การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 เรียงตามรายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกมธ.ฯ กล่าวสรุปรายงานของคณะกมธ.ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ถึงวันที่ 13 มี.ค. ถือว่า ดำเนินการได้รวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 2 สัปดาห์ เป็นการพิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวม 737 หน่วยรับงบประมาณ โดยในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายฯ จำนวน 8 คณะ ได้ปรับลดงบประมาณลง 9,204 ล้านบาท
ภูมิธรรม กล่างต่อว่า นอกจากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐ รายการบุคลากรภาครัฐ จำนวน 191 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นเงินอุดหนุน สำหรับสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 43 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ตนเองและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยินดี และพร้อมที่จะชี้แจงข้อซักถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในแต่ละมาตราต่อไป
จากนั้น ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการที่สงวนความเห็น ในมาตรา 4 งบรวม ขออภิปรายปรับลดงบประมาณรวม 3 หมื่นล้านบาท ให้เหลือ 3.45 ล้านล้านบาท จาก 3.48 ล้านล้านบาท
ศิริกัญญา กล่าวว่า งบฯ 67 มีการอนุมัติไปพลางก่อนแล้วโดย โดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือที่สภาฯ สามารถพิจารณาได้จริงมีเพียง 1.68 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด หากล่าช้าก็ไม่ใช่เป็นเพราะสภาฯ พร้อมชี้ให้เห็นว่า การเบิกจ่ายงบล่าช้านั้น เป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบรายจ่ายลงทุนที่ผ่านไป 6 เดือนแล้ว แต่เบิกจ่ายเพียง 55% นอกจากนี้งบรายจ่ายประจำ ยังเบิกไปแค่ 79% ทั้งที่อยู่ในส่วนอนุมัติไปแล้ว
“ถ้ารัฐบาลจะขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้ เกือบ 6 เดือนเบิกรายจ่ายลงทุนไปได้แค่ 55% ก็ไม่สมควรที่จะนำงบไปใช้ทั้ง 3.48 ล้านล้านบาทค่ะ” ศิริกัญญา กล่าว
ศิริกัญญา ยังกล่าวต่อว่า รัฐบาลประมาณการรายได้ผิดพลาด เนื่องจากหลังจากการประมาณการแล้ว รัฐบาลได้ออกนโยบายที่กระทบกับรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่มีการเก็บภาษีการขายหุ้น งดการนำส่งรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดภาษีสรรพสามิต จำนวน 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบประมาณ
“ตอนทำงบประมาณ ปี 67 คาดการณ์ว่าจะโต 5% ต่อปี แต่ล่าสุดของสภาพัฒน์ที่ได้มีการประมาณการ GDP ของปี 67 น่าจะตกแค่ 4% ไม่รวมเงินเฟ้อ เท่ากับหายไปแล้ว 1% ดิฉันไปคำนวณมาแล้วรายได้ที่หายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น มันมีความเสี่ยงที่ประมาณการรายได้น่าจะสูงเกินความเป็นจริง” ศิริกัญญา กล่าว
ศิริกัญญา ระบุว่า เราสามารถที่จะกู้เต็มเพดานได้ 790,656 ล้านบาทเท่านั้น ปัญหาในวันนี้ มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย เท่ากับเราสามารถกู้เพิ่มได้อีกแค่ 97,656 ล้านบาท ไม่ถึงแสนล้านบาท
“ใครของบก่อนได้ก่อน มันไม่ควรจะต้องเกิดเหตุการณ์ที่ให้หน่วยงานไหนที่ทำ โครงการก่อนได้งบประมาณก่อน หน่วยงานไหนทำงบประมาณทีหลัง ได้งบประมาณทีหลังแบบนี้เกิดขึ้น ดิฉันคิดว่าเราต้องมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ ช่วยทำให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดลงและมีปัญหา” ศิริกัญญา กล่าว
ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า ในชั้นกรรมาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอตัดงบไม่จำเป็น เช่น งบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมดูงาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ และลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ตนงงอยู่ เนื่องจากหน่วยรับงบประมาณส่งคำขอเสร็จตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2567 แต่นายกรัฐมนตรีเพิ่งทราบว่าจะต้องตัดงบในส่วนนี้ แล้วมาสั่งการไว้วันที่ 3 มี.ค. 2567
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีจำนวน 41 มาตรา โดยมีกรรมาธิการสงวนความเห็นจำนวน 26 คน และมี สส.สงวนคำแปรญัตติ จำนวน 220 คน

ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานกมธ.งบฯ ปี 67 ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงงบประมาณไปพลางก่อนไม่ใช่อำนาจของสำนักงบฯ ฝ่ายเดียว แต่มีเรื่องของกลไกลตามข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการอนุมติเห็นชอบผ่านนายกฯ รวมกับสำนักงบฯ และเนื่องจากเวลาในการทำงบฯประจำปีไม่ทันจึงมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ในการใช้งบไปพลางก่อนจะมาตั้งโครงการใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการบรรจุในงบประมาณปีก่อนหน้าทำไม่ได้ งบประมาณไปพลางก่อนข้อดีคือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในปีก่อนหน้ามาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งนายกฯและผอ.สำนักงบฯสามารถกำหนดได้เฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขเท่านั้น เช่นงบประจำ เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น
จุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามาเราได้มีการอนุมัติแผนการคลังปี 68-71 โดยให้ความสำคัญของการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคบ้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท ลดลงปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 0.2 เปอร์เซนต์ของจีดีพี หากระยะต่อไปเราสามาถทำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างที่วางเป้าไว้ที่ 5 เปอร์เซนต์ ภาครัฐก็สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการคลังได้ทั้งด้านรายได้และหนี้สาธารณะ ก็สามารถบริหารได้เหมาะสมเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายการคลังในระยะยาวได้ และสามารถเดินหน้าทำงบประมาณสมดุลได้ในเวลาที่เหมาะสม
“ยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล วอลเล็ต หรือโครงการใดก็ตามยังจะเดินหน้า แต่ด้วยกรอบการพิจารณาของชั้นคณะกรรมการผู้ดำเนินการนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต เรายังยืนยันว่าอาจจะต้องมีความจำเป็นจะต้องกู้ผ่านพ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็คงจะมาผ่านการพิจารณาการให้ความเห็นของจากสมาชิกอีกครั้ง ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าแน่นอน” รมช.คลัง กล่าว
จากนั้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย ไม่มีการแก้ไขตามเสียงข้างมากของกมธ.