ประเทศหมดตัวเลือก ? ‘วิษณุ’ เนติบริกร 9 นายกฯ สัมพันธ์ ‘จันทร์ส่องหล้า’

28 พ.ค. 2567 - 12:08

  • ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เรียกว่า ‘บุญคุณทดแทน’ ไม่มีวันจบ ระหว่าง ‘วิษณุ เครืองาม’ เนติบริกรแห่งยุค กับ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ที่กลับเข้าสู่ทำเนียบฯ อีกครั้ง นั่งเป็น ‘ที่ปรึกษา’ สำนักเลขาธิการ ครม. เพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย

  • งานนี้ถูกมองว่า ‘เพื่อไทย’ ขาด ‘มือกฎหมาย’ หรือที่มีอยู่ ‘มือไม่ถึง’ ? ต้องกลับไปพึ่ง ‘วิษณุ’ อีกครั้ง ผลงานสุดท้ายที่ฝากไว้คือเป็น ‘คนเดินเรื่อง’ ให้ ‘ทักษิณ’ ถึงขั้นตอนการขอ ‘อภัยโทษ’ ก่อนจะได้กลับไทยนั่นเอง

  • ย้อนกลับไปปี 2545 ‘พจมาน’ ได้ใช้วิชา ‘มธุรสพจนา’ ชวน ‘วิษณุ’ เข้าสู้เส้นทางการเมืองนั่ง ‘รองนายกฯ’ ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2534

  • ‘วิษณุ’ ทำงานมาแล้ว 8 นายกฯ 2 ขั้วการเมือง และกำลังจะ 9 นายกฯ ในการมาเป็น ‘มือกฎหมาย’ ให้กับ ‘รบ.เศรษฐา’ แต่ไม่คิดนั่งเป็น ‘รองนายกฯ’ ด้วยเป็นคน ‘จมูกไว’ มากกว่า ‘ปากไว’

Wissanu-Srettha-Thaksin-Potjaman-SPACEBAR-Hero.jpg

เรียกว่าไม่ใช่ ‘คนอื่นคนไกล’ สำหรับ ‘วิษณุ เครืองาม’ ที่ได้รับฉายาว่า ‘เนติบริกร’ แห่งยุค อยู่มาทุกยุคสมัยทางการเมือง เติบโตมาจากการเป็น ‘อาจารย์นิติศาสตร์’ ก่อนโอนย้ายมาเป็น ขรก. สังกัดสำนักนายกฯ เป็น ‘รองเลขาธิการ ครม.’ ในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เคยเป็นอดีตโฆษกรัฐบาล ยุครัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร จากนั้นเป็น ‘เลขาธิการ ครม.’ ตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยแรก มาจนถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตอนต้น จากนั้น ‘วิษณุ’ เดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเป็น ‘รองนายกฯ’ ยุครัฐบาลทักษิณ

สำหรับ ‘วิษณุ’ เรียกว่าอยู่กับการเมือง 2 ขั้ว หลังเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 2549’ มารับตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนั้นหลังรัฐประหาร 2557 ‘วิษณุ’ มาเป็น ‘มือกฎหมาย’ ในฐานะที่ปรึกษา คสช. แล้วมาเป็น ‘รองนายกฯ’ นักกฎหมายคู่บุญให้ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมแล้ว 9 ปี ก่อนจะโลว์โปร์ไฟล์ตัวเองไปตั้งแต่ ส.ค.66 หลังสิ้นสุด ‘รบ.ประยุทธ์’ ด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ชื่อของ ‘วิษณุ’ ยังคงปรากฏเป็นข่าวครั้งคราวอยู่บ้าง

ทั้งนี้ผลงานท้ายๆที่ ‘วิษณุ’ ทำไว้คือการ ‘เดินเรื่อง’ ให้ ‘ทักษิณ’ เกี่ยวกับขั้นตอนของ ‘อภัยโทษ’ ซึ่งในขณะนั้น ‘วิษณุ’ ทำหน้าที่รองนายกฯ ที่รักษาการแทน รมว.ยุติธรรม หลัง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลาออกจาก ‘พลังประชารัฐ’ ไปอยู่ ‘เพื่อไทย’

รวมแล้ว ‘วิษณุ เครืองาม’ ทำงานมากับ 8 นายกรัฐมนตรี และกำลังจะเพิ่มเป็น 9 นายกรัฐมนตรี เมื่อมาเป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมตรี ในยุค ‘รบ.เศรษฐา’ อย่างเป็นทางการ

