หลังคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ใช้เวลาประชุมนานเกือบ 5 ชั่วโมง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ ได้ลงมาแถลงผลการประชุมเกี่ยวกับวาระการพิจารณา ผลการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ กรณีการพักรักษาตัวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้ลงโทษแพทย์ 3 ท่าน โดยเป็นการว่ากล่าวตักเตือน 1 ท่าน กรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน เกี่ยวกับเรื่องส่งตัวทักษิณ และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 ท่าน ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ความเป็นจริง โดยหลังจากนี้ทางแพทยสภาจะส่งเรื่องให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ แพทยสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับมติวันนี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เลี่ยงที่จะลงรายละเอียด โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น เพราะต้องรอ รมว.สาธารณสุข ให้ความเห็นก่อน แต่เบื้องต้นบอกได้ว่า จากข้อมูลที่แพทย์สภาได้มา ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนผู้ป่วยคนดังกล่าว มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้นจริง และเลี่ยงที่จะตอบว่าเป็นการป่วยทิพย์หรือไม่ โดยย้ำเพียงว่า ข้อมูลไม่ชัดเจนว่าเกิดภาวะวิกฤตจริง พร้อมพยายามชี้ให้เห็นว่า การพักใช้ใบประกอบวิชาชีพ ถือเป็นการลงโทษรุนแรงกับแพทย์ทุกท่าน
ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะชี้แจงอีกครั้ง หลัง รมว.สาธารณสุข ให้ความเห็นชอบแล้ว โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยืนยันว่า แพทยสภายึดความถูกต้อง และว่ากันตามพยานหลักฐาน ไม่ได้อิงกับปัจจัยภายนอก ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเป็นใคร ส่วนเรื่องนี้จะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า
“อย่าไปคิดแบบนั้น ผมคิดว่าแพทยสภามีศักดิ์ศรี แพทย์ทุกคนมีศักดิ์และศรีของตนเอง ในการที่จะดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมให้กับสังคม”
— ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถาม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เพิ่มเติมว่า การลงมติในวันนี้ประกอบด้วยแพทย์ท่านใดบ้าง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ตอบสั้นๆ เพียงว่า มีแพทย์หลายคน ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง
ส่วนในประชุมแพทยสภาวันนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ใช่หรือไม่นั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า “เป็นเสียงส่วนใหญ่มาก ๆ มาก” ก่อนขึ้นลิฟต์เพื่อเดินทางกลับ

สำหรับ กระบวนการพิจารณาคดีด้านจริยธรรมของแพทย์ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ระบุว่า หลังคณะกรรมการแพทยสภาโหวตลงมติแล้ว ทางแพทยสภาจะส่งเรื่องต่อไปยัง สภานายกพิเศษ แพทยสภา ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาโดยตำแหน่ง ให้พิจารณาว่าเห็นชอบหรือต้องการยับยั้งมติดดังกล่าว โดย ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
หาก รมว.สาธารณสุข เห็นชอบกับมติดังกล่าวจะนำไปสู่การออกคำสั่งของแพทยสภาในลำดับถัดไป แต่ถ้ามีความเห็นยับยั้ง ต้องให้คณะกรรมการแพทยสภา ประชุมเพื่อลงมติอีกครั้ง โดยต้องใช้เสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งคณะ
สำหรับคณะกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน มีทั้งหมด 71 คน เป็นโดยตำแหน่ง 36 คน และมาจากการเลือกตั้ง 35 คน
