‘หมอวรงค์’ ชี้เป้า 9 ข้อสงสัยปม ‘ชั้น 14’

3 พ.ค. 2568 - 05:41

  • ‘หมอวรงค์’ ชี้ 9 จุดน่าสงสัยปม ‘ชั้น 14’

  • ลั่นควรไต่สวนเพื่อเอา ‘ความจริง’ ออกมาให้ประชาชนทราบ

Warong-Dechgitvigrom-on-9-suspicious-points-regarding-issue-of-Thaksin-Floor-14-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเด็น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กับ ‘ชั้น 14 รพ.ตำรวจ’ ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวอดีตนายกฯ ไปรักษาตัวที่ ‘ชั้น 14’ ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ก็มีการพูดถึงและวิเคราะห์กันอย่างมากมาย

หนึ่งในนั้นมาจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ที่เผยผ่านโซเชียลมีเดียในหัวข้อ “ข้อสงสัยนักโทษชั้น 14” เนื้อหาระบุว่า  

ช่วงนี้จะเห็นข่าว พวกนักวิชาการ นักกฏหมายที่ปกป้องนักโทษชั้น14 พยายามออกมาสื่อสารกับประชาชนว่า การที่นักโทษไปป่วยอยู่ชั้น 14 นานถึง 6 เดือนนั้น ถือว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งถือว่าถูกคุมขังแล้ว

แต่ประเด็นที่ประชาชนสงสัย ประชาชนเขาสงสัยว่า ถ้าป่วยทำไมไม่รักษาตัวที่โรงพยายาลราชทัณฑ์ เพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพ ไม่แพ้ รพ.จังหวัดทั่วประเทศ ขีดความสามารถ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมี CT scan ที่ทันสมัยมาก

ถ้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่สามารถรักษาตัวนักโทษรายนี้ได้ แสดงว่าน่าจะป่วยวิกฤติ จึงต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ สิ่งที่ประชาชนสงสัย มีการช่วยเหลือเพื่อให้นักโทษ ไปนอนเล่นสบายๆ ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่ โดยใช้ข้ออ้างเจ็บป่วยหนัก เพราะ

1.ทำไมแพทย์เวรคืนนั้น ที่เป็นอายุรแพทย์ ถือว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรค ความดัน หัวใจขาดเลือด ไม่ไปดูแล แต่ปล่อยให้พยาบาลเวรโทรไปปรึกษา และปล่อยให้พยาบาลเวรเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้ส่งนักโทษต่อ รพ.ตำรวจ จึงเกิดข้อสงสัยว่าวางแผนกันไว้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

2.จริงหรือที่โรคเหล่านี้ที่อ้าง ทั้งหัวใจขาดเลือด ความดันสูง ปอดเรื้อรัง สันหลังเสื่อม ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง และมีประวัติการรักษามาแล้วจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับผู้สูงอายุ โรงพยายาลราชทัณฑ์จะรักษาไม่ได้ และต้องส่งต่อโรงพยาบาลตำรวจ เพราะเกรงอันตรายต่อชีวิต

3.การส่งต่อแบบฉุกเฉินว่า เกรงอันตรายต่อชีวิต ด้วยหลักทางการแพทย์นั้น ต้องใช้รถ ambulance ส่งต่อไป รพ.ตำรวจ แต่ตามข่าวทำไมใช้รถของราชทัณฑ์

4.ด้วยหลักทางการแพทย์ การส่งต่อแบบฉุกเฉินเวลาดึก และเกรงว่าเกิดอันตรายต่อชีวิต ทำไมไม่ส่งนักโทษผ่าน ER ก่อน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติจริง

5.ด้วยหลักทางการแพทย์ การป่วยที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะโรคหัวใจ หลังจากส่งมาถึง รพ.ตำรวจ ทำไมไม่ให้รักษาตัวที่ ICU หรือ CCU แต่ให้ไปนอนที่ชั้น 14 ซึ่งประชาชนรับรู้ว่านี่คือห้อง VVIP ซึ่งไม่ใช่สถานที่รักษาผู้ป่วยวิกฤติ

6.จากรายชื่อแพทย์ที่อ้างว่า เป็นแพทย์เจ้าของไข้ แพทย์ที่ทำการรักษา ที่ทาง ป.ป.ช.เรียกสอบ ล้วนเป็นทีมแพทย์ทางด้านศัลกรรมเช่น ศัลยกรรมประสาท ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ทำไมไม่ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเป็นผู้ดูแลหลัก

7.ด้วยหลักทางการแพทย์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการวิกฤติ การผ่าตัดเอ็น ด้วยการใช้กล้องที่หัวใหล่ จะไม่ทำกันในผู้ป่วยวิกฤติ รวมทั้งการทำ MRI

ที่ต้องถามต่อ หลังผ่าตัดทำไมจึงนำนักโทษไปพักที่ห้อง หลังผ่าตัดศัลยกรรมประสาท ไม่ไปพักที่ห้องหลังผ่าตัด ศัลกรรมกระดูก เอ็นและข้อ (orthopedics) หรือเกรงว่าคนอื่นจะเห็นว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติ

8.โรคอะไรที่ต้องรักษานานถึง 180 วัน อาการไม่ดีขึ้น ไม่สามารถย้ายตัวกลับมา รักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ แต่ครบ 180 ได้พักโทษอาการหายทันที หลักทางการแพทย์มีด้วยหรือ โรคประหลาดแบบนี้

9.นี่ยังไม่นับรวมข้อสงสัย ที่ป่วยวิกฤตินอนติดเตียง 180 วัน ทำไมแขนขาไม่ลีบลง เพราะผู้สูงอายุ เกิน 70 ปี นอนติดเตียง 1 ถึง 2 สัปดาห์ ล้วนสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ แขนขาจะลีบลง

จึงเกิดข้อสงสัยว่า แอบไปเดินเล่นที่อื่นหรือไม่ แขนขาจึงไม่ลีบ และที่แปลกใจมาก อาการป่วยวิกฤติ อันตรายต่อชีวิต ไม่มีข่าวว่า ครอบครัวไปนอนเฝ้าเลย

ความจริงยังมีอีกหลายประเด็นมาก ที่ควรไต่สวน เพื่อเอาความจริงออกมาให้ประชาชนทราบ ยกเว้นถ้าได้คำตอบว่า ไม่ได้ป่วยวิกฤติ แต่มีการช่วยเหลือ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่เรือนจำ ถ้าผลออกมาแบบนี้ ก็อธิบายข้อสงสัยได้หมด ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่ได้ติดคุก ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล นี่ยังไม่นับรวมการขอศาลตาม ป.วิอาญามาตรา 246

View post on Facebook

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์