



นโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท’ ของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้กับหลายภาคส่วนในสังคม นั่นจึงเป็นที่มาของการเสวนาเวทีสภาที่ 3 หัวข้อ “แจกเงินดิจิทัลวอลเลต หายนะหรืออนาคตประเทศ” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันนี้
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หนึ่งในวิทยากรของงาน ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ 4 เรื่อง คือ
1. การสั่งให้มีการทบทวนงบประมาณปี 67 ของทุกส่วนงานราชการ เพื่อจะให้เกิดความประหยัด รีดไขมัน แต่ความจริง งบฯ ของแต่ละส่วนงานไม่ได้ลดลงเลย เพราะหน่วยงานเพียงแค่ขยับงบฯ ให้ตรงกับนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้งบปี 67 ออกมาล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะได้ใช้งบประมาณปี 67 ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
2. เชื่อมั่นตนเองมากเกินไป เมื่อชนะเลือกตั้งและเชื่อว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุด สั่งอะไรทุกอย่าง คนในประเทศต้องเชื่อหมด แต่จริงๆ แล้ว เป็นแค่ฝ่ายบริหาร เมื่อสั่งไปกระทรวงต่างๆ จึงไม่เชื่อ
3. ไม่ศึกษากฎหมายต่างๆ ให้รอบคอบ ทั้งวินัยการเงิน-การคลัง และ พ.ร.บ.เงินกู้, พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เมื่อจะดำเนินนโยบายก็ติดปัญหา แม้แต่ธนาคารออมสินก็ไม่ให้กู้
4. ภาวะอวิชชา คือการไม่รู้จริง แต่พูดในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ควรถอยมาตั้งหลักในนโยบายหลายเรื่อง
การแถลงข่าวที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้ คิดว่าทางออกเปลี่ยนไปหลายอย่าง คือขยับวันแจกจะไม่ใช่ 1 กุมภาพันธ์ แต่จะแจกช่วงต้นพฤษภาคม หรือช่วงงบฯ ปี 67 และเปลี่ยนจากการจ่ายก้อนเดียว เป็นการจ่ายแบบทยอยจ่าย โดยจะแจกคนละ 2,500 บาท ใน 4 ปี และจะไม่ใช่การกระตุกเศรษฐกิจแล้ว ไม่ใช่พายุหมุนอีกแล้ว ซึ่งประชาชนก็จะมองแค่ว่า ยังดีกว่าไม่ได้ แต่จะไม่สร้างความพึงพอใจ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตือนถึงโครงการนี้ ที่อาจกลายเป็นการแข่งขันกันในการเลือกตั้งรอบหน้า อย่างการประกาศแจกเงิน 5 หมื่น หรือ 1 แสนบาท ซึ่งถือเป็นประเพณีทางการเมืองที่จะพาประเทศลงเหว
พร้อมชี้ถึงเรื่องของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าว เช่น เงินรัฐวิสาหกิจ แต่ขณะนี้ธนาคารออมสิน ไม่สามารถให้กู้กับรัฐบาลได้ รัฐบาลจึงอาจเล็งไปที่รัฐวิสาหกิจอื่น แต่ต้องพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ที่มีเงื่อนไขล็อคไว้ หากเป็นการทำโครงการเพื่อความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่สามารถทำได้ พร้อมมองด้วยว่า นโยบายนี้จะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และตั้งข้อสังเกตว่า งบฯ ผูกพัน ถือเป็นการใส่กุญแจมือรัฐบาลในอนาคต
การทำโครงการทำเพื่อความนิยมทางการเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย นอกจากนี้การจะใช้ระบบบล็อกเชน การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ จะเกิดกระบวนการรับซื้อส่วนลดเป็นในลักษณะการขายสินค้าให้กับประชาชน 10,000 บาท และให้ประชาชนนำมาใช้คืนในราคา 8,000 บาท เป็นต้น

พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดันทุรังดำเนินการต่อในรูปแบบเดิม จะเกิดความเสี่ยงในกระบวนการคลัง และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะแก้ไขได้ยากมาก ขณะที่ประเทศไทยยังหารายได้จากการจัดเก็บภาษีได้ยาก ดังนั้น นโยบายดังกล่าวฟังเผินๆ เหมือนจะง่าย แต่ก็สร้างความงุนงงสงสัยเรื่องที่มาของงบประมาณ พร้อมมองด้วยว่า นโยบายนี้ไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจตามเป้าประสงค์ และจะยิ่งทำให้สถานะการคลังย่ำแย่ลงไปอีก
งบประมาณ 5 แสนกว่าล้าน จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่นั้น ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท มากกว่ารัฐบาลปัจจุบันถึง 3 เท่าตัว ยังทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เลย โอกาสที่จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบก็เป็นไปได้ยาก เพราะไทยมีมูลค่าส่งออกสูง เงินจะรั่วไหลไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเวลานี้รัฐบาลควรรีบนำงบประมาณชั่วคราวที่กฎหมายอนุญาตออกมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ควรต้องมุ่งการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่เร่งด่วนคือเรื่องขาดแคลนน้ำจากภาวะเอลนีโญ หากนำงบมาลงทุนเรื่องนี้ ประชาชนจะได้มีน้ำใช้โดยไม่เปลืองค่าใช้จ่าย
มานะ มหาสุวีระชัย อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร มองว่า สองเดือนที่ผ่านมา การชี้แจงของรัฐบาลสร้างความสับสนไปทั่ว พร้อมเสนอแนะรัฐบาลมอบหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สร้างสกุลเงินดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ขึ้นมาเป็นระบบการเงินแบบใหม่บนบล็อกเชน ให้สอดคล้องกับนโยบายเงินดิจิทัล เพื่อสร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกปลอดภัยกว่าระบบปัจจุบันได้อย่างมหาศาล เพราะลดค่าใช้จ่ายดำเนินการหลังบ้านของแต่ละธนาคารได้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