จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อ ‘ก้าวไกล’ จับปลาสองมือ

19 ก.ย. 2566 - 09:46

  • วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘จับปลาสองมือ’ ของ ‘พรรคก้าวไกล’ กรณีรักต้องเลือกระหว่าง ‘รองประธานสภาฯ’ และ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ผ่านมุมมองของ ‘รศ.ยุทธพร อิสรชัย’ ที่เห็นว่า ‘ทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ’ แต่ควร ‘เลือกแค่อย่างเดียว’

the-right-choice-move-forward-party-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อมาถึงจุดที่ชัดเจนแล้วว่า ‘พรรคก้าวไกล’ ต้องเดินหน้าทำการเมืองในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ ความวุ่นวายจึงบังเกิดอีกระลอก เพราะการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ส่งต่อเนื่องไปถึงสภาอันทรงเกียรติ

หลายคนเชื่อว่า การสละพังงาของ ‘หนุ่มทิม’ เป็นจังหวะเหมาะสมอย่างยิ่ง ตามกรอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประหนึ่งปลดเปลื้องพันธนาการข้อจำกัดส่วนตัวของ ‘พิธา’ ที่กำลังติดชนัก ในเรื่องคุณสมบัติ สส. ที่ยังคงรอการวินิจฉัยอยู่ เท่ากับที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ยัง ‘ลูกผีลูกคน’ และการที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในสภาหินอ่อนได้ ส่งผลให้ ‘เก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน’ จึงยังว่างเว้นอยู่

อันเนื่องมาจากเงื่อนไขสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ที่บัญญัติว่า พรรคที่จะรับตำแหนงผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ใช่พรรคที่มีจำนวน สส. มากที่สุด แต่ต้องเป็นพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี และต้องไม่เป็นประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ด้วย

แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ที่แม้จะเป็นพรรคที่มีจำนวน สส. มากที่สุด (ในฝ่ายค้าน) ถึง 151 คน มี ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ สส. พิษณุโลก ยังคงรั้งบัลลังก์ ‘รองประธานสภาผู้ที่ราษฎร ลำดับที่ 1’ อยู่ซึ่งตรงนี้ คือข้อจำกัดที่ ‘เครื่องจักรสีส้ม’ อาจต้องชวดตำแหน่ง ‘หัวเรือฝ่ายค้าน’ ไป

ที่ผ่านมาเหมือนก้าวไกล จะดูทำทรงไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่กลับผยองยืนยันว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะไม่หลุดต่อไปถึงพรรคฝ่ายค้านอันดับถัดไป อีกทั้งการ ‘ดื้อแพ่ง’ ของ ‘รองฯ อ๋อง’ ที่ยืนยันจะกอดเก้าอี้แน่น เพราะเชื่อว่าเป็นข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ จนมีกระแสข่าวการใช้กลยุทธ์ ‘ขับออกจากพรรค’ โดยจะให้ปดิพัทธ์เข้าสังกัด ‘พรรคเป็นธรรม’ ในลักษณะการ ‘ฝากเลี้ยง’ เพื่อให้ก้าวไกลไม่หลุดทั้ง 2 ตำแหน่ง เรื่องนี้จับใจความ จากคำให้สัมภาษณ์ของปดิพัทธ์ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ที่เปิดเผยแบบไม่ปฏิเสธกลางห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภาว่า

“ตอนนี้ยังไม่รู้มติ (พรรค) นะ ขอผมดูมติก่อน ซึ่งขอยืนยันว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคเท่านั้น แต่เราคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และการที่เราได้เสียงข้างมากในสภาฯ ด้วย ฉะนั้น ผมคิดว่าให้นำปัจจัยต่างๆ พวกนี้มาคิดรวมกัน แล้วมุ่งหน้าทำงานให้เต็มที่ และทุกอย่างจากนี้จะว่ากันหลังมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่”

แน่นอนว่า การแสดงออกของปดิพัทธ์ และพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายส่วน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าในเมื่อก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกล ชูประเด็นเรื่องการทำเมืองแบบตรงไหนตรงมา เหตุไฉนจะต้องใช้วรยุทธ์สับหลอก เลี่ยงบาลีเพื่อยึดกับตำแหน่ง บ้างบอกถึงขั้นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่อง ‘ศักดิ์ศรี’ ค้ำคอก้าวไกลอยู่

