กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีกับกรณีที่เฟซบุ๊ก ‘พรรคเพื่อไทย’ โพสต์แคมเปญในทำนอง “สส.ยอมรอ 180” พร้อมระบุ อย่าไปหลงคารม “อีแอบ” ที่ล็อกโหวตสองชั้น อดทนรอเพื่อให้คนไทยใช้สิทธิประชาธิปไตยสร้างอนาคตที่ดีกว่า
โดยโพสต์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเห็นชอบ 61 เสียง, ไม่เห็นชอบ 327 เสียง, งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง และมีผลให้ต้องยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ก่อน 180 วัน ถึงยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้
ซึ่งเสียง ‘เห็นชอบ’ เป็นของ ‘สส.พรรคภูมิใจไทย’ เพราะต้องการคงหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘แบบเสียงข้างมากสองชั้น’ ซึ่งถือว่าเป็นการโหวตสวนมติวิปรัฐบาลที่มีมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะต้องการให้การออกเสียงประชามติเป็น ‘แบบเสียงข้างมากปกติชั้นเดียว’
ในส่วนของ ทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย ในฐานะแกนนำพรรคภูมิใจไทย เมื่อถูกถามถึงกรณีที่การเมืองภาพใหญ่ ในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มโจมตีพรรคภูมิใจไทย เป็น ‘อีแอบ’ สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว เจ้าตัวก็ตอบทันทีว่า “ผมไม่ทราบ”
ส่วนเมื่อถามถึงแคมเปญที่พรรคเพื่อไทย ทำออกมาภายหลังจากที่พรรคภูมิใจไทย โหวตสวนในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ทรงศักดิ์ ก็ตอบว่า ผมไม่ได้เป็น สส. แต่มองว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกในสภาฯ ที่จะแสดงความคิดเห็น
ผมเป็นฝ่ายบริหาร ขอไม่ไปก้าวล่วงสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน แต่ในมุมมองของพรรคมองว่า พรรคก็ประกอบด้วยสมาชิก ถ้าไม่มีสมาชิก ก็เป็นพรรคการเมืองไม่ได้
ทรงศักดิ์ ทรงศรี
เมื่อถามว่า การเมืองภาพใหญ่ขณะนี้รอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลจะขยายออกอีกหรือไม่ ทรงศักดิ์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เป็นความคิดที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ทุกความเห็นก็ยังนึกถึงผลประโยชน์ของประชาชน
อย่างเรื่องความคิดเห็นที่เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่ บางฝ่ายก็บอกว่า การที่จะลงประชามติต้องใช้เสียงข้างมากของประชาชนทั้งประเทศก่อนจากนั้นค่อยใช้เสียงข้างมากจากผู้ที่มีสิทธิ์ จึงจะเป็นการรับรองกฎหมายได้ เพราะเสียงมาจากประชาชนจริงๆ
ทรงศักดิ์ ทรงศรี
เมื่อถามว่า ถึงขนาดที่ถึงขั้นด่าว่า “อีแอบ” ถือว่ารุนแรงหรือไม่ ทรงศักดิ์ บอกว่า “ผมไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ยินเลยจริงๆ”
ส่วนรอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลที่ดูเหมือนขยายขึ้นมาตั้งแต่เรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์, กฎหมายประชามติ และเขากระโดงนั้น ทรงศักดิ์ มองว่า เรื่องเขากระโดงไม่ใช่รอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นความเห็นที่มาจากศาล
เราในนามพรรคร่วมรัฐบาล ก็พยายามทำสิ่งที่กระทบต่อสิทธิ์ของประชาชนให้ชัดเจน ที่ของประชาชนก็เป็นที่ของประชาชน อะไรเป็นที่ของการรถไฟ ถ้ามีหลักฐาน มีกฎหมายที่ชัดเจนก็ให้ว่าไปตามนั้น ไม่ถือเป็นรอยร้าว เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดเจน
ทรงศักดิ์ ทรงศรี
‘มท.2’ ซัดลาก ‘เขากระโดง’ โยงการเมืองรุกสิทธิ์ชาวบ้าน
ส่วนการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์ ทรงศักดิ์ ชี้แจงว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนที่ประชาชนอาจสับสน ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด วันนี้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน ซึ่งวันนี้ก็เชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาด้วย เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงจากประชาชน และหน่วยราชการในพื้นที่ แต่การรถไฟฯ ก็ไม่ได้มา
