‘ปธ.สภาเอสเอ็มอี’ เข้าพบ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’

26 ม.ค. 2567 - 02:19

  • ‘ปธ.สภาเอสเอ็มอี’ เข้าพบ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ แลกเปลี่ยนข้อมูล-ปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

  • ตั้งโจทย์ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้าระบบภาษี

  • ยอมรับ การเข้ามาของนักธุรกิจจีน อาจทำให้วงการเอสเอ็มอีสั่นคลอน

sme-discuss-chaitawat-at-parliament-SPACEBAR-Hero.jpg

‘สุปรีย์ ทองเพชร’ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย พร้อมคณะ เข้าพบ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วย ‘สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่ห้องผู้นำฝ่ายค้าน รัฐสภา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย

sme-discuss-chaitawat-at-parliament-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘สุปรีย์’ กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งกรณีที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่นอกระบบภาษี 2 ล้าน 1 แสนกว่าราย ซึ่งเป็นปัญหาในทุกยุคสมัยของสภาเอสเอ็มอี และทำให้ในปัจจุบันตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 ล้าน 1 แสนรายกลับเข้ามาอยู่ในระบบ โดยสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยได้ไปเสนอข้อคิดเห็นต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เราน่าจะใส่นโยบายหรือกลยุทธ์ในการนำคนข้างนอกกลับเข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีความสุข ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาจะเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนว่า รัฐต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่สามารถช่วยเหลือได้เพียงผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ ยืนยันว่า เราพยายามจะพูดคุยเรื่องนี้กับทุกภาคส่วน เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

sme-discuss-chaitawat-at-parliament-SPACEBAR-Photo02.jpg

นอกจากนี้ ในการหารือของทั้งฝ่าย ยังได้พูดคุยถึงปัญหาการเข้ามาของธุรกิจคนจีน ที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยว่าจะล้มหายตายจากไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจากฐานเงินของจีนค่อยข้างสูง ก็จะมีกลุ่มของผู้ประกอบการจีนที่เริ่มใช้นอมินีไทยโดยให้มาเป็นเจ้าของโรงงาน โดยที่ผู้ประกอบการจีนมาแค่สร้างภาพ และนำสินค้าของตัวเองมาขาย แค่ทำเหมือนว่าเป็นของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของธุรกิจไทยเริ่มสั่นคลอน ขณะเดียวกัน แม้ผู้ประกอบการไทยจะเข้าโครงการของหน่วยงานภาครัฐ แต่ผู้ที่มาเป็นที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ซึ่งไม่เคยลงสนามจริง ไม่เคยทำธุรกิจจริง ดังนั้น จึงจะไม่ทราบสร้างของการทำธุรกิจจริงๆ ว่า ถ้าทำธุรกิจแล้วออกไปอยู่ประเทศอื่น ควรจะเป็นแบบใดจึงจะเหมาะสม

sme-discuss-chaitawat-at-parliament-SPACEBAR-Photo03.jpg

‘สุปรีย์’ ยังย้ำว่า นโยบายในระยะสั้น คือการฝึกอบรมผู้ประกอบการ เชื่อมต่อพันธมิตรกับทางจีน และสร้างองค์ความรู้ในการขายสินค้าออนไลน์ แต่ที่สำคัญคือในแต่ละจังหวัดควรมีอัตลักษณ์ และนำอัตลักษณ์นี้มาขายต่อเป็นแบรนด์จังหวัดให้ได้ นอกจากนี้ ยังต้องมีนโยบายระยะยาว เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความแข็งแรง สามารถต่อสู้ได้ในอนาคต ดังนั้นการรวมกลุ่มกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อรวมกลุ่มผู้ประกอบการได้ เราจะเริ่มได้ข้อมูล ใส่วิธีคิดทำแบรนด์ดิ้ง มีองค์ความรู้ เชื่อมต่อกลับเข้ามาในระบบ

sme-discuss-chaitawat-at-parliament-SPACEBAR-Photo06.jpg

ด้าน ‘ชัยธวัช’ ย้ำ รู้สึกยินดีที่ได้พบกันในครั้งนี้ หากมีอะไรที่ทางฝ่ายค้านสามารถช่วยผลักดันได้ ก็ยินดี ทั้งนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายในการปฏิบัติจริงได้อีกด้วย จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกัน

sme-discuss-chaitawat-at-parliament-SPACEBAR-Photo04.jpg

ขณะที่ ‘สิทธิพล’ ยืนยันว่า กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจฯ สามารถทำงานร่วมกับสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยได้ทันที อาทิ หากมีกฎหมายเกี่ยวกับเอสเอ็มอี ที่เป็นอุปสรรค ก็จะจะช่วยผลักดัน เพราะเป็นหน้าที่หลักของฝ่ายนิติบัญญัติ และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญอย่างมากคือ การคุกคามทางแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จำหน่ายสินค้า หรือ ร้านทุนจีนสีเทา ซึ่งน่าจะผลักดันได้ทันที จึงอยากชวนสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยมารวมกันแก้ปัญหาและเสนอแนะว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้ประโยชน์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์