เฉกเช่นเดียวกันครับ ‘รศ.ยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ที่มองว่าพรรคก้าวไกล ‘ไม่ควรจับปลาสองมือ’ แต่ควรเลือกตำแหน่งสำคัญเพียงตำแหน่งเดียว

“ผมคิดว่ามีโอกาสที่เขา (พรรคก้าวไกล) จะได้ทั้ง 2 ตำแหน่งถ้าเขาใช้เทคนิคในการขับหมออ๋อง แต่การใช้เทคนิคก็จะเป็นผลต่อพรรคก้าวไกลในเรื่องความชอบธรรม และจำทำให้พรรคก้าวไกล ถูกตั้งคำถามในเรื่องของการทำการเมือง ที่มักจะบอกว่าต้องตรงไปตรงมา และก็เคยพูดไว้ว่าจะทำให้ที่ ไม่ใช่หน้าตา ทางดีต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรใช้เทคนิคทางการเมือง”

ยุทธพรขยายให้ฟังว่าทั้ง 2 ตำแหน่งล้วนมีจุดเด่น - จุดด้อยต่างกัน สำหรับตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 สำคัญคือ การมีอำนาจ ในการบริหารกิจกรรมในสภาผู้แทนราษฎร อาจมีบางส่วนไปเกี่ยวข้องกับรัฐสภาบ้าง ซึ่งสาเหตุที่ก้าวไกลยังพยายามรักษาไว้ เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่มีอยู่ เนื่องจากหมดสิทธิ์การเป็นรัฐบาลแล้ว

ในส่วนตำแหน่งของผู้นำฝ่ายค้าน มีจุดเด่นหรอข้อได้เปรียบ ตรงที่ภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกล ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘ผู้นำ’ ที่โดดเด่นในการตรวจสอบรัฐบาล อีกทั้งเพิ่มโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่ง กรรมการสรรหาองค์กรอิสระได้ด้วย 

แต่หากพิจารณาข้อด้อยของตำแหน่งดังกล่าว โดยการนำบริบททางการเมืองเข้ามา จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันฝ่ายค้านไม่มีความเป็นเอกภาพ อย่างกรณีของ ‘ประชาธิปัตย์’ ที่ดูเหมือนแยกกันทำงานกับก้าวไกล เห็นได้ชัดเจนตอนวันอภิปรานการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ฉะนั้นหากพรรคก้าวไกลเลือกที่จะทิ้งเก้าอี้รองประธานสภาฯ แล้วรั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน อาจไม่ได้ทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น อีกทั้งตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นในกลไกรัฐสภา เพราะ สส. มีสิทธิ์ทำได้ทุกอย่างทั้ง การยื่นญัตติ หรือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้นาฝ่ายค้านควบคูมทิศทาง

สิ่งที่ก้าวไกลควร ‘เลือก’ ในวันนี้

แม้ว่าผู้นำฝ่ายค้านอาจไม่ได้มีบทบาทที่สำคัญมากนัก แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ที่มีภาพลักษณ์อันโดดเด่นด้านการตรวจสอบปมทุจริต และเฝ้าจับตาความประพฤติมิชอบของรัฐบาลอย่างเข้มข้น ยุทธพร จึงเห็นว่า ควร ‘เลือก’ ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แล้วสละเก้าอี้รองประธานสภาฯ ทิ้งไปโดยยึดเหตุผล 2 ประการ

หนึ่ง ข้อจำกัดของ ‘พิธา’ ที่เห็นได้ว่าลาออกจากการเป็นหัวหน้าทัพ เนื่องจากปมการตรวจสอบ คดีหุ้นสื่อไอทีวี ก็ยังไม่รู้ทิศทางว่าจะถูกตัดสิทธิ์ไหม และการประวิงเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อรอคำวินิจฉัย อาจทำให้บทบาทของพรรคหายเงียบลงไป เพราะไม่สามารถทำอะไรในสภาฯ ได้มากนัก

สอง ปัจจัยที่เกิดจากยุทธศาสตร์ของพรรค ที่มองถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า (ปี 2570) ดังนั้น สมมติฐานเดิม ๆ ที่เคยเชื่อกันว่า ใครเป็นรัฐบาลจะได้เปรียบตอนเลือกตั้ง เพราะมีงบประมาณ และหน่วยงานราชการคอยพยุงเป็นลมใต้ปีก ในการสร้างผลงาน (ซึ่งก็จริง) แต่เมื่ออาจการเมืองร่วมสมัย จะเห็นได้ว่า จากการเลือกตั้งปี 2562 ในวันที่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ เริ่มตั้งไข่ทางการเมือง ในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ ที่มีบทบาทสำคัญในการพาพรรคก้าวไกล เอาชนะในศึกเลือกตั้งปี 2566 ด้วยคะแนนเสียงที่มาเป็นอันดับที่ 1 และมี สส. เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็น ‘ฝ่ายบริหาร’

