วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก่อนการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ผ่านระบบสารบัญของสภาฯ แล้ว
ส่วนจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาช่วงใดนั้น ต้องรอการหารือกับประธานรัฐสภา ช่วงบ่ายวันนี้ (19 ก.พ.) อีกครั้ง ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ ประมาณ 4-5 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องด่วนที่รัฐสภาต้องอนุมัติให้แล้วเสร็จก่อน 9 มี.ค. ดังนั้น หากจะนำประเด็นแก้รัฐธรรมนูญรวถึงญัตติที่เสนอขึ้นมาพิจารณานั้น อาจต้องต่อท้ายเรื่องด่วนดังกล่าว
ผมเข้าใจว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ทันในการประชุมรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะมีเรื่องด่วนที่สำคัญต้องพิจารณาหลายเรื่อง ดังนั้น อาจจำเป็นต้องรอการพิจารณาในรอบถัดไป แต่จะเป็นเมื่อใดนั้น ต้องรอให้ประธานรัฐสภาพิจารณาบรรจุวาระอีกครั้ง
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในญัตติด่วนเรื่องขอรัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตติ ลงวันที่ 14 ก.พ.2568 ระบุอ้างอิงถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างฉบับใหม่ของร่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ซึ่งมีหลักการทำนองเดียวกัน
และประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เกิดความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกรัฐสภา เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากยังมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่า ประชาชนประสงค์ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จึงได้แสดงออกด้วยการประกาศไม่เข้าร่วมประชุมและมีการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งเห็นว่า รัฐสภามีหน้าที่ทำหน้าที่พิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเพิ่มเติมหมวด 15/1 เท่านั้น
ซึ่งภายหลังเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงไปดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ โดยทำพร้อมกับประชามติ ว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน ซึ่งฝ่ายนี้เห็นว่า เป็นการสอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
ดังนั้น เมื่อสมาชิกรัฐสภามีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในการพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในข้างต้น จึงทำให้รัฐสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำหน้าที่ และถือว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาดังกล่าว จึงเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่

