‘ควันหลง’ ในการโหวตลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (วาระแรก) ยังไม่หมด โดยเฉพาะกรณี 3 สส.พรรคไทยสร้างไทย ได้แก่ สุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร, หรั่ง ธุรพล สส.อุดรธานี และ อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี ทำการ ‘แหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ไปโหวตเห็นชอบ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
ทำให้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ต้องออกมาขอโทษประธานวิปฝ่ายค้านและผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมระบุจะพิจารณาตัวเอง
กระทั่งมีรายงานว่า ฐากร ได้ส่งหนังสือถึงหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เรื่องขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ มีเนื้อหาระบุว่า
ข้าพเจ้านายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ขอแจ้งว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนระบุสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยสร้างไทย จำนวน 3 คน ลงคะแนน เสียงเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มกราคมนั้น เป็นการขัดกับมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ข้าพเจ้าในฐานะเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และสมาชิกสภาผู้แทนฯ บัญชีรายชื่อ ขอเรียนว่า ก่อนหน้าจะมีการลงคะแนนเสียง ข้าพเจ้าได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคทั้ง 5คนเข้าร่วมหารือที่ห้องประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อกำชับสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคทุกคนให้ลงคะแนนเสียงตามมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ “ลงคะแนนเสียงไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567” เป็นจำนวนถึง 3 ครั้ง
แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคไทยสร้างไทย 3 คน ลงคะแนน เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2567 ดังกล่าว ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่าเป็นการขัดกับมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงขอแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

‘อนุดิษฐ์’ ชม ‘ฐากร’ แสดงสปิริต ชี้ควรเอาแบบอย่าง เตรียมประชุมพรรคไทยสร้างไทย 9 มค.นี้ ทบทวนแนวทางป้องกันซ้ำรอย
กรณี ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ด้วยเหตุผลคุมเสียง สส.ในสภาฯ ไม่ได้นั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ชี้แจงว่า เรื่องที่ สส.ของเราโหวตสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราไม่นิ่งนอนใจ จะให้กรรมการจริยธรรมของพรรค ดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อสรุปส่งกรรมการบริหารพรรคต่อไป ในที่นี้ต้องขอโทษประชาชนต่อเรื่องดังกล่าวด้วย ส่วนการลาออกจากการเป็นเลขาธิการพรรคของฐากร ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถคุมเสียงของพรรคในสภาฯ ได้
เป็นการแสดงสปิริตของนักการเมืองที่ควรเอาแบบอย่าง เพราะเป็นการแสดงความรับผิดชอบโดยไม่มีใครเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเลขาธิการพรรค ลาออกเช่นนี้ วันที่ 9 ม.ค. ทางพรรคจะมีการประชุมผู้บริหารเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และพิจารณากำหนดแนวทางของพรรค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก รวมทั้งคงต้องรีบหารือกันว่า ควรจัดให้มีการประชุมวิสามัญ เพื่อเติมเต็มกรรมการบริหารพรรคให้เต็ม ตามข้อบังคับพรรค เพื่อการขับเคลื่อนพรรคต่อไปหรือไม่