จากการพบปะประชาชนก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟฯ เป็นที่ที่ประชาชนสามารถอยู่ได้ ผมดูข้อมูลที่ผู้ใหญ่บ้านแจ้งมาว่า อยู่ตั้งแต่ปี 2460 ก่อนที่จะมีการออกกฤษฎีกา สำรวจแนวเขตของการรถไฟ ซึ่งหากการรถไฟฯ ประสงค์ที่ดิน ก็ต้องออกกฎหมายพระราชบัญญัติกฤษฎีกา เพื่อจัดซื้อจัดหาที่ดินการรถไฟฯ ให้ชัดเจน
ทรงศักดิ์ ทรงศรี
เมื่อถามย้ำว่า การที่การรถไฟฯ ไม่เดินทางมาในวันนี้ จะเป็น “อีแอบ” ใช่หรือไม่ ทรงศักดิ์ กล่าวว่า “ไม่ทราบ, แต่เราได้มีการเชิญในเบื้องต้นแล้ว จริงๆ การรถไฟต้องมา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพิพาทกัน เพราะอย่างผมในฐานะกำกับดูแลกรมที่ดินยังต้องมา เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะการริดรอนสิทธิของทั้งสองฝ่าย”
ส่วนการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกมาขยับเช่นนี้มี “การเมือง” หนุนหรือไม่นั้น ทรงศักดิ์ ระบุยังยืนยันไม่ได้ว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลังหรือไม่
สังเกตดูว่าทุกครั้งที่ออกมา จะเป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนของการเมือง และเป็นที่ดินที่เกี่ยวข้องกับคนการเมือง ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็คงเป็นไปไม่ได้ คงจะเกี่ยวบ้างเล็กน้อย
ทรงศักดิ์ ทรงศรี
เมื่อถามถึงการหยิบยกการเมืองมารุกสิทธิ์ประชาชนมองอย่างไร ทรงศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะสิทธิ์ที่ทำมาวันนี้กระทบกับประชาชนไม่ใช่รายเดียว จึงต้อง ทำให้เกิดความชัดเจน และสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าเอกสารสิทธิ์ที่ได้มานั้นถูกต้อง
ติง ‘รฟท.’ ควรมาแจงปมข้อพิพาท-งัดหลักฐานโชว์ให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่ยึดแค่คำสั่งศาลฯ
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าเรื่องนี้เป็นการตีกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ทรงศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ เพราะทำกับประชาชนจำนวนมาก เพราะการได้มาซึ่งที่ดินของประชาชนในการครอบครองนั้นถูกต้องตามกฏหมายทุกประการ มาตามประมวลกฎหมายที่ดินทุกอย่าง
ถ้าการรถไฟฯ บอกว่าเป็นที่ของการรถไฟฯ ก็เป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน ที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์การได้มาซึ่งที่ดิน ตามกฎหมายของการรถไฟ และที่ทราบมา การรถไฟฯ ยังหาหลักฐานแผนที่ท้ายกฤษฎีกาไม่ได้เลย และเมื่อช่วงเช้า ผมได้ฟัง สส.ของพรรคประชาชน แผนที่ที่แสดงในศาลกับแผนที่ที่แสดงกันยาวๆ ไม่ค่อยตรงกัน
ผมพบข้อพิรุธจำนวนมาก ทั้งสัดส่วนและระยะ และความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินต่างจากทางรถไฟฯ กว่า 1 กิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่อื่นนั้นไม่มี และพื้นที่ทางแยก ผมมองว่าที่ไหนก็มีพระราชกฤษฎีกาหมด ดังนั้น พื้นที่ทางแยกเขากระโดงเป็นเพียงพื้นที่เดียวหรือที่ได้รับการยกเว้น ส่วนกรมที่ดินจะฟ้องร้องกลับหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของกรมที่ดิน แต่ผมในฐานะที่กำกับดูแลก็ได้กำชับอธิบดีว่า ต้องทำตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
ทรงศักดิ์ ทรงศรี
เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้กรมที่ดินและการรถไฟฯ เปิดโต๊ะพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจน ทรงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ได้รวบรวมพยานและหลักฐานทั้งหมดไว้แล้ว และอนาคตก็เป็นไปได้ เนื่องจากส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก จึงต้องมีการพูดคุยกันระหว่างสองฝ่าย
การรถไฟฯ เองต้องนำพยานหลักฐานมาให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ยึดเพียงว่าเป็นคำสั่งของศาลแล้วจะเป็นที่ของการรถไฟฯ