เรียกได้ว่า ‘รวดเร็วฉับไว’ ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ในคดีล้มล้างการปกครอง (7 ส.ค. 2567) ก็นำมาสู่การก่อกำเนิดของ ‘พรรคประชาชน’ โดยมีประมุขคนใหม่คือ ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’
สำหรับชื่อของ ‘รังใหม่’ อาจโดนใจใครหลายคน แต่ใครจะรู้ว่า ‘พรรคประชาชน’ คือชื่ออันเก่าแก่ที่วนเวียนอยู่ในการเมืองไทยมาแล้วหลายครั้งหลายหน
และหากเปรียบดั่ง ‘หนังซูเปอร์ฮีโร’ นี่คือเหล่า ‘ตัวแปร’ (Variant) ของ ‘พรรคประชาชน’ ในเส้นเวลาของจักรวาลการเมืองไทย ได้เลยทีเดียว
- พรรคประชาชน ก่อตั้ง 24 กันยายน 2490 โดยมี เลียง ไชยกาล เป็นหัวหน้าพรรค (แยกออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์) แต่มาถูกยุบพร้อมกับอีกหลายพรรค หลังการรัฐประหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ต่อมา ‘เลียง’ ได้กลับมาจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอีกในปี 2511 กระทั่งมาถูกยุบพรรคในปี 2514 ตามประกาศของของคณะปฏิวัติที่มี ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ เป็นหัวหน้าคณะ
- พรรคประชาชน จดทะเบียนจัดตั้ง 27 ธันวาคม 2499 โดยมี ‘สมภาษก์ อุทยางกูร’ เป็นหัวหน้าพรรค และถูกยุบพร้อมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ภายใต้การนำของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
- พรรครักไทย จดทะเบียนจัดตั้ง 20 เมษายน 2526 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคประชาชน (23 มิถุนายน 2530) กระทั่ง 10 มิถุนายน 2531 มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดย ‘เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนในการเลือกตั้งใหญ่ 24 กรกฎาคม 2531 พรรคประชาชนได้ สส. 19 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม ได้มีการประกาศยุบพรรค 19 มกราคม 2532 เพื่อไปรวมกับพรรครวมไทย พรรคกิจประชาคม และพรรคก้าวหน้า โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้ยุบพรรค ลงวันที่ 14 เมษายน 2532
- พรรคประชาชน จดทะเบียนจัดตั้ง 31 มีนาคม 2541 โดยมี ‘นัดดา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา’ เป็นหัวหน้าพรรค และถูกยุบพรรค 16 ตุลาคม 2544
จนมาถึงล่าสุด พรรคประชาชน - PEOPLE'S PARTY (ชื่อย่อ ปชช.-PP) ที่ก่อตั้ง 9 สิงหาคม 2567 หลังการล่มสลายของ ‘พรรคก้าวไกล’
นับจากนี้คงต้องจับตาดูทุกย่างก้าวของรังใหม่แห่งนี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร? จะกล้า ‘ดันเพดาน’ อีกหรือไม่? ภายใต้ความน่าสนใจตรง ‘ความเหมือน’ อย่างน่าตกใจที่ว่า ‘พรรคประชาชน’ ในแต่ละยุคสมัย ล้วนประสบชะตากรรม ‘ถูกยุบ’ ทั้งสิ้น ไม่ต่างกับชะตากรรมของ ‘2 พรรคสีส้ม’ ที่ผ่านมา
