ยุทธวิธี ‘นักรบจิตวิทยา’ กระชับหัวใจ ‘นายสิบ’ ฐานเสียง ‘เพื่อไทย’

27 พ.ย. 2566 - 08:35

  • เปิดปฏิบัติการ ‘จิตวิทยา’ ของ ‘สุทิน’ มัดใจ ‘ลูกอีสาน’ ในกองทัพ เจาะกลุ่มเป้าหมาย ‘นายสิบ’ ฐานเสียง ‘เพื่อไทย’

  • ใช้ความเป็น ‘ครูทิน’ อยู่ในแวดวงการศึกษามา 17 ปี ปรับใช้กับงาน ‘กลาโหม’ หลังอกหักจาก รมว.ศึกษาธิการ

Sutin-Psychologist-Military-Sergeant-SPACEBAR-Hero.jpg

จาก ‘ครูทิน-สุทิน คลังแสง’ ที่เคยเป็นครูสอน นร. บกพร่องทางร่างกาย เช่น บกพร่องทางสายตา เด็กออทิสติก แขนขาพิการ ก่อนจะมาสอน นร. หูหนวก รวม 17 ปี ใน ‘แวดวงการศึกษา’ จากนั้นมาสอน นร. ปกติ ถวายความรู้พระหรือเป็นครูสอนพระ ก่อนจะมาทำงานวิจัย ที่ ม.มหาสารคาม และเข้าสู่เส้นทาง ‘นักการเมือง’ ลงสมัคร สส. ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย เป็น สส.บัญชีรายชื่อ ก่อนมาลง สส.มหาสารคาม ยุคพรรรพลังประชาชน 

ชื่อของ ‘สุทิน’ ในโผ ‘ครม.เศรษฐา 1’ ช่วงหนึ่งมีชื่อไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ แต่ดูเหมือนยังเป็น ‘ปมในใจ’ ของ ‘สุทิน’ ที่ชื่อกลับมาตกที่ รมว.กลาโหม แบบ ‘ตกกระไดพลอยโจน’ ชนิดที่เลือกเองไม่ได้ แต่ในใจของ ‘สุทิน’ ยังคงอยู่กับ ‘การศึกษา’ จึงนำมาปรับใช้กับ ‘กลาโหม’ ผ่านการพัฒนา ‘สถาบันการศึกษา’ ในกองทัพ หนึ่งในนั้น คือ ร.ร.นายสิบ ทบ. 

‘สุทิน’ มองว่า ในระดับ ‘นายสิบ’ ถ้ากองทัพมีจำนวนกำลังพลที่เหมาะสม เข้าสู้กระบวนการ ‘เรียน-ฝึก’ ที่ดี ให้มีคุณภาพ กองทัพก็จะแข็งแกร่ง รวมถึงกระบวนการฝึก ‘ทหารเกณฑ์’ ที่ทราบว่ามีปัญหาที่ต้องแก้ไขและเรื่องงบประมาณที่ต้องสนับสนุนในส่วนที่ขาด ก็เป็นแรงจูงใจให้ ‘พลทหาร’ ไปสมัครเป็น นร.นายสิบ มากขึ้น เพราะเด็กที่มาสมัครเป็น ‘ทหารเกณฑ์’ ก็อยากต่อ นร.นายสิบ ทางกองทัพก็เพิ่มโควต้าให้มากขึ้น เช่น ทบ. เปิดโควต้าให้ 80%   

“ส่วนในเรื่องงบประมาณ ต้องยอมรับความจริง อยากได้ของดี ก็ต้องลงทุน อยากไปสู่เป้าหมายก็ต้องจัดงบประมาณ ผมก็ต้องอธิบายให้สังคมและสภาฯเข้าใจ ถ้าไม่ลงทุน ก็ไม่ได้ของดี” สุทิน กล่าว 

“ผมภูมิใจ ผมไปดู นร.นายสิบ ทบ. จากการสัมผัสไม่นาน ผมดูว่าเป็นเด็กที่มีศักยภาพ ไปเทียบกับเยาวชนที่เตร็ดเตร่ตามบ้าน ต่างกันเยอะ ผมอยากเอาเด็กพวกนี้มาอยู่ในระบบ เพราะวันนี้เรามีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ เรื่องคุณภาพเด็ก ไม่เรียน ไม่เอาการเอางาน เสพยา เห็นจาก ร.ร.นายสิบ ทบ. มีความหวังว่าเยาวชนไทย ทุนมนุษย์ ยังพอมี ซึ่งทหารในค่ายทหาร หรือกระทรวงกลาโหม นอกจากกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผมว่ากระทรวงกลาโหม ทำได้เยอะ ไม่น้อยไปกว่ากระทรวงศึกษา” สุทิน กล่าว  

สำหรับ ‘กลาโหม’ งบประมาณปี 66 ‘กลาโหม’ได้งบประมาณ 1.97 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2% ของงบประมาณทั้งหมด มากเป็นอันดับ 4 รองจาก 3 ก.ศึกษาธิการ , ก.มหาดไทย , ก.คลัง ตามลำดับ โดย ทบ. ได้งบมากที่สุด 9.66 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 48.9%  

