‘การทูตไทย’ กลางไฟสงครามเหนือ ‘ดินแดนศักดิ์สิทธิ์’

10 ต.ค. 2566 - 17:22

  • อ่านท่าทีการทูตของ ‘รัฐบาลไทย’ ท่ามกลางไฟสงครามระหว่าง ‘อิสราเอล - ปาเลสไตน์’ ในมุมแห่งสันติภาพวิทยา ผ่านทรรศนะ ‘ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม’

Thailand-Political-Orientation-and-the-State-of-War-Israel-Palestine-SPACEBAR-Hero.jpg

นับตั้งแต่การเข้าโจมตี ‘อิสราเอล’ แบบสายฟ้าแลบของ ‘กลุ่มฮามาส’ กองกำลังติดอาวุธแห่ง ‘ปาเลสไตน์’ ที่รุกคืบจากฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัญหาก็ดูรุกลามเกินขอบเขต ‘ดินแดนแห่งพันธะสัญญา’ เมื่อสงครามทำให้เกิดการสูญเสีย และมีผู้บริสุทธิ์ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันจำนวนมาก  

หนึ่งในนั้นมี ‘คนไทย’ จำนวนนับ 10 ชีวิต ที่ต้องเสียชีวิตและจำนวนกว่า 11 คนถูกจับตัวไปเป็น ‘ตัวประกัน’ ท่ามกลางการปะทะของสองชาติอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะยิ่งมองบรรยากาศความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง ก็ยิ่งทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังต้องพลอยกังวล ถึงสวัสดิภาพคนแดนไกลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าเหตุการณ์เป็นไปอย่างตึงเครียด จึงไม่แปลกที่ ‘ประเทศไทย’ ต้องแสดงความห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแถบอาหรับ แต่กระนั้นก็ยังเกิดข้อวิจารณ์จากหลายฝ่ายกรณี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง แสดงความเห็นในลักษณะประฌามกลุ่มติดอาวุธ ผ่านโลกโซเชียล ส่งผลให้อุณหภูมิดูสูงขึ้น โดยเฉพาะกับสายตาของคนไทย ที่แม้จะอยู่ห่างจุดเกิดเหตุนับพันกิโลฯ ต้องร้อนรน เยี่ยงผจญกลางไฟสงคราม  

โดยเฉพาะความเห็นจากนักวิชาการด้านอาหรับศึกษา และกลุ่มนักการทูต ที่ออกมาแสดงทรรศนะ ทำนองติติง ‘เสี่ยนิด’ ด่วนตัดสินข้อพิพาท อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งลำบากในการคลี่ปม หนึ่งในนั้นคือ ‘ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม’ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกมุสลิม ที่ตระเวนให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ด้วยความกังวลท่าทีของรัฐไทย 

ข้าพเจ้ายกหูสอบถามอาจารย์จรัญ ด้วยความใคร่กระหายข้อมูล ที่เชื่อว่า จะสามารถกระตุกท่าทีบางอย่างให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ปลายสายให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ท่าทีของรัฐบาลไทยในช่วงแรก แลดูรีบด่วนในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการแสดงทรรศนะของนายกฯ ที่ด่วนประฌามการกระทำของกลุ่มฮามาส ซึ่งสวนทางกับกระบวนการทางการทูตที่ควรจะเป็น ณ ขณะนี้ ด้วยหลัก ‘เป็นกลาง’  

เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีต้นสายปลายเหตุที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่าง 2 ฝ่าย (อิสราเอล - ปาเลสไตน์) และยิ่งมีคนไทยต้องติดบ่วงสงครามในฐานะตัวประกัน ท่ามกลางสถานภาพอย่างไม่ทราบชะตากรรม ท่าทีของประเทศไทย จึงควรจะตั้งเป้าไปที่วิธีการช่วยเหลือตัวประกัน ให้กลับสู่ภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยให้ได้เสียก่อน  

ยิ่งหากพิจารณาดู คนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ไม่ใช่ชาวอิสราเอล ถือว่าไม่ได้มีส่่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาท ทางกลุ่มมุสลิมคงไม่ได้ใช้เป็นเครื่องต่อรองทางสงคราม ทั้งนี้แม้เขา (กลุ่มติดอาวุธ) จะยึดหลักไม่สังหารตัวประกันอยู่แล้ว แต่เขาก็ยื่นคำขาดกับทางอิสราเอลเหมือนกัน กรณีหากยังคงใช้กำลังโดยไม่ให้โอกาสพลเมืองปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่พิพาทก่อนเริ่มยิง ก็อาจจะกระทำในสิ่งที่ไม่คาดไม่ถึงได้เหมือนกัน  

“หวังว่าตัวประกันคนไทยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกแยกแยะ แต่สำหรับประเทศไทยควรมีวิธีการเข้าไปช่วยเหลือโดยผ่านความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ด้วย และควรใช้กลไกในการเจรจาอย่างเช่น การติดต่อกับประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีทั้งกับไทยและปาเลสไตน์” 

จรัญ อธิบายว่า มีหลายประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 รัฐ (ไทย - ปาเลสไตน์) อาทิ มาเลเซีย อียิปต์ และจอร์แดน ซึ่งสามารถใช้กลไกของนักศึกษาในประเทศนั้นๆ หรือเครือข่ายประเทศมุสลิมในภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากหากคิดจะทำ ทั้งนี้ (อันที่จริง) ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ก็ถือว่าดีมาโดยตลอด  

ย้อนกลับไปในสมัยของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยก็ให้การรับรองความเป็น ‘ชาติ’ ของปาเลสไตน์ และที่ผ่านมาไทยกับโลกอาหรับก็เป็นความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด เนื่องจากประเทศไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ ในภูมิภาค  

อย่างไรก็ดี ยังเห็นภาพการปรับตัวของรัฐบาลไทย หลังภาควิชาการและนักสันติภาพวิทยา วิจารณ์ท่าทีที่แข็งกร้าว ซึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิลดลงมากขึ้น โดยเฉพาะกับกระทรวงการต่างประเทศเอง ก็เริ่มประชาสัมพันธ์เหตุการณ์กับญาติของคนไทยในอิสราเอลมากขึ้น แต่ในส่วนการช่วยเหลือ ต้องเป็นไปในเชิงรุก ตามกระบวนการดั่งที่กล่าวข้างต้น 

“ส่วนตัวผมมองว่า ณ ขณะนี้ เรา (ประเทศไทย) ก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับปาเลสไตน์อยู่ แม้ในช่วงแรกเราจะรีบด่วนแสดงความเห็นเร็วไปนิดหนึ่ง ในการวิจารณ์กลุ่มฮามาส ซึ่งช่วงหลังรัฐบาลก็มีการปรับตัว โดยการยืนยันว่าเราเป็นกลางต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ใครปรารถนาทั้งสิ้น แต่เราก็ต้องดูพื้นฐานด้วยว่าอะไรคือสาเหตุของกรณีพิพาที่เกิดขึ้น” ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม กล่าวทิ้งท้าย 

ขอรำลึกถึง และแสดงความเสียใจ ต่อครอบครัวที่ต้องพบกับความสูญเสีย และเป็นกำลังใจให้กับทุกท่า ไม่ว่าที่อยู่ต่างแดน หรือผู้เฝ้ารอการกลับบ้านเกิดอย่างปลอดภัย  

ขอให้รัฐทำการทูตอย่างมีสติ และเป็นไปตามครรลอง เพื่อนำมาสู่สันติภาพ และสวัสดิภาพของตัวประกัน 

และท้ายที่สุด ขอให้ดอกไม้งอกงาม กลางไฟสงครามโดยเร็ว...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์