-of-the-Pheu-Thai-Party-SPACEBAR-Hero.jpg

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยบางช่วงบางตอนชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันมีเวลารื้องบฯ ปี 67 ถึง 2 รอบ แต่คงเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย เพราะมีแผนซ้อนแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของตนเองได้ง่าย

และยังมีมรดกของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่ไม่ยอมปฏิรูปงบประมาณ ทำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณของตนเองได้ไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะติดประเด็นรายจ่ายบุคลากร, ชำระหนี้ 4 หมื่นล้านบาท, เงินชดใช้เงินคงคลัง 1.1 แสนล้านบาท, งบผูกพัน 3.6 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นเป็นผู้ดาวน์ และรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ต้องผ่อนต่อ

ศิริกัญญา ชี้ให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณมีข้อผิดพลาดคือ เพื่อเงินชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ถูกนำมาใช้เพื่อจ่ายในส่วนของรายจ่ายบุคลากร เช่น เงินเดือน บุคลากร บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ในปี 67 พบว่ารัฐบาลปัจจุบัน กำลังจะทำผิดพลาดซ้ำรอย เช่น เงินบุคลากร ที่ควรตั้งไว้ 3.6 แสนล้านบาท กลับตั้งไว้ 3.3แสนล้านบาท เงินบำนาญ 6,000 ล้านบาท ที่ไม่ตั้งไว้ ซึ่งตนเองสงสัยในความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่

เคยถามกรมบัญชีกลาง ขอไปเพียงพอจะจ่าย แต่การจัดสรรไม่เพียงพอ ถือเป็นความตั้งใจที่ตั้งขาดเพื่อหาเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ซ้ำๆ โดยไม่ตั้งงบประมาณที่เพียงพอ ซอฟต์พาวเวอร์​ 5,000 ล้านบาท ไม่พบการตั้งไว้ คงต้องควักจากงบกลาง รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ไม่ตั้งชดเชยไว้ สงสัยต้องดึงจากงบกลาง ทั้งนี้ งบกลางตั้งไว้ 9.8 หมื่นล้านบาทท หากพิจารณาแล้วเชื่อว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งการตั้งงบขาด ไม่มั่นใจว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือไม่

ขณะที่การประมาณการรายได้ เชื่อว่าจะคาดการผิดพลาด และจัดเก็บไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะ เศรษฐา เคยระบุว่าจะไม่เก็บภาษีขายหุ้น ดังนั้น คำถามคือ รายได้จากส่วนดังกล่าวที่กำหนดไว้ 1.4 หมื่นล้านบาท จะหาจากที่ไหน​ ทั้งนี้ ตนเองไม่มีปัญหาสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้รัฐ ที่อาจจะหายไป 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลฝากความหวังไว้ที่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรผิดพลาด ดังนั้น ขอให้พูดความจริงกับสภาฯ และประชาชน

นอกจากนี้ หนี้สาธารณะมีประเด็นต้องกังวลคือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประมาณการจากกรอบการคลัง ซึ่งภาระดอกเบี้ย ต้องเบียดบังงบประมาณแต่ละปี และหนี้ที่จะเกิดขึ้นไม่รวมกับหนี้ดิจิทัลวอลเล็ต และหนี้ที่ยืมจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ 1 ล้านล้านบาท โดยเวลาที่รัฐบาลบริหารงานมา 3 เดือน ใช้เต็มเพดานแล้ว

ประเมินว่ารัฐบาลไม่เป็นมืออาชีพ จากที่เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นรัฐบาลที่หาเงินเป็น และมุ่งใช้กลไกนอกงบประมาณโดยไม่สนใจกับภาระทางการคลัง ซึ่งดิฉันมองว่า ประชาชนต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของพรรคเพื่อไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์