น่าสนใจว่า ‘งบรายจ่าย’ ของ ‘กลาโหม’ ใช้เงินไปในด้านบุคลากรเป็นสัดส่วนมากที่สุด เฉียด 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กองทัพบก 6 หมื่นล้านบาท กองทัพเรือ 2.15 หมื่นล้านบาท และ กองทัพอากาศ 1.42 หมื่นล้านบาท 

หากมองลึกเข้าไป นร.นายสิบ ทบ. ส่วนใหญ่เป็น ‘ลูกอีสาน’ เหมือนกับ ‘สุทิน’ ซึ่งคนกลุ่มนี้มาจาก ‘พื้นที่ฐานเสียง’ ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ดังนั้นการพัฒนาชีวิต นร.นายสิบ ทบ. และเติบโตให้ไปเป็น ‘ทหารนายสิบ’ ประจำการใน ทบ. ก็เป็นการ ‘ยกระดับคุณภาพชีวิต’ ของ ‘กำลังพล’ ไปถึงครอบครัวที่อยู่ในภูมิลำเนาต่างๆ อีกทั้งช่วงการเป็น นร.นายสิบ หากได้รับการดูแลที่ดี ก็จะเป็นที่พูดต่อกันใน ‘สังคมญาติ-ครอบครัว’ ในภูมิลำเนาไปด้วย 

การที่ ‘สุทิน’ ให้ความสำคัญของ นร.นายสิบ ทบ. ซึ่งตรงกับ ‘แผนปฏิรูปกองทัพ’ สอดรับการ ‘ยุทธศาสตร์การเมืองเพื่อไทย’ ไปพร้อมกัน ที่ ‘สุทิน’ ก็ทราบถึง ‘ฐานเสียงเพื่อไทย’ ว่าเป็นคนกลุ่มใด ซึ่ง ‘สุทิน’ มองว่าการ ‘ยกระดับชีวิต’ ของ นร.นายสิบ ก็จะช่วยแก้ปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ-ปัญหาสังคม’ ในพื้นที่ไปด้วย 

“ผมเชื่อว่านายสิบเป็นทหารข้อต่อ เป็นกำลังรบที่สมบูรณ์ มีความรู้เชิงวิชาการและการรบ พอสมควร และยังไปเป็นครูสอนรุ่นน้อง เป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ที่ดี เด็กนายสิบมาจากชาวบ้านที่ฐานะปานกลางไปถึงยากจน ส่วนลูกคนรวยก็ไปนายร้อย ถ้าท่านฝึกที่นี่ให้เก่ง ก็จะช่วยให้ชีวิตชุมชน และชาวบ้านดีขึ้น ได้อานิสงส์แก้ความเหลื่อมล้ำไปด้วย“ สุทิน กล่าวกับ นร.นายสิบ ทบ. รุ่น 27 จำนวน 1,500 นาย  

จึงเกิดภาพ ‘สุทิน’ ร่วมวงดนตรี นร.นายสิบ ทบ. ที่เป็น ‘ลูกอีสาน’ เหมือนกัน ร้องเพลง ‘ทบ.2 ลูกอีสาน’  เปรียบเป็น ‘ปฏิบัติการจิตวิทยา’ ที่ ‘สุทิน’ ใช้ในการ ‘มัดใจมวลชน’ ในการทำการเมือง มาปรับใช้กับงาน ‘การทหาร-กิจการพลเรือน’  

สำหรับ ‘สุทิน’ ได้ตั้งคณะรำวง ‘สวรรค์บ้านนา’ มาตั้งแต่ปี 58 พร้อมกับสร้างอาณาจักร ‘วิทยาลัยเทคโนโลยีเอเชียแปซิฟิก’ ที่ จ.มหาสารคาม และ ‘สุทิน’ ยังเปิดค่ายมวยชื่อ ‘คลังแสงสารคาม’ เพื่อยกระดับชีวิต-สร้างรายได้ ให้เยาวชนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนตัวตนของ ‘สุทิน’ ได้เป็นอย่างดี และเป็นภาพสะท้อน ‘โมเดล’ การพัฒนา-แก้ปัญหาสังคมในพื้นที่ด้วย 

ดังนั้นชีวิตของ ‘ครูทิน’ จึงอยู่กับ ‘เด็ก-เยาวชน’ มานาน เห็นถึง ‘ปัญหาในเยาวชน’ ที่แต่ละครอบครัวต้องเผชิญ การที่ ‘สุทิน’ แม้ต้องมาเป็น รมว.กลาโหม ไม่ได้เป็น รมว.ศึกษาธิการ ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ ‘สุทิน’ ก็พยายามปรับแผนงานให้ ‘สอดรับความถนัด’ ผ่านการพัฒนา ‘นายสิบ-ทหารเกณฑ์-กำลังพลระดับล่าง’ ที่เป็นฐานเสียงของ ‘เพื่อไทย’  

ตามที่ ‘ทักษิณ’ แบ่งไว้ชัดเจนว่า เลือก ‘เพื่อไทย’ มุ่งเน้นเรื่อง ‘เศรษฐกิจ-ปากท้อง-ประชาธิปไตยที่เหมาะสม’ หากเลือก ‘ก้าวไกล’ ก็จะเป็น ‘การเมืองเอ็กซ์ตรีม’ 

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ‘ฐานที่มั่นเพื่อไทย’ ที่ ‘ก้าวไกล’ ยังเจาะไม่ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์