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจหาก ‘วิษณุ’ จะถูกดึงมาช่วยงาน ‘รบ.เศรษฐา’ อีกครั้ง หลัง ‘เศรษฐา’ ไปเข้าพบ ‘วิษณุ’ ที่บ้านพัก เพื่อขอคำปรึกษากรณีการชี้แจงศาล รธน. ที่รับคำร้อง 40 สว. ถอดถอน ‘เศรษฐา’ ให้สิ้นสุดความเป็น ‘รัฐมนตรี’ หลังตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี ขัด รธน. หรือไม่ ผลพวงจากคดี ‘ถุงขนม 2 ล้านบาท’ ซึ่ง ‘วิษณุ’ เติบโตจามาจากสาย ‘กฤษฎีกา’ ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับรัฐบาล ซึ่งกรณีการแต่งตั้ง ‘พิชิต’ เป็นรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ ก็ได้ส่งให้ ‘กฤษฎีกา’ ตีความด้วย

เรียกว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘วิษณุ’ กับ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ยังทอดถึงกัน แม้ว่า ‘เศรษฐา’ จะแก้เกี้ยวว่ารู้จักกับ ‘วิษณุ’ เป็นการส่วนตัว แต่ก็ต้องยอมรับอ้อมๆ ว่า ‘หมอมิ้ง’นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ก็รู้จักเช่นกัน จุดนี้จึงสื่อโดยนัยว่า ‘หมอมิ้ง’ คือคนทอดสะพานนั่นเอง ซึ่ง ‘หมอมิ้ง’ เคยเป็นเลขาธิการนายกฯ ในยุค ‘รบ.ทักษิณ’ ที่มีรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ชื่อ ‘วิษณุ’ ในขณะนั้น 

ซึ่งในยุคที่ ‘ทักษิณ’ เป็นนายกฯ ขณะที่ ‘วิษณุ’ ยังเป็นเลขาธิการ ครม. ก็ต้องเข้า ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ไปจัดโผ ครม. เมื่อช่วงปี 2545 เป็นจุดเริ่มต้นที่ ‘ทักษิณ’ ชวน ‘วิษณุ’ มาทำงานการเมืองเต็มตัว ซึ่งในช่วงเวลานั้น ‘วิษณุ’ ก็ได้พบกับ ‘คุณหญิงอ้อ’พจมาน ดามาพงศ์ ที่มา ‘หว่านล้อม’ ให้ ‘วิษณุ’ มาทำงานการเมือง 

โดย ‘วิษณุ’ ได้เล่าในหนังสือ ‘โลกนี้คือละคร’ นิยามคำพูดของ ‘พจมาน’ ว่า ‘มธุรสพจมาน’ สุดท้าย ‘วิษณุ’ ก็รับตำแหน่งรองนายกฯ จากนั้นไม่นาน ‘วิษณุ’ ได้รับฉายากจากสื่อทำเนียบฯ ว่า ‘เนติบริกร’ นั่นเอง

เรียกว่า ‘วิษณุ’ เป็นสายตรงถึง ‘คุณหญิงอ้อ’ ที่ไม่ต้องผ่านใคร อีกทั้ง ‘พจมาน’ ก็คือคน ‘ดีลเอง’ ให้มาร่วมรัฐบาล ดังนั้นสายสัมพันธ์ชุดนี้ ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อคราวใดที่ ‘วิษณุ’ กล่าวถึง ‘พจมาน’ ก็จะชื่นชมเป็นหลัก บางครั้งชมว่าเก่งกว่า ‘ทักษิณ’ เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความเด็ดขาด-ละเอียด-รับฟัง-นิ่งเงียบ’ สมฉายะ ‘พญาเหยียบหิมะ’ ที่ไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้

สำหรับ ‘วิษณุ’ เรียกว่า ‘จมูกไว’ มากกว่า ‘ปากไว’ จึงครองตนมาได้นาน ความ ‘จมูกไว’ นี้ ทำให้ ‘วิษณุ’ เห็นถึงเค้าลางการเมืองได้แม่นยำ ย้อนไปเมื่อปี 2549 ‘วิษณุ’ ได้ลาออกจากตำแหน่ง รองนายกฯ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 2549’ เพียง 2 เดือน ก่อนไปรับตำแหน่ง สนช. ภายหลัง คมช. ยึดอำนาจทักษิณ

ล่าสุดในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ ‘วิษณุ’ เปรยว่าจะ ‘วางมือ’ ตั้งแต่ปลายปี 2565 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ 5 เดือน ที่สุดท้าย ‘ระบอบ 3ป.’ แพ้ราบ ต้องยอม ‘กลืนน้ำลาย’ มาตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ กับพรรคเพื่อไทย

สุดท้าย ‘วิษณุ’ จึงรับไว้เพียงตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการ ครม.’ ไม่คิดไกลมาถึงตำแหน่ง ‘รองนายกฯ’ แม้ปัจจัยสำคัญคือเรื่องสุขภาพที่ร่วงโรยตามวัย อยู่กับหลานวัยน่ารัก แต่ในมิติการเมืองคนอย่าง ‘วิษณุ’ ทราบดีว่า ควรตัดสินใจอย่างไร ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์