“จำได้ไหมว่ารอบก่อนเขาก็ไม่เคยเป็นฝ่ายรัฐบาลเลยแม้แต่วินาทีเดียว แต่ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ในศึกเลือกตั้งปี 2566 ได้ ก็เพราะการทำหน้าที่อย่างเข้มข้น ในฐานะฝ่ายค้านนั้นเอง ตรงนี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคก้าวไกลควรรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อสร้างพื้นที่ในรัฐสภาแบบต่อเนื่อง ก่อนจะเข้าสู่ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะทุกอย่างเข้าสู่ระบบรัฐสภา เสียงข้างมากคือเรื่องสำคัญ ตำแหน่งรองประธานสภาฯ จะมีแค่เรื่องการจัดเตรียมวาระเท่านั้น แต่สิ่งตัดสินคือการใช้มติของสภาฯ อยู่แล้วเกือบทุกเรื่อง”

‘ฝ่ายค้าน’ กับเรื่องคาราคาซัง หาก ‘ก้าวไกล’ เหนี่ยวรั้งเก้าอี้ ‘รองประธานสภาฯ’

เมื่อถามว่า หากปดิพัทธ์ไม่ยอมสละบัลลังก์รองประธานสภาฯ แล้วผลสรุปเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านจะตกถึง ‘มือใคร’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัย อธิบายว่า เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาต่อเนื่องกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพราะจะต้องพิจารณาตามคุณสมบัติ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่ติดเรื่อง การดำรงตำแหน่ง ‘หัวหน้าพรรค’ทั้งสิ้น

หากไล่ลำดับดู จะพบว่าพรรคที่มีจำนวน สส. รองลงมาคือ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ยังไร้ซึ่งความแน่นอนว่า ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ จะได้กลับคือสู่หัวโขนเดิมหรือไม่ ถัดมาเป็น ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ที่ ‘สุดารัตน์ เกยุราพันธ์’ ก็ลาออกจากตำแหน่ง สส. ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขณะที่ ‘พรรคเป็นธรรม’ ที่มี สส. เพียง 1 คน คือ ‘กัณวีย์ สืบแสง’ ก็เป็นเพียง ‘เลขาธิการพรรค’ ไม่ใช่ ‘หัวหน้า’ ด้วย

จึงเป็นไปได้ว่าหาก ก้าวไกลยังเหนี่ยวรั้งตำแหน่งรองประธานสภาฯ อยู่ อาจไม่มีผู้นำฝ่ายค้านทำหน้าที่เลย ซึ่งไม่มีปัญหาใด ๆ กับกลไกรัฐสภา เพราะในอดีตก็มีหลายครั้งที่ตำแหน่งดังกล่าวถูกว่างเว้นไป ยิ่งหากย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ตำแหน่งดังกล่าวก็เคยถูกประดับไว้ เพราะอันที่จริงการทำหน้าที่ของ ‘วิปฝ่ายค้าน’ ซึ่งมี ‘ประธานวิป’ คอยขับเคลื่อนได้

ศึกครั้งนี้ ‘ต้องเลือก’ ในที่นี้ไม่ใช่แค่ตำแหน่ง แต่เป็น ‘คุณ’ และ ‘โทษ’ ในอนาคต เพราะท้ายที่สุดการเรื่องการเมือง ไม่ใช่แค่สิ่งที่ต้องโฟกัสแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ต้องมอง ‘ระยะยาว’ ว่าอะไรจะคุ้มค่ากว่ากัน

เหมือนที่ ‘สุธิดา ป้องพุดซา’ หยิบยกผ่านบทเพลง ‘สองรัก’ ในบทความ รักต้องเลือก? ‘รองประธานสภาฯ’ และ ‘ผู้นำฝ่ายค้านฯ’

ดังนั้น ต่อให้ได้ปลาสองตัว จะคืนทุนไหม ลองคิดดูเอา

‘ทำอย่างนี้ ที่สุดอาจไม่เหลือใคร